รู้หรือไม่ เพกามีสรรพคุณเป็นยาที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของต้น
ต้นเพกา เป็นไม้ยืนต้น รูปร่างเป็นฝักแบนยาว ปลายฝักเรียวแหลมคล้ายรูปดาบ มีรสขม สรรพคุณเป็นยา

เพกา

เพกา (Broken Bones Tree) เป็น สมุนไพรชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนทั่วไปนัก แต่สรรพคุณของเพกานั้นมีมากมายจนน่าตกใจ ซึ่งคนไทยมักจะนิยมรับประทานเพกาในรูปแบบของผัก ต้นเพกามีสรรพคุณเป็นยาและเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งราก เปลือกต้น ฝัก ใบ และเมล็ด จนเรียกกันว่า “เพกาทั้ง 5” สมุนไพรชนิดนี้มีความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบราณอีกด้วย ถือเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับการเรียนรู้และการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเพกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oroxylum indicum (L.) Kurz
ชื่อสามัญ : เพกามีชื่อสามัญอยู่ 3 ชื่อ คือ “Broken bones tree” ชื่อที่สองคือ “Damocles tree” และอีกชื่อเรียกว่า “Indian trumpet flower”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคอีสานหรือในจังหวัดเลยเรียกว่า “ลิ้นฟ้า” ในจังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “กาโด้โด้ง” จังหวัดแม่ฮ่องสอนหรือกะเหรี่ยงเรียกว่า “ดุแก ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ” จังหวัดนราธิวาสหรือประเทศมาเลเซียเรียกว่า “เบโด” ทางภาคเหนือเรียกว่า “มะลิ้นไม้ มะลิดไม้ ลิดไม้” และในประเทศจีนเรียกว่า “โชยเตียจั้ว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)
ชื่อพ้อง : Arthrophyllum ceylanicum Miq. Arthrophyllum reticulatum Blume ex Miq. Bignonia indica L. Bignonia lugubris Salisb. Bignonia pentandra Lour. Bignonia quadripinnata Blanco Bignonia tripinnata Noronha Bignonia tuberculata Roxb. ex DC. Calosanthes indica (L.) Blume Hippoxylon indica (L.) Raf. Oroxylum flavum Rehder Spathodea indica 

ลักษณะของต้นเพกา

ต้นเพกา เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมักจะพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วไป
ใบ : ใบมีสีเขียวรูปทรงโค้งมน ปลายใบเรียวแหลม มีก้านใบสีเขียวค่อนข้างยาว มีใบประกอบเป็นแบบขนนก 3 ชั้น เส้นใบเป็นแบบตาข่าย โดยสีของผิวใบด้านบนเข้มกว่าผิวใบด้านล่าง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะ มีดอกย่อยประมาณ 20 – 35 ดอก กลีบดอกมีสีนวลแกมเขียว ที่โคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดงหรือม่วงด้านนอก มีลักษณะเป็นรูปแตร กลีบดอกหนาและขอบย่น ไม่มีพูหรือมีพูไม่เท่ากัน ด้านในของดอกมีขนหนาแน่น ดอกมักจะบานตอนกลางคืนและร่วงตอนเช้า มีกลิ่นสาบฉุน มักจะมีดอกและผลในกิ่งเดียวกัน
ผล : ผลมีรูปร่างเป็นฝักแบนยาว ปลายฝักเรียวแหลมจึงทำให้ผลมีลักษณะคล้ายรูปดาบ มักจะห้อยระย้าอยู่เหนือเรือนยอด เมื่อแก่ปลายฝักจะแตกออก ภายในฝักบรรจุไปด้วยเมล็ดสีขาวจำนวนมาก
เมล็ด : เมล็ดภายในฝักมีสีขาวเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วเมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อนรูปทรงแบน เพียงแต่ถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อบาง ๆ สีขาวเอาไว้ เป็นส่วนที่ช่วยให้เมล็ดปลิวล่องลอยไปตามลมได้ในระยะไกลจนสามารถแพร่พันธุ์ไปได้ด้วยวิธีธรรมชาติ

การนำไปใช้ประโยชน์ของสมุนไพรเพกา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร
– นำฝักอ่อนหรือยอดอ่อนของเพกามารับประทานเป็นผัก ด้วยการนำฝักอ่อนเผาไฟแรง ๆ จนเปลือกพองไหม้ จากนั้นขูดลอกเอาส่วนดำที่ผิวออกให้หมด แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นตามขวางก็สามารถนำมาจิ้มกับน้ำพริกได้ หรือนำมาเป็นเครื่องเคียงลาบก้อย นำมาใส่แกง คั่ว ยำ ผัดกับหมู หรือทำแกงอ่อมปลาดุกใส่ฝักเพกาแทนใบยอก็ย่อมได้เช่นกัน
– ชาวกะเหรี่ยงนำเปลือกต้นเพกามาสับให้ละเอียดแล้วนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทลาบ ทำให้ลาบมีรสขม
– ยอดและดอกอ่อนของเพกานิยมนำมาต้มหรือลวกแล้วรับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ยำ หรือนำมาผัดใส่กุ้งยิ่งให้รสชาติเลิศเลอขึ้น หากนำมายำใส่กระเทียมเจียวก็มีรสชาติเยี่ยมยอดเช่นกัน
-เมล็ดเพกาผสมกับน้ำจับเลี้ยงทำให้มีรสชาติที่กลมกล่อมและช่วยให้ชุ่มคอ รู้สึกสดชื่น
2. เป็นยาสมุนไพรสำเร็จรูป ได้มีการพัฒนานำต้นเพกามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปของยาสมุนไพรสำเร็จรูปหรือที่เรียกว่า “แคปซูลเพกา”
3. อุตสาหกรรมต่าง ๆ นำเปลือกต้นเพกาไปใช้เนื่องจากเนื้อไม้ของเพกามีสีขาวละเอียด มีความเหนียว จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ทำงานแกะสลักต่าง ๆ และนำเปลือกของลำต้นเพกาที่ให้สีเขียวอ่อนมาใช้ทำสีย้อมผ้าอีกด้วย 

สรรพคุณของเพกา

1. สรรพคุณจากฝัก ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ป้องกันไข้หวัดหรืออาการเจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยทำให้มีเรี่ยวแรงและช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศ

  • สรรพคุณจากฝักอ่อน ต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกายและช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายหรือช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยและช่วยชะลอวัย ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ เป็นยาบำรุงธาตุ มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ ช่วยในการขับผายลม
  • สรรพคุณจากฝักแก่ มีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนในและกระหายน้ำได้

2. สรรพคุณจากเมล็ด บรรเทาอาการแน่นหน้าอก มีส่วนช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ตับและปอด เป็นยาขับถ่ายและช่วยระบายท้อง

  • ช่วยบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ ด้วยการนำเมล็ดแก่เพกา 1.5 – 3 กรัม ลงในหม้อต้มน้ำ 300 มิลลิลิตร จนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว ในเวลา เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น
    สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเรียกน้ำย่อยและช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยแก้ไข้โรคสันนิบาตหรือที่เรียกกันว่า “โรคพาร์กินสัน” ช่วยแก้โรคบิดและรักษาอาการท้องร่วง
  • ช่วยรักษาอาการฟกช้ำ ปวดบวมและอาการอักเสบ ด้วยการนำรากเพกาผสมกับน้ำปูนใสแล้วทาลดบริเวณที่มีอาการ

3. สรรพคุณจากใบ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยขับลมในลำไส้

  • บรรเทาอาการปวดไข้และอาการปวดท้องด้วยการใช้ใบเพกาต้มน้ำแล้วดื่ม
    สรรพคุณจากเปลือก
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เปลือกเพกา เปลือกต้นไข่เน่า ใบไข่เน่า แก่นลั่นทม บอระเพ็ด ใบเลี่ยนและรากหญ้าคารวมกัน 7 อย่าง น้ำหนักอย่างละประมาณ 30 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้วเล็ก ก่อนอาหารเช้าและเย็น
  • เป็นยาแก้ปวดหลังของม้า ด้วยการนำผงเปลือกมาผสมกับขมิ้นชัน

4. สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยขับเลือดและดับพิษในโลหิต ช่วยบำรุงโลหิตและเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต แก้อาการจุกเสียกแน่นท้อง แก้โรคบิดและรักษาอาการท้องร่วง ขับลมในลำไส้ ช่วยขับน้ำเหลืองเสียแล้วทำให้น้ำเหลืองกลับมาเป็นปกติ ลดการอักเสบและอาการแพ้ต่าง ๆ เป็นยาฝาดสมานหรือช่วยสมานแผล เปลือกต้นของเพกามีสารสกัดฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหนูทดลอง ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

  • แก้ละอองไข้หรือโรคเยื่อเมือกในช่องจมูกอักเสบ ด้วยการนำเปลือกต้นมาตำผสมกับสุรา
  • ช่วยแก้อาการอาเจียนไม่หยุด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกาตำผสมกับน้ำส้มที่ได้จากรังมดแดงหรือเกลือสินเธาว์
  • บรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น
  • ช่วยรักษาอาการฟกช้ำ ปวดบวมและอาการอักเสบ รากเพกาผสมกับน้ำปูนใสแล้วทาลดบริเวณที่มีอาการ
  • ช่วยรักษาฝีและลดอาการปวดฝี ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาฝนแล้วทารอบ ๆ บริเวณที่เป็นฝี
  • แก้อาการคัน ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น
  • เป็นยาแก้พิษสุนัขบ้ากัด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกานำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ถูกกัด
  • แก้โรคงูสวัด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา เปลือกคูณหรือรากต้นหมูหนุนมาฝนแล้วใส่น้ำ ทาบริเวณที่เป็นอาการ
  • ช่วยแก้พิษซางได้ ด้วยการนำเปลือกต้นมาผสมกับสุรา
  • แก้โรคไส้เลื่อนหรือลูกอัณฑะเลื่อนลง ให้ใช้เปลือกต้นเพกา รากเขยตายและหญ้าตีนนก มาตำรวมกันให้ละเอียดแล้วนำไปละลายกับน้ำข้าวเช็ด จากนั้นใช้ขนไก่ชุบพาดแล้วนำมาทาลูกอัณฑะ เวลาทาควรทาขึ้นอย่าทาลง
  • ช่วยบรรเทาอาการเจ็บที่องคชาตและลูกอัณฑะ ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น
  • แก้โรคมานน้ำหรือภาวะที่มีน้ำขังอยู่ในช่องท้องจำนวนมาก ด้วยการนำเปลือกต้นมาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น
  • ทำให้ผิวหนังชาของหญิงคลอดบุตรที่ทนอาการอยู่ไฟไม่ได้และแก้ละอองขึ้นในปาก คอ และลิ้น หรืออาการฝ้าขาวที่ขึ้นในปาก ด้วยการนำเปลือกต้นตำผสมกับสุรา
  • ช่วยแก้เผ็ดและแก้เปรี้ยวได้ ด้วยการใส่เปลือกต้นผสมลงในอาหาร

5. สรรพคุณจากเพกาทั้ง 5 เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยแก้ไข้การไหลเวียนของลมและเลือด รักษาท้องร่วง ช่วยในการขับน้ำเหลืองเสียแล้วทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ เป็นยาฝาดสมานหรือช่วยสมานแผล

  • ช่วยรักษาอาการฟกช้ำ ปวดบวมและอาการอักเสบ ด้วยการนำรากเพกาผสมกับน้ำปูนใสแล้วทาลดบริเวณที่มีอาการ

เพกา ลิ้นฟ้า คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนเพกา 100 กรัม ให้พลังงาน 101 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
โปรตีน 6.4 กรัม
ไขมัน 2.6 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 13 กรัม
วิตามินบี1 0.18 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.69 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 2.4 มิลลิกรัม
เถ้าและน้ำ

คุณค่าทางโภชนาการของฝักอ่อนเพกา 100 กรัม

สารอาหาร ปริมาณสารอาหาร
วิตามินซี 484 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 8.3 กรัม
ธาตุแคลเซียม 13 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม
โปรตีน 0.2 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม
ไขมัน 0.5 กรัม
เส้นใย 4 กรัม

ข้อควรระวัง

1. หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานเพราะมีฤทธิ์ร้อน อาจทำให้แท้งบุตรได้
2. เมล็ดแก่ห้ามกินดิบเด็ดขาดเพราะมีพิษ
3. ควรระวังในการใช้เพการ่วมกับยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (aspirin) วาฟาริน (warfarin) สารสกัดแปะก๊วย (Ginko biloba)
4. เพกาเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้

เพกา เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากฝักเพกามีวิตามินซีสูงมาก จึงทำให้เพกามีชื่อเสียงในด้านการป้องกันโรค ถือเป็นสมุนไพรประเภทยาเย็นที่สามารถนำส่วนประกอบของต้นมาทำเป็นยาได้ทุกส่วน ในประเทศไทยเรานิยมนำเพกามาจิ้มกับน้ำพริก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกของคนไทยเพียงแต่ว่าประเทศเราเป็นเพียงที่เดียวในโลกที่นำเพกามารับประทานในรูปแบบของผัก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม