โมกหลวง
โมกหลวง เป็นไม้ประดับที่ดอกมีกลิ่นหอม เนื้อไม้สีขาวใช้ทำของใช้ได้ เป็นพรรณไม้กลางแจ้งสามารถทนต่อแสงแดดได้ พบเจอได้ที่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังทั่วไป ป่าดิบแล้ง มีเขตการกระจายพันธุ์จากที่แอฟริกาจนถึงอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้[9] ชื่อสามัญ Tellicherry tree, Easter tree, Conessi bark [10], Kurchi [4] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Echites antidysentericus Roth[6], Holarrhena antidysenterica (Roth) Wall. ex A.DC.[1], Holarrhena antidysenterica Wall.) อยู่วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[3] ชื่อ อื่น ๆ มูกหลวง, โมกใหญ่
ลักษณะของโมกหลวง
- ต้น เป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็กถึงกลาง ต้นสูงประมาณ 3-15 เมตร ลำต้นจะกลม เปลือกต้นชั้นนอกมีลักษณะเป็นสีเทาอ่อนถึงน้ำตาล จะหลุดเป็นแผ่นกลม มีขนาดที่ไม่เท่ากัน เปลือกต้นชั้นในสีซีด จะมียางสีขาวทั้งต้น ใบอ่อนมีขนขึ้นเยอะ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด [1],[5],[6]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามสลับตั้งฉากกัน ใบเป็นรูปหอกกลับ รูปไข่แกมขอบขนาน รูปรี รูปไข่ ที่ปลายใบจะเรียวแหลมหรือจะมน ส่วนที่โคนใบจะแหลมหรือจะป้าน ขอบใบจะเรียบ ใบกว้างประมาณ 4-12 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 10-27 เซนติเมตร ที่แผ่นใบจะมีขนขึ้น ใบแก่จะบาง เส้นใบมีข้างละประมาณ 10-16 คู่ มีเส้นกลางใบ สามารถเห็นเส้นใบได้ชัด เส้นใบมีลักษณะเป็นสีเหลือง จะไม่มีต่อม ผิวใบด้านบนจะมีขนนุ่มขึ้นอยู่ ผิวใบด้านล่างจะมีขนแน่นกว่าผิวใบด้านบน ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร ใบร่วงง่าย[6]
- ดอก ออกเป็นช่อกระจุกใหญ่ตามซอกใบใกล้ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยงรูปกรวยยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดขนาดเล็กและยาว ปลายบานเป็นกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบดอกม้วนลงคล้ายกลีบดอกแก้ว เป็นสีขาว ใจกลางดอกเป็นสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม[6] หรือจะออกดอกพร้อมติดผลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน[9]
- ผล เป็นฝัก มีลักษณะห้อยลงเป็นคู่โค้ง ฝักมีลักษณะเป็นฝักแห้ง ฝักเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ที่โคนฝักจะแบน ส่วนที่ปลายฝักจะแหลม ฝักกว้างประมาณ 0.3-0.8 เซนติเมตร มีขนาดยาวประมาณ 18-43 เซนติเมตร ฝักแก่เต็มที่จะแตกตามแนวยาวเป็นตะเข็บเดียวและอ้าออกเป็นซีก 2 ซีก มีเมล็ดอยู่ในฝัก เมล็ดมีขนาดประมาณ 1.3-1.7 เซนติเมตร จะมีขนสีขาวเป็นพู่อยู่ ขนสีขาวลอยตามลมได้[2],[5],[6]
ประโยชน์โมกหลวง
- ปลูกเป็นไม้ประดับ[11]
- นิยมใช้เนื้อไม้ทำของเล่นเด็ก, ไม้ฉาก, ไม้เท้า, ตู้, ตะเกียบ, พัด, หวี, ไม้บรรทัด, เครื่องเรือน, กรอบรูป, โต๊ะ, เครื่องใช้ [9],[11]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- สาร kurchicine เป็นสารอัลคาลอยด์ที่ทำให้สัตว์ทดลองเป็นอัมพาต ถ้าให้ขนาด lethal dose จะทำให้สัตว์ทดลองเป็นอัมพาต แต่ถ้าให้ขนาดน้อยจะทำให้ความดันขึ้น และเปลือกมีตัวยาสูงจะต้องลอกจากต้นที่อายุ 8-12 ปี[10]
- พบสาร สารอัลคาลอยด์ประมาณ 4.5% ที่ประกอบด้วย Kurchicine, Conessine, Kurchine ฯลฯ
- พบสาร kurchessine, kurchamine ฯลฯ ในใบ[10]
- สารที่สกัดจากน้ำกับเมทานอล อัตราส่วน 2:3 ของเมล็ดโมก (สารกลุ่มฟลาโวนอยด์และฟีนอล) เมื่อทดสอบในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ปรากฏว่าถ้าเอามาทดสอบในหลอดทดลองสารสกัดด่างต้านการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase จากลำไส้เล็กได้ โดยค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) คือ 0.52 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และสารสกัดที่ได้จากเมล็ดในขนาด 200, 400 และ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารของหนูแรทได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความแตกต่างถ้าเทียบกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (acarbose 3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) การศึกษาความปลอดภัยของสารสกัดนี้ ปรากฏว่าใช้ได้ในขนาดถึง 6.4 กรัม กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว สรุปว่าสารสกัดที่ได้จากเมล็ดต้านการดูดซึมแป้งในลำไส้เล็กได้ และสามารถช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase จึงทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารของหนูแรทที่ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ น่าจะเป็นประโยชน์เพื่อทำการศึกษาในคนต่อไป[12]
- เปลือกต้น มีสารอัลคาลอยด์ โคเนสซีน (Conessine) ประมาณ 0.4% ของอัลคาลอยด์ทั้งหมด จะมีฤทธิ์ที่ฆ่าเชื้อบิด ใช้แก้โรคบิดได้ และเคยใช้เป็นยารักษาโรคบิดอยู่ระยะหนึ่ง ปัจจุบันมีการใช้น้อยลง เพราะพบฤทธิ์ข้างเคียงกับระบบประสาท[4],[6]
สรรพคุณโมกหลวง
1. สามารถนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาช่วยระงับอาการปวดกล้ามเนื้อได้ ถ้าใช้เยอะไปจะทำให้นอนไม่หลับและจะมีอาการปั่นป่วนท้อง[6],
2. สามารถนำใบหรือเปลือก มาต้มผสมน้ำใช้อาบรักษาโรคหิดได้ (เปลือก, ใบ)[6]
3. สามารถช่วยแก้ไฟลามทุ่งได้ (เมล็ด)[8]
4. สามารถใช้เมล็ดเป็นยาฝาดสมานได้ (เมล็ด)[1],[2],[3],[5]
5. สามารถช่วยสมานท้องลำไส้ได้ (เมล็ด)[8]
6. สามารถช่วยแก้ดีพิการได้ (เปลือกต้น)[8]
7. ดอก มีรสฝาดเมา สามารถใช้เป็นยาขับพยาธิ และยาถ่ายพยาธิได้ (ดอก)[1],[2],[3],[5]
8. ใบ สามารถช่วยขับพยาธิในท้องได้ (ใบ)[3],[6]
9. สามารถช่วยขับไส้เดือนในท้องได้ (ใบ)[7],[8]
10. เมล็ดเป็นยาถ่ายพยาธิในลำไส้เล็ก (เมล็ด)[1],[2],[3],[5]
11. สามารถใช้เมล็ดเป็นยาแก้บิดได้ (เมล็ด)[1],[2],[3],[5]
12. สามารถนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้บิด และแก้บิดมูกเลือดได้ อีกตำรับให้นำเปลือกต้นประมาณ 6-10 กรัม มาผสมผลมะตูมแห้ง อย่างละเท่า ๆ กัน รวมเปลือกรากทับทิมครึ่งส่วน เอามาตำให้เป็นผงผสมน้ำผึ้งใช้ทำลูกกลอน ใช้ทานครั้งละ 1-2 กรัม ของยาที่ผสมแล้ว ประมาณ 3-5 เมล็ดพุทรา หรือเอามาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ทานวันละ 2 ครั้งเป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)[1],[2],[4],[5],[7]
13. ในตำรายาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีนำรากมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้บิด (ราก)[6]
14. เมล็ด สามารถช่วยแก้ท้องเสีย และแก้ท้องเดินได้ (เมล็ด)[1],[2],[3],[5]
15. ในตำรายาพื้นบ้านจังอุบลราชธานีนำรากมาต้มกับน้ำใช้ดื่มแก้ท้องเสีย (ราก)[6]
16. สามารถช่วยขับถ่ายได้ (เมล็ด)[1]
17. สามารถช่วยรักษาหลอดลมอักเสบได้ (ใบ)[6]
18. เมล็ด มีรสฝาดขม มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ไข้ และแก้ไข้ท้องเสียได้ (เมล็ด)[1],[2],[3],[5],[8]
19. สามารถนำเปลือกต้นมาใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้จับสั่นได้ (เปลือกต้น)[1],[6],[8]
20. ในตำรับยาแก้ไข้พิษ ระบุให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 6-10 กรัม มาผสมผลมะตูมแห้ง อย่างละ ๆ เท่ากัน และเปลือกรากทับทิมครึ่งส่วน ตำเป็นผงผสมน้ำผึ้งใช้ทำลูกกลอน ทานครั้งละ 1-2 กรัม ของยาที่ผสมแล้ว ประมาณ 3-5 เมล็ดพุทรา หรือเอามาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ทานวันละ 2 ครั้งใช้เป็นยาแก้ไข้พิษ (เปลือกต้น)[7],[8]
21. สามารถนำเปลือกต้นมาใช้ปรุงเป็นยาแก้เบาหวานได้ (เปลือกต้น)[1],[6]
22. ทำให้ฝันเคลิ้มได้ (เมล็ด)[8]
23. เปลือกต้น มีรสขมฝาดเมาร้อน เป็นยาที่ทำให้เจริญอาหารได้ (เปลือกต้น)[1],[5],[6]
24. ใบ มีรสฝาดเมา สามารถช่วยขับน้ำนมของสตรีได้ (ใบ)[1],[2],[3],[5]
25. สามารถช่วยรักษาฝีได้ (ใบ)[3],[6],[8]
26. สามารถช่วยรักษาโรคผิวหนังได้ (เมล็ด)[1],[2],[3],[5]
27. สามารถช่วยรักษาแผลพุพองได้ (ใบ)[6]
28. สามารถช่วยขับน้ำเหลืองเสียได้ (เปลือกต้น)[8]
29. ราก มีรสร้อน สามารถช่วยขับโลหิต และขับโลหิตประจำเดือนของผู้หญิง (ราก)[1],[3],[7],[8]
30. ผลสามารถช่วยขับโลหิตได้ (ผล)[7],[8]
31. เปลือกต้นแห้งที่บดละเอียด สามารถใช้ทาตัวแก้โรคท้องมานได้ (เปลือกต้น)[1],[5]
32. สามารถช่วยรักษาท้องร่วงได้ (เปลือกต้น, น้ำมันจากเมล็ด)[6]
33. สามารถช่วยขับลมได้ (เมล็ด)[3],[5],[6]
34. เปลือกต้นแห้ง มีสรรพคุณที่สามารถแก้เสมหะเป็นพิษได้ (เปลือกต้น)[1],[6],[8]
35. ผล มีรสฝาดขมร้อน สามารถใช้เป็นยาแก้สันนิบาต หน้าเพลิงได้ (ผล)[8]
36. กระพี้สามารถช่วยฟอกโลหิตได้ (กระพี้)[7],[8]
37. สามารถช่วยบำรุงธาตุทั้งสี่ให้เจริญ และช่วยทำให้รู้ปิดธาตุได้ (เปลือกต้น)[6],[8]
38. ใบ มีสรรพคุณที่ระงับอาการปวดกล้ามเนื้อได้ (เปลือกต้น, ใบ)[1],[2],[3],[5]
สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “โมกหลวง (Mok Luang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 249.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “โมกหลวง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 128.
3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “โมก หลวง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 166.
4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โมกหลวง Kurchi”. หน้า 120.
5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โมกใหญ่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 652-653.
6. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โมกหลวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [20 พ.ค. 2014].
7. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โมกหลวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [20 พ.ค. 2014].
8. สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยโมกหลวง”. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/46313433/Thaiherb/. [20 พ.ค. 2014].
9. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. “โ ม ก ห ล ว ง”.
10. ไทยเกษตรศาสตร์. “ข้อมูลของโมกหลวง”. อ้างอิงใน: ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [20 พ.ค. 2014].
11. โครงการสำรวจสวนร่มเกล้ากัลปพฤกษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “โมกใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: orip.kku.ac.th/garden/. [20 พ.ค. 2014].
12. ย่อยข่าวงานวิจัย, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ของสารสกัดเมล็ดโมกหลวงในการต้านการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase และลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [20 พ.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://indiabiodiversity.org/
2.https://www.plantslive.in/
https://medthai.com/