ขลู่
ขลู่ เป็นไม้พุ่มริมน้ำ ที่มักจะพบตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ตามริมห้วยหนอง ตามหาดทราย หรือด้านหลังป่าชายเลน เป็นพืชในวงศ์ทานตะวันที่ส่วนของดอกมีรสหอมฝาดเมาเค็ม นิยมนำส่วนของใบมาชงเป็นชาดื่มเพื่อลดน้ำหนักได้ ส่วนของยอดอ่อนมีรสมันจึงนำมาใช้กับเครื่องเคียงขนมจีนได้ ในวงการการแพทย์แผนไทยได้มีการทดลองนำใบมาต้มให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ในระยะเริ่มแรก เพื่อช่วยดูแลสุขภาพในระดับหนึ่งได้ เป็นต้นที่จุดเด่นอยู่ที่ส่วนของใบ ซึ่งใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้งจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง สามารถนำใบสดมาเคี้ยวช่วยลดกลิ่นปาก และยังอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยาสมุนไพรด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขลู่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (L.) Less.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Indian marsh fleabane”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ขลู่” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “เพี้ยฟาน” ภาคใต้เรียกว่า “ขลู คลู” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ขี้ป้าน” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “หนาดวัว หนาดงัว หนวดงั่ว หนวดงิ้ว” จีนกลางเรียกว่า “หลวนซี” แต้จิ๋วเรียกว่า “หล่วงไซ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
ชื่อพ้อง : Baccharis indica L., Conyza foliolosa Wall. ex DC., Conyza corymbosa Roxb., Conyza indica (L.) Blume ex DC.
ลักษณะของต้นขลู่
ขลู่ เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กที่ขึ้นเป็นกอ มักจะพบตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ตามริมห้วยหนอง ตามหาดทราย หรือด้านหลังป่าชายเลน
ลำต้น : แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นกลม เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเขียว มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบดินเค็มมีน้ำขังตามหนองน้ำ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดเล็กและมีกลิ่นฉุน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปวงรี ปลายใบแหลมหรือมีติ่งสั้น โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นซี่ฟันและแหลม มีขนขาวขึ้นปกคลุม เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ หลังใบและท้องใบเรียบเป็นมัน ค่อนข้างเกลี้ยง ไม่มีก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อฝอยสีขาวนวลหรือสีม่วง มักจะออกตามปลายยอดหรือตามง่ามใบ มีลักษณะกลมหลายช่อมารวมกัน ดอกมีลักษณะเป็นฝอยสีขาวนวลหรือสีขาวอมม่วง กลีบของดอกแบ่งออกเป็นวงนอกและวงใน ปลายจักเป็นซี่ฟันประมาณ 5 – 6 ซี่ ภายในมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก
ผล : เป็นผลแห้งไม่แตก มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกขนาดเล็ก ผลมีสันหรือเหลี่ยม 10 สัน มีรยางค์ไม่มาก มีสีขาว
เมล็ด : เมล็ดมีลักษณะเป็นฝอยเล็ก เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม
สรรพคุณของขลู่
- สรรพคุณ แก้โรคเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ สูญเสียเกลือแร่ในร่างกายน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน
- สรรพคุณจากใบสดแก่ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้กระษัย ช่วยรักษาไข้ ช่วยขับเหงื่อ เป็นยาสมานทั้งภายนอกและภายใน
- สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาอายุวัฒนะ
– ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก ด้วยการนำเปลือกต้นขูดเอาแต่ผิวมาขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง แล้วมวนเป็นยาสูบ
– ช่วยแก้โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัส ด้วยการนำเปลือกต้นมาสับเป็นชิ้นใช้มวนบุหรี่สูบ
– ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการนำเปลือกต้นขูดเอาขนออกให้สะอาดแล้วลอกเอาแต่เปลือก มาต้มรมริดสีดวงทวารหนัก - สรรพคุณจากใบ เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยรักษาเลือดลม น้ำคั้นจากใบช่วยรักษาโรคบิด เป็นยาขับปัสสาวะ
– ช่วยบำรุงประสาท เป็นยาบีบมดลูก แก้ผื่นคัน ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำอาบ
– ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยแก้ตานซางในเด็ก ช่วยแก้มุตกิดระดูขาวของสตรี ช่วยลดอาการบวมน้ำ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ด้วยการนำใบมาชงดื่มเป็นชา
– ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการนำใบสดมาตำบีบคั้นเอาแต่น้ำแล้วทาตรงหัวของริดสีดวงทวาร - สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาอายุวัฒนะ
- สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยรักษาโรคตานขโมย รักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ช่วยรักษาเลือดลม เป็นยาช่วยย่อย ช่วยแก้นิ่ว ช่วยแก้นิ่วในไต ช่วยรักษาประดง
