สายน้ำผึ้ง
เป็นไม้เถาเลื้อย ดอกลักษณะเป็นหลอด ดอกสีขาว เกสรเป็นสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมหวาน ผลทรงกลมผิวเกลี้ยงสีดำ

สายน้ำผึ้ง

สายน้ำผึ้ง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น สามารถเจริญเติบโตได้ดีและมักพบขึ้นมากในป่าแถบภูเขา พื้นที่ที่มีดินร่วนซุยและความชื้นปานกลางเป็นสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต ชื่อสามัญ Woodbine, Honeysuckle, Lonicera, Japanese Honeysuckle[2],[3],[5] ชื่อวิทยาศาสตร์ Lonicera japonica Thunb. อยู่ในวงศ์ (CAPRIFOLIACEAE)[1],[2],[3] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ จินอิ๋นฮวา จินหยิงฮัว เหยิ่นตงเถิง ซวงฮัว (จีนกลาง), หยิ่มตังติ้ง กิมงิ่งฮวย (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[3],[4]

ลักษณะของสายน้ำผึ้ง

  • ต้น จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีอายุหลายปี เถาเป็นสีน้ำตาลมีลักษณะกลมยาวประมาณ 9 เมตร เนื้อในกลวง มีกิ่งก้านสาขาแตกออกมาเป็นทรงพุ่ม มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลปกคลุมตามกิ่งอ่อนอยู่ ใช้วิธีการปักชำ ตอนกิ่ง และเพาะเมล็ดในการขยายพันธุ์ [1],[2],[3],[4],[6]
  • ดอก เป็นดอกช่อ ช่อละ 2 ดอก ช่อมักจะออกตามปลายกิ่งและซอกใบ ดอกมีลักษณะเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร และมีส่วนปลายแยกเป็นรูปปากที่มีกลีบเปิดออกมา ดอกมีสีครีมที่โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปกรวยแหลมยาว โดยปลายแยกของกลีบดอกจะเป็นปากที่แบ่งออกเป็น 2 ปาก ซึ่งปากบนมี 4 กลีบและปากล่างมี 1 กลีบ มีใบประดับ 1 คู่คล้ายใบ โดยมีขนปกคลุมอยู่ที่กลีบดอกข้างนอก มีกลีบรองดอกที่ติดกันและปลายแยกของกลีบดอกจะมีรูปสามเหลี่ยม ดอกมีเกสรอยู่ 5 อันยื่นออกมาจากใจกลาง ดอกที่เริ่มบานจะมีสีขาว ต่อมาประมาณ 2-3 วัน ดอกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือสีเหลืองทอง ออกดอกได้ตลอดปี โดยจะมีจำนวนดอกที่มากขึ้นในช่วงฤดูฝน และมีกลิ่นหอมที่สุดในช่วงเย็นใกล้กับเวลามืดจนถึงก่อนที่แดดจะออกตอนเช้า[1],[2],[3],[6]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวที่ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปรี หรือรูปมนรี ใบมีความกว้าง 1-4 เซนติเมตรและความยาว 3-8.5 เซนติเมตร โคนใบตัดหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมมีหางสั้น ขอบใบเรียบ มีขนขึ้นปกคลุมเนื้อใบเล็กน้อย เนื้อใบอ่อนนุ่ม หลังใบมีสีเขียวเข้ม และท้องใบมีสีเทาอมเขียว ก้านใบยาว 4-10 มิลลิเมตร[1],[4]
  • ผล เป็นผลสดรูปทรงกลม ผิวเกลี้ยงเรียบเป็นมันเงา ขนาดราวๆ 6-7 มิลลิเมตร ผลสุกมีสีดำ[1],[2]

ประโยชน์ของสายน้ำผึ้ง

1. มีการใช้หัวน้ำมันดอกสายน้ำผึ้งในอุตสาหกรรมน้ำหอมหรือใช้ในทางสุคนธบำบัด(Aromatherapy) ซึ่งในปัจจุบันหาผลิตภัณฑ์ที่ใช้หัวน้ำมันดอกสายน้ำผึ้งแท้ 100% ได้ยากมาก ส่วนมากมักจะผสมขึ้นมาจากหัวน้ำมันดอกไม้ชนิดอื่นๆ และนำมาปรุงแต่งกลิ่นให้ได้ความหอมใกล้เคียงกับกลิ่นของดอก [10]
2. ด้วยรูปลักษณ์ของดอกที่มีความบอบบางและมีกลิ่นหอมหวาน ทำให้ดอกสายน้ำผึ้งเป็นแรงบันดาลใจของกวีและศิลปินจำนวนมาก อีกทั้งในทางตะวันตก เป็นสัญลักษณ์ของความรักความผูกพัน ความอ่อนหวานไร้เดียงสา และความสวยงาม เชื่อว่ากลิ่นหอม ช่วยขับไล่ความโศกเศร้าและความกลัวได้ ทำให้จิตใจร่าเริงเบิกบาน ทำให้รู้สึกเป็นสุข อบอุ่น และปลอดภัย[10]
3. สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ เพราะดอกมีกลิ่นที่หอมและออกดอกได้ตลอดทั้งปี[6]
4. Dr. Edward Bach แพทย์ชาวอังกฤษ เชื่อว่าคุณสมบัติเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจเช่น ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าเนื่องจากความคิดถึงอดีตและปฏิเสธการอยู่กับปัจจุบัน เป็นตัวช่วยในการปลอบประโลมจิตใจ ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลที่คงค้างในใจ และช่วยให้ผู้ใช้มีความสุขกับชีวิตในปัจจุบัน ตามความเชื่อของเขา พลังจากดอกไม้สามารถถ่ายทอดไปยังผู้ใช้และช่วยในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ [10]
5. นำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มและขนมหวานต่างๆ และช่อดอกสดจะใช้ในการแต่งหน้าขนมหวานหรือขนมเค้กเพื่อเพิ่มความสวยงาม[10]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • นำต้มจากดอก ช่วยในการยับยั้งเชื้อ Bacillus inuza, Staphelo coccus, Stepto coccus, เชื้อวัณโรค และเชื้อไทฟอยด์ในลำไส้ และพบว่าน้ำที่ใช้แช่ดอกจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อมากกว่าน้ำที่ต้มกับดอก [4]
  • ในดอกมีสาร Luteolin ที่ช่วยในการลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบด้วยการทดลองกับลำไส้เล็กของกระต่ายที่อยู่นอกร่างกาย แต่จะมีฤทธิ์อ่อนกว่า Papaverine และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อนด้วย Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 2,000 จะทำให้อัตราการเต้นและความแรงในการบีบตัวของหัวใจกบที่อยู่นอกร่างกายลดลงเล็กน้อย และทำให้ปริมาณของเลือดที่ฉีดออกมาในแต่ละครั้งลดลง
  • การทดลองใช้เถาสด 60 กรัม เติมน้ำ 1,000 มิลลิลิตร แล้วต้มให้เหลือ 400 มิลลิลิตร แบ่งดื่มเช้าและเย็นเป็นเวลา 15 นาที ในการรักษาผู้ป่วยตับอักเสบชนิดเอ 22 รายพบว่า ตับทำงานเป็นปกติ 12 ราย ตับทำงานดีขึ้น 6 ราย และไม่ดีขึ้นเลย 4 ราย[8]
  • พบสารเช่น Luteolin-7-rhamnoglucoside, Syringin, Loganin, Loincerin ในเถา[4] ส่วนในดอกพบสาร Luteolin, Inositol, Luteolin-7-rhamnoglucoside, Saponin, Lonicerin เป็นต้น และในใบพบสาร
    Luteolin-7-rhamnoglucoside และ Lonicerin ส่วนในผลมีสาร Cryptosanthin[5]
  • สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Bacillus subtilis และ Staphylococcus spp. ด้วยสาร Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 350,000 [8]
  • จากการทดลอง เมื่อกรอก Luteolin ให้กับหนูขาวอายุ 25-28 วันพบว่าทำให้ต่อมน้ำนมฝ่อ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมองได้[8] สาร Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 5,000 จะทำให้อัตราการเต้นและความแรงในการบีบตัวของหัวใจหนูตะเภาที่อยู่นอกร่างกายเพิ่มขึ้น
  • มีการนำมาใช้ทดลองรักษาอาการบิดไม่มีตัวและลำไส้อักเสบด้วยการใช้เถาสด 45 กรัม ต้มน้ำกินเช้าและเย็นวันละ 2 ครั้ง ขณะเดียวกันให้ใช้เถาสด 15 กรัม มาต้มกับน้ำสวนทวารวันละครั้ง รักษาเป็นช่วงๆ ช่วงละ 7 วัน ในการรักษาผู้ป่วยสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีจำนวน 167 ราย พบว่าเมื่อรักษาเพียงช่วงแรกมีอาการหายไป 131 ราย และไม่ได้ผล 36 ราย ไข้จะลดลงภายใน 2 วัน อุจจาระหายเหลวภายใน 4.5 วัน ไม่พบเชื้อบิดในอุจจาระภายใน 4.9 วัน และถ่ายเป็นปกติใน 5.6 วัน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสองที่เป็นบิดไม่มีตัวจำนวน 80 ราย พบว่ารักษาหายในช่วงแรกคิดเป็น 73.9% ถ่ายเป็นปกติภายใน 5.5 วัน อาการไข้ลดลงภายใน 1.5 วัน ไม่พบเชื้อบิดในอุจจาระภายใน 3.7 วัน และอุจจาระหายเหลวภายใน 4.6 วัน ส่วนอีกวิธีทดลอง คือใช้เถาสด 100 กรัมมาสับเป็นท่อนเล็กๆ เติมน้ำ 200 มิลลิลิตร แช่ไว้ในหม้อดินเคลือบไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง แล้วต้มด้วยไฟอ่อน 3 ชั่วโมง เติมน้ำ 100 มิลลิลิตร กรองเอาแต่น้ำมากินวันละ 1.6-2.4 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ให้ลดหรือเพิ่มขนาดของยาตามอาการ โดยเริ่มกิน 20 มิลลิลิตร ทุก ๆ 4 ชั่วโมง เมื่อดีขึ้นให้เปลี่ยนเป็นทุกๆ 6 ชั่วโมง เมื่ออาการท้องร่วงหายไป ให้กินต่อไปอีก 2 วัน
    พบว่าจากการรักษาผู้ป่วย 150 ราย เป็นลำไส้อักเสบ 90 ราย เป็นบิดไม่มีตัว 60 ราย พบว่าได้ผลดีมากกับผู้ป่วยจำนวน 146 คน และมี 4 รายไม่ได้ผล โดยเฉลี่ยอาการปวดท้องจะหายภายในเวลา 3 วัน อาการปวดมวนหายไปภายใน 2.5วัน อาการไข้และท้องร่วงจะลดลงภายใน 2 วัน อุจจาระเหลวจะหายไปภายใน 4.4 วัน และไม่พบว่ามีอาการข้างเคียง [8]
  • จากการทดลองนำน้ำที่ต้มหรือแช่กับดอก มาให้กระต่ายทดลองกิน พบว่าลำไส้มีการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้น้อยลง และทำให้คอเลสเตอรอลส่วนที่เหลือถูกขับถ่ายออก เนื่องจากน้ำต้มดอก กับคอเลสเตอรอลในลำไส้กระต่ายเกิดปฏิกิริยาการรวมตัวทางเคมี[4]

สรรพคุณของสายน้ำผึ้ง

1. จากตำราการแพทย์แผนจีนให้ข้อมูลว่า กิมหงึ่งฮวยหรือดอกสายน้ำผึ้ง มีรสอมหวานและเย็น ช่วยขับพิษ ถ่ายบิดเป็นมูกเลือด แก้แผลฝี แผลเปื่อย บวม แก้หวัดอันเกิดจากการกระทบลมร้อน มีฤทธิ์ผ่อนคลายและกระจายความร้อน และกิมหงึ่งฮวยถ่าน จะช่วยแก้อาการตกเลือดของสตรี แก้ถ่ายบิดเป็นมูกเลือด เลือดกำเดาไหล หรืออาเจียนเป็นเลือด โดยใช้ในขนาด 6-15 กรัม นำมาต้มเอาแต่น้ำมาดื่ม สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเย็นพร่องของม้ามและกระเพาะอาหารห้ามใช้สมุนไพรนี้(ดอก)[7]
2. เถา ใช้แก้อาการปวดเส้นปวดกระดูกได้(เถา)[4] ส่วนทั้งต้นมีสรรพคุณรักษาอาการปวดเมื่อยตามข้อ (ทั้งต้น)[5]
3. ดอก นำมาทำเป็นยาแก้ปวดบวม ฝีหนองอักเสบ(ดอก)[4]
4. ใช้ดอกในการรักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง เชื้อไวรัสบริเวณผิวหนัง พิษฝีหนอง(ดอกตูม)[4],[5]
5. สามารถช่วยในการขับพิษของโรคงูสวัดที่ตกค้างในร่างกายออกได้ คือมีอาการปวดแสบปวดร้อนและบวม โดยใช้ ดอก 10 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 30 กรัม, ข้าวเย็นใต้ 30 กรัม, ใบโด่ไม่รู้ล้ม 10 กรัม(แบบแห้งทั้งหมด) นำมาต้มในน้ำ 1 ลิตรจนเดือด ดื่มเช้าเย็นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว ให้ดื่มไปเรื่อยๆจนกว่าอาการจะหายดี(ดอก)[9]
6. ใช้ในการรักษาตับอักเสบชนิดเอ (เถาหรือใบ)[3] ทั้งต้นนำมารักษาตับอักเสบได้(ทั้งต้น)[5] และเถาใช้รักษาโรคติดเชื้อในตับ (เถา)[4]
7. ดอกใช้ทำเป็นยารักษาปากมดลูกอักเสบเป็นหนองได้ ด้วยการนำดอกแห้งมา 1,000 กรัม บดเป็นผงแล้วแช่ไว้กับเหล้าขาว 40 ดีกรี ปริมาณ 1,500 ซีซีทิ้งไว้ 2 วัน ต่อมาให้กรองเอาแต่เหล้ามา 400 ซีซี ทาบริเวณปากมดลูกติดต่อกัน 7-12 วัน (ดอก)[4]
8. มีการใช้เป็นยาขับปัสสาวะในตำราจีน โดยนำเถาสดนำมาต้มกับน้ำกิน(เถา,เถาหรือใบ)[2],[3]
ดอกและทั้งต้น สามารถใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้เช่นกัน (ดอก,ทั้งต้น)[1],[5]
9. ใช้เถาหรือดอกแห้ง 10-30 กรัม (หากเป็นเถาสดให้ใช้ 20-60 กรัม) มาต้มเคี่ยวกับน้ำให้ข้นแล้วกินจะช่วยแก้บิดมูกเลือด แก้บิดติดเชื้อถ่ายเป็นเลือดได้(เถา,ดอก,ทั้งต้น)[1],[3],[4]
10. ทั้งต้นมีสรรพคุณในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหาร(ทั้งต้น)[6],[9]
11. ดอกช่วยรักษาเต้านมอักเสบได้(ดอก)[4]
12. ใช้เป็นยารักษาแผลในปากได้(ดอก)
13. ต้น มีสรรพคุณช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบ(ต้น)[9]
14. นำใบหรือเถา หรือดอกแห้ง 30 กรัม(หากเป็นแบบสดให้ใช้ 90 กรัม) มาต้มกับน้ำกินบ่อย ๆ สามารถใช้เป็นยาแก้หวัด แก้คอแห้งได้(ใบหรือเถา,ดอก)[1],[3] และมีอีกวิธีคือให้ใช้ดอก15 กรัม, เก็งสุ่ย 6 กรัม, ใบไผ่เขียว 15 กรัม, โหล่วกิง 20 กรัม, เต่าซี่แห้ง 10 กรัม, กิ๊กแก้ 5 กรัม, เหลี่ยงเคี้ยว 15 กรัม, ชะเอม 3 กรัม, ใบสะระแหน่ 3 กรัม, หงู่ผั่งจี้ 5 กรัม ต้มรวมกับน้ำรับประทาน(ดอก)[4]
15. ใช้เถาเป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ รักษาไข้ที่เกิดจากการกระทบจากปัจจัยภายนอก ช่วยทะลวงลมปราณได้ โดยเถามีรสหวานชุ่ม เป็นยาสุขุม ที่มีฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ(เถา)[4]
16. ดอก ใช้เป็นยารักษาอาการความดันโลหิตสูงได้(ดอก)[1]
17. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้อายุยืนและมีความกระปรี้กระเปร่า โดยใช้ดอกสดหรือแห้ง นำมาชงดื่มแทนชา ดอกมีรสหวานเย็น(ดอก)[1]
18. มีสรรพคุณในการรักษาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ รักษาวัณโรคและอาการทางผิวหนังที่เกิดจากโรคซิฟิลิส รักษาผื่นคันจากการติดเชื้อได้ ก้านดอกถูกนำมาทำเป็นยาแก้อาการไขข้ออักเสบ และคางทูม ส่วนสารสกัดจากดอกสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ หากนำทั้งก้านและดอกมาผสมกันจะใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและโรคนิวมอเนียได้ด้วย
มีจากวิจัยในจีนพบว่า อาจมีสรรพคุณเป็นยารักษามะเร็งได้บางชนิดได้ เช่นมะเร็งทรวงอก[10]
19. ใช้ใบหรือเถา หรือดอกแห้งประมาณ 30 กรัม (หากสดให้ใช้ 90 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกินบ่อยๆ จะสามารถรักษาอาการปวดเมื่อยปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว และอาการปวดหลังได้(ดอก)[1],[3]
20. หากมีอาการเมาเห็ด สามารถนำกิ่งและใบอ่อนมาล้างให้สะอาดแล้วเคี้ยวให้ละเอียดกินเป็นยาได้(กิ่ง,ใบ)[8]
21. มีสรรพคุณในการรักษาฝีฝักบัว (เถาหรือใบ)[3]
22. ใช้เป็นยาในการรักษาแผลเปื่อย แผลฝีต่างๆ และโรคผิวหนังต่างๆได้ (เถาหรือใบ,ทั้งต้น)[1],[3],[5]
23. ใช้แก้โรคติดเชื้อบางชนิดได้(เถาหรือใบ)[3]
24. ดอกนำมาทำเป็นยารักษาไส้ติ่งอักเสบได้(ดอก)[4]
25. ทั้งต้นนำมาแก้ริดสีดวงทวารได้(ทั้งต้น)[1] และดอกก็สามารถใช้รักษาริดสีดวงในลำไส้ได้(ดอก)[4]
26. ดอกใช้ในการรักษาลำไส้ติดเชื้อ(ดอก)[4]
27. ใช้เป็นยาแก้อาการท้องร่วงได้ จากตำรายาแก้ท้องร่วงระบุไว้ว่า ให้ใช้เถาสด 100 กรัม มาสับเป็นท่อนเล็กๆ แช่ลงไปในหม้อเคลือบเติมน้ำ 200 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง จากนั้นให้ต้มด้วยไฟอ่อน 3 ชั่วโมงและเติมน้ำไปให้ได้ 100 มิลลิลิตร กรองเอาแต่น้ำมารับประทานวันละ 1.6-2.4 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ลดหรือเพิ่มขนาดยาตามอาการ โดยปกติแล้วทุกๆ 4 ชั่วโมงให้กิน 20 มิลลิลิตร แต่หากอาการดีขึ้นให้เปลี่ยนเป็นทุกๆ 6 ชั่วโมงแทน หลังจากอาการหายไปแล้วให้ทานต่อไปอีก 2 วัน(เถา)[5]จากการทดลองนำเถาสดนำมาต้มกับน้ำให้กับผู้ป่วยกินพบว่าช่วยในการแก้ท้องเสียได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้แก้อาการท้องร่วง แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด และลำไส้อักเสบได้อีกด้วย(เถา,เถาหรือใบ,ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5] ดอกตูมก็สามารถใช้เป็นยาแก้ลำไส้อักเสบ และอาการท้องเสียได้เช่นกัน(ดอก)[3],[4]
28. ทั้งต้น สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคลำไส้ได้ [5]
29. ดอก มีสรรพคุณเป็นยารักษาระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ (ดอก)[4]
30. ทั้งต้นใช้แก้ปากนกกระจอกได้(ทั้งต้น)[1]
31. สามารถนำมารักษาอาการเจ็บคอได้(ทั้งต้น)[1]
32. ดอก สามารถนำมาใช้ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ แก้พิษ มีไข้ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้หวัดใหญ่ ดอกมีรสชุ่มและขมเล็กน้อย มีฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะอาหาร เป็นยาเย็น(ดอก)[4]
33. มีสรรพคุณในการแก้อาการมึนเมา (ทั้งต้น)[1]
34. ช่วยทำให้เจริญอาหารได้ โดยการนำดอกมาคั้นรับประทาน(ดอกตูม)[1],[5]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สายน้ำผึ้ง (Sai Nam Phueng)”. หน้า 299.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สายน้ำผึ้ง Japanese Honey-suckle”. หน้า 134.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สายน้ําผึ้ง”. หน้า 781-782.
4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สายน้ำผึ้ง”. หน้า 554.
5. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สายน้ําผึ้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [11 มิ.ย. 2014].
6. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (นพพล เกตุประสาท). “สายน้ำผึ้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [11 มิ.ย. 2014].
7. สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “กิมหงึ่งฮวย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [11 มิ.ย. 2014].
8. ไทยเกษตรศาสตร์. “สมุนไพรสายน้ำผึ้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [11 มิ.ย. 2014].
9. ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “สายน้ำผึ้ง กับสูตรแก้ปวดจากงูสวัด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [11 มิ.ย. 2014].
10. Sangkae’s Blog. “สายน้ำผึ้ง…ดอกไม้แห่งความสดใสร่าเริง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: sangkae.wordpress.com. [11 มิ.ย. 2014].
11. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1.https://colplanta.org/
2.https://powo.science.kew.org/