ต้นกระแตไต่ไม้ สรรพคุณเหง้าใช้รักษาฝี และริดสีดวงจมูก

กระแตไต่ไม้
ต้นกระแตไต่ไม้ สรรพคุณเหง้าใช้รักษาฝี และริดสีดวงจมูก เป็นไม้ล้มลุกจำพวกเฟิร์น เหง้าปกคลุมไปด้วยเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม ใบมีทั้งสร้างสปอร์และสร้างสปอร์
กระแตไต่ไม้
เป็นไม้ล้มลุกจำพวกเฟิร์น เหง้าปกคลุมไปด้วยเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม ใบมีทั้งสร้างสปอร์และสร้างสปอร์

กระแตไต่ไม้

ต้นกระแตไต่ไม้ พบได้ในประเทศอินโดจีน ประเทศพม่า ประเทศไทย ประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศจีนทางตอนใต้ และประเทศมาเลเซีย ในประเทศไทยจะพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักจะพบขึ้นที่บริเวณตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าพรุ ขึ้นตามต้นไม้ และตามโขดหิน[4]ชื่อสามัญ Oak-leaf fern, Drynaria ชื่ออื่น ๆ กูดขาฮอก กูดอ้อม กูดไม้ (ในภาคเหนือ), กระปรอก (จังหวัดจันทบุรี), เดาน์กาโละ (ชาวมลายูในจังหวัดปัตตานี), ใบหูช้าง สไบนาง (จังหวัดกาญจนบุรี), กระปรอกว่าว (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดปราจีนบุรี), หว่าว (ปน), กูดขาฮอก เช้าวะนะ พุดองแคะ (ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน), ฮำฮอก (จังหวัดอุบลราชธานี), หัวว่าว (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์), สะโมง (ชาวส่วยในจังหวัดสุรินทร์) เป็นต้น[1],[2],[4] ชื่อวิทยาศาสตร์ Drynaria quercifolia (L.) J. Sm. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Polypodium quercifolium L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ POLYPODIACEAE

ลักษณะของกระแตไต่ไม้

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทล้มลุก จัดอยู่ในจำพวกเฟิร์น มักเลื้อยเกาะตามต้นไม้หรือโขดหิน
    – ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ซึ่งลำต้นจะมีลักษณะที่นอนทอดราบไปกับพื้นดิน มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร
    – เหง้ามีรูปร่างกลมและยาว ภายนอกเหง้าจะปกคลุมไปด้วยเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม และมีขนที่มีลักษณะคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลขึ้นปกคลุมอยู่ ส่วนภายในเหง้าจะมีเนื้อสีขาว บางเหง้ามีสีเขียว[1]
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้สปอร์หรือเหง้า[1],[3]
  • ใบ (แบ่งออกเป็น 2 ชนิด)
    1. ใบที่สร้างสปอร์
    – ใบมีรูปร่างเป็นรูปไข่ ตรงปลายใบแหลมหรือมน บริเวณขอบใบจะมีรอยเว้าเป็นแฉกตื้น ๆ ใบมีฐานใบเป็นรูปหัวใจ ใบชนิดนี้จะไม่มีก้านใบ ใบมีขนขึ้นปกคลุมเป็นรูปดาวสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน และใบชนิดนี้จะมีกลุ่มอับสปอร์อยู่ อับสปอร์จะมีรูปร่างเป็นรูปขอบขนานหรือกลม ซึ่งกลุ่มอับสปอร์จะอยู่เรียงกันเป็นแถว 2 แถวอยู่ที่บริเวณขนาบข้างตรงกลางระหว่างเส้นใบ
    – ใบจะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 20 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 32 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบ
    2. ใบที่ไม่สร้างสปอร์
    – ใบจะเรียงตัวกันแบบขนนก ใบมีรูปร่างเป็นรูปหอก ตรงปลายใบเรียวแหลม บริเวณขอบใบจะเว้าลึกลงไปเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบมีฐานใบเป็นรูปลิ่ม ผิวใบมีสีเขียวหม่นและผิวมีความเป็นมัน ใบชนิดนี้จะมีก้านใบ โดยที่โคนก้านใบจะมีเกล็ดสีน้ำตาลดำเป็นจุดเด่น[1]
    – ใบจะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 50 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 80 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร

สรรพคุณของต้นกระแตไต่ไม้

1. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการปัสสาวะพิการ และมีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ (เหง้า)[1],[2],[3]
2. เหง้ามีสรรพคุณในการขับระดูขาวของสตรี (เหง้า)[1],[2],[4]
3. เหง้ามีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคงูสวัด (เหง้า)[1]
4. เหง้ามีสรรพคุณในการรักษาแผลเนื้อร้ายและแผลพุพอง (เหง้า)[1]
5. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดบวม (เหง้า)[1]
6. เหง้ามีสรรพคุณในการรักษาโรคนิ่ว (เหง้า)[1],[2]
7. เหง้ามีสรรพคุณในการรักษาโรคไตพิการ (เหง้า)[1],[2],[3],[4]
8. นำเหง้ามาต้มผสมรวมกับสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดเส้น (เหง้า)[1]
9. เหง้ามีสรรพคุณในการรักษาฝี (เหง้า)[1]
10. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (เหง้า)[1],[2],[3],[4]
11. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดประดงเลือด (เหง้า)[1]
12. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการริดสีดวงที่จมูก (เหง้า)[1]
13. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการกระหายน้ำ (เหง้า)[1]
14. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (เหง้า)[1],[2],[4]
15. นำเหง้ามาต้มผสมกับสมุนไพรยาข้าวเย็น มีฤทธิ์ในการรักษาโรคหอบหืด (เหง้า)[1],[3]
16. เหง้ามีสรรพคุณในการแก้โรคมือเท้าเย็น (เหง้า)[3]
17. เหง้ามีสรรพคุณในการบำรุงโลหิต ทำให้โลหิตหมุนเวียนดีขึ้น (เหง้า)[3]
18. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคมะเร็งปอด (เหง้า)[1]
19. เหง้ามีฤทธิ์เป็นยาคุมธาตุ (เหง้า)[1],[2],[3]
20. เหง้านำมาใช้แบบเดี่ยว ๆ หรือนำไปใช้ร่วมกันกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ บรรเทาอาการฟกช้ำดำเขียว แก้เคล็ดขัดยอก และบำบัดอาการป่วยที่มีสาเหตุมาจากเส้นเอ็นฉีกขาด หรือกระดูกแตกหัก (เหง้า)[3]
21. เหง้า มีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด แต่ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าใช้เพียงแค่เหง้าอย่างเดียว หรือมีสมุนไพรอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบร่วมด้วย (เหง้า)[1]
22. นำขนที่ได้มาจากเหง้ามาทำการบดให้ละเอียด ทำเป็นไส้ยาสูบใช้สูบเพื่อแก้อาการโรคหอบหืด (ขนจากเหง้า)[1]
23. ใบมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการแผลพุพองและแผลเรื้อรัง (ใบ)[2]
24. นำใบมาต้มกับสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ทำเป็นน้ำสำหรับอาบ โดยจะช่วยรักษาอาการบวมตามร่างกาย และบรรเทาอาการไข้สูงให้ลดลงได้อีกด้วย (ใบ)[1]
25. น้ำต้มจากใบ มีสรรพคุณในการแก้อาการอ่อนเพลียของสตรีหลังการคลอดบุตรได้ (ใบ)[1]
26. นำรากและแก่นมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยา โดยมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการประจำเดือนไหลไม่หยุด (ราก, แก่น)[1]
27. น้ำต้มจากรากและแก่นนำมาอาบ โดยจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคซาง (ราก, แก่น)[1]
28. มีสรรพคุณในการช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
29. มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดฟัน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]

ประโยชน์ของต้นกระแตไต่ไม้

1. ในด้านความเชื่อ เป็นว่านไม้ที่เสริมเรื่องความมีเมตตามหานิยม เชื่อว่าหากนำมาปลูกตั้งไว้ในร้านที่มีการค้าขาย จะทำให้ค้าขายดีขึ้นเป็นเท่าตัว[5]

2. มีใบที่สวยงาม เหมาะสำหรับการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ[4]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [29 พ.ย. 2013].
2. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระ แต ไต่ ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [29 พ.ย. 2013].
3. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน.  “กระ แต ไต่ ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [29 พ.ย. 2013].
4. สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “กระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th.  [29 พ.ย. 2013].
5. บ้านว่านไทย.  “ว่านกระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: banvanthai.com.  [29 พ.ย. 2013].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://plantsam.com
2. https://zh.m.wikipedia.org