– รักษาโรคเบาหวาน ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกินเป็นยา
– ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ รักษาอาการขัดเบา ด้วยการนำทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มเป็นยาก่อนอาหารครั้งละประมาณ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง
– ช่วยแก้ผื่นคันและรักษาโรคผิวหนัง ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบ - สรรพคุณจากราก แก้กระษัย
- สรรพคุณจากใบและราก ช่วยรักษาไข้ ช่วยขับเหงื่อ ช่วยล้างพิษ ช่วยแก้นิ่ว เป็นยาฝาดสมาน
– แก้แผลอักเสบ ด้วยการนำใบและรากสดมาตำพอก
– รักษาแผลเรื้อรัง ด้วยการนำใบและรากทำเป็นขี้ผึ้งใช้ทา
– ช่วยรักษาอาการเส้นตึง ด้วยการนำใบและรากมาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ทำการต้มกับน้ำอาบ - สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้นิ่ว
- สรรพคุณจากใบและต้นอ่อน ช่วยรักษาประดง ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ บรรเทาอาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ
– ช่วยรักษาหิด รักษาขี้เรื้อน ด้วยการนำใบและต้นอ่อนมาต้มกับน้ำอาบ
– ช่วยบรรเทาอาการปวดเอว ด้วยการนำใบและต้นอ่อนมาตำผสมกับแอลกอฮอล์ ใช้ทาหลังบริเวณเหนือไต
ประโยชน์ของขลู่
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนมีรสมัน จึงนำมาใช้ทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ลาบ หรือเป็นเครื่องเคียงขนมจีน ใบอ่อนนำไปลวกใช้ทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกและใส่ในแกงคั่วได้ ส่วนของดอกนำมายำร่วมกับเนื้อสัตว์ได้
2. ใช้ในด้านความหอม ใบสดแก่นำมาตำผสมกับเกลือใช้กินรักษากลิ่นปากและช่วยระงับกลิ่นตัว
คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบอ่อน
คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบอ่อนต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 42 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 9.4 กรัม |
โปรตีน | 1.8 กรัม |
ไขมัน | 0.5 กรัม |
น้ำ | 86.0 กรัม |
วิตามินเอ | 3,983 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.02 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 30 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 256 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 5.6 มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส | 49 มิลลิกรัม |
ขลู่ เป็นต้นที่มีส่วนของใบให้ความหอม และนิยมนำมาใช้ชงชาดื่มเพื่อลดน้ำหนัก เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยในด้านความงามแล้ว ยังช่วยในเรื่องของระบบในร่างกายได้อีกด้วย เป็นต้นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ยอดอ่อนจะมีรสมันจึงสามารถนำมาใช้ทานสดได้ สรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดน้ำหนัก แก้โรคเลือด ช่วยบำรุงประสาท รักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง แก้นิ่วในไต แก้ปัสสาวะพิการ บรรเทาอาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ ช่วยลดความดันโลหิต และลดอาการบวมน้ำได้ ถือว่าเป็นยาชั้นยอดอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการที่คนไทยมักจะเป็นกันบ่อย เพราะฉะนั้นแล้วขลู่เองก็คู่ควรแก่การนำมาใช้เป็นอย่างมาก
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขลู่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 93-94.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขลู่ (Khlu)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 59.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “ขลู่ Indian Marsh Fleabane”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 168.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ขลู่”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 120.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [12 ก.พ. 2014].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [12 ก.พ. 2014].
โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.lrp.ac.th. [12 ก.พ. 2014].
“ขลู่สมุนไพรดีริมทาง”. (จำรัส เซ็นนิล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [12 ก.พ. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ขลู่”. อ้างอิงใน: หนังสือยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน (มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ), หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [12 ก.พ. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ขลู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [12 ก.พ. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://identify.plantnet.org/malaysia/observations/1008415826
https://efloraofindia.com/2011/03/26/pulchea-indica/