ตะไคร้
ตะไคร้ (Lemon-grass) เป็น สมุนไพรที่สำคัญอย่างมากต่อคนไทย มีการนำตะไคร้มาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่โบราณ เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยามากมาย มีกลิ่นหอมละมุน จึงนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ใช้ไล่ยุง และนำมาทำเป็นน้ำตะไคร้เพื่อสุขภาพ เป็นพืชสมุนไพรที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีประโยชน์มากมายต่อร่างกายและช่วยแก้พิษต่าง ๆ ได้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของตะไคร้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon citratus (DC.) Stapf
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Lemongrass” และ “Lapine”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “จะไคร้” ภาคใต้เรียกว่า “ไคร” กลุ่มกบฏเงี้ยวและจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “คาหอม” ชาวกะเหรี่ยงและจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ห่อวอตะไป่” ประเทศเขมรและจังหวัดปราจีนบุรีเรียกว่า “หัวสิงโต” คนทั่วไปเรียกว่า “ตะไคร้แกง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)
ลักษณะของตะไคร้
ตะไคร้ เป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา พม่า อินเดีย ไทย ในทวีปอเมริกาใต้ และคองโก ตะไคร้แบ่งออกเป็น 6 ชนิด ดังนี้
- ตะไคร้กอ : ขึ้นเป็นกอ มีกาบใบที่เรียงอัดซ้อนกัน กาบนอกสีเขียวและกาบในสีขาว ปลายใบแหลมสีเขียว ดอกขนาดเล็กสีน้ำตาลแต่ออกดอกยากมาก
- ตะไคร้ต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบเป็นใบเลี้ยงคู่ หลังใบสีเขียวและท้องใบมีสีขาวนวล เมื่อออกดอกใบจะกลายเป็นสีเหลืองและจะหลุดร่วงไป ดอกมีลักษณะเป็นช่อสั้น ๆ รวมกันเป็นกระจุกที่ซอกใบ มีสีขาวนวลหรือสีครีมและมีกลิ่นหอม ผลมีลักษณะกลมสีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีม่วงเข้ม ผลมีกลิ่นหอมแรง รากเป็นระบบรากแก้ว
- ตะไคร้หางนาค : เป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยวเรียวสลับกัน ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็กใต้เส้นกลางใบ ผลเป็นรูปแคปซูลลักษณะกลม มีเมล็ด 3 เมล็ด
- ตะไคร้น้ำ : เป็นไม้ยืนต้นหรือลำต้นแตกออกมาเป็นกอ ต้นมีลักษณะกลม รากเป็นฝอยรวมกันเป็นกระจุกใหญ่ ใบแคบและยาวสีเขียว
- ตะไคร้หางสิงห์ : เป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยวเรียงสลับกันรูปขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ มีสีขาวนวล ผลเป็นรูปทรงกลม
- ตะไคร้หอม : เป็นพืชล้มลุกที่มีกลิ่นหอม มีทรงพุ่มเป็นกอ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักถี่ ใบแข็งและมีผิวใบสาก ปลายใบยาวมีลักษณะโน้มลง ใบมีสีเขียวแกมเหลือง กาบใบเป็นส่วนหุ้มที่มองเป็นลำต้นเทียม มีสีเขียวแกมแดงหรือสีม่วง ออกดอกเป็นช่อยาวขนาดใหญ่
สรรพคุณของตะไคร้
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้นตะไคร้บำรุงธาตุไฟ ขับเหงื่อ เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยดับร้อนและแก้กระหาย
- สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยขับน้ำดีในการย่อยอาหาร ช่วยในการขับปัสสาวะ รักษาอหิวาตกโรค ต้นช่วยให้เจริญอาหาร สารสกัดจากตะไคร้มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รากแก้อาการปวดท้องและอาการท้องเสีย หัวตะไคร้รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการขัดเบา แก้อาการปัสสาวะพิการและรักษาโรคนิ่ว น้ำมันหอมระเหยลดการบีบตัวของลำไส้
- สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ บรรเทาอาการหวัดและอาการไอ บรรเทาอาการปวดท้อง แก้อาการปวดศีรษะ ใบสดรักษาอาการไข้ รากเป็นยาแก้ไข้เหนือและแก้อาการเสียดจุกหรือแน่นแสบบริเวณหน้าอก น้ำมันหอมระเหยบรรเทาอาการปวดและต้านเชื้อราบนผิวหนัง หัวตะไคร้แก้อาเจียนเมื่อนำไปใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น เป็นยารักษาเกลื้อน แก้อาการกษัยเส้นและแก้ลมใบ ต้นรักษาอาการหอบหืดและแก้ขับลม
- สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย ใบสดรักษาความดันโลหิตสูง
- สรรพคุณด้านป้องกันโรค หัวตะไคร้แก้โรคลมอัมพาต แก้โรคหนองในหากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น
- สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงและรักษาสายตา บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
- สรรพคุณด้านสมองและการคลายเครียด บำรุงสมองและเพิ่มสมาธิ ช่วยในการนอนหลับ บำรุงระบบประสาท
- สรรพคุณด้านความงาม ต้นแก้ปัญหาผมแตกปลาย บำรุงผิว
ประโยชน์ของตะไคร้
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารอย่างต้มยำและอาหารไทยอื่น ๆ แปรรูปเป็นน้ำตะไคร้ ทำเป็นเครื่องปรุงอบแห้ง ตะไคร้แห้งสำหรับชงดื่ม สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย
2. เป็นส่วนประกอบของยา ทำเป็นยานวดได้
3. ประโยชน์ของกลิ่นตะไคร้ สารระงับกลิ่น ช่วยป้องกันแมลง ไล่ยุงและกำจัดยุง ต้นช่วยดับกลิ่นคาวหรือกลิ่นคาวของปลา เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์จำพวกยากันยุงชนิดต่าง ๆ
วิธีทำน้ำตะไคร้หอม
1. นำตะไคร้ 1 ต้น มาล้างให้สะอาด แล้วนำมาหั่นเป็นท่อน ๆ จากนั้นทุบให้แตก
2. ต้มน้ำเปล่า 240 กรัม ให้เดือด แล้วใส่ตะไคร้ลงไป รอจนกระทั่งน้ำออกมาเป็นสีเขียว
3. ปิดเตาแล้วยกลง จากนั้นกรองเอาตะไคร้ออกแล้วเติมน้ำเชื่อม 15 กรัม ทำการคนแล้วดื่มได้ทันที
วิธีทำน้ำตะไคร้ใบเตย
1. นำตะไคร้ 2 ต้น มาทุบให้แหลกพอประมาณ แล้วใช้ใบเตย 3 ใบ มัดตะไคร้ไว้ให้เป็นก้อน
2. ใส่ตะไคร้และใบเตยลงไปในหม้อแล้วเติมน้ำ 1 – 2 ลิตร ต้มให้เดือดสักประมาณ 5 นาที
3. ใส่น้ำตาลแดง 2 ช้อนชา หรือไม่ใส่ก็ได้ สามารถเติมน้ำต้มใหม่ได้ 2 – 3 รอบ
คุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้ขนาด 100 กรัม
คุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้ขนาด 100 กรัม ให้พลังงาน 143 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
โปรตีน | 1.2 กรัม |
ไขมัน | 2.1 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 29.7 กรัม |
เส้นใย | 4.2 กรัม |
แคลเซียม | 35 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 30 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 2.6 มิลลิกรัม |
วิตามินเอ | 43 ไมโครกรัม |
ไทอามีน | 0.05 มิลลิกรัม |
ไรโบฟลาวิน | 0.02 มิลลิกรัม |
ไนอาซิน | 2.2 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 1 มิลลิกรัม |
เถ้า | 1.4 กรัม |
ตะไคร้ เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่สำคัญต่อคนไทยมานาน ในสมัยก่อนมักจะนำตะไคร้มาทุบใช้ไล่ยุงและนำมาปรุงรสอาหาร สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ บรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบย่อยอาหารและไล่ยุง ในปัจจุบันมีการนำตะไคร้มาใช้ในรูปแบบของน้ำดื่มสุขภาพมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม