กล้วยเต่า
กล้วยเต่า ในชื่อทางวิทยาศาสตร์ Polyalthia debilis Finet & Gagnep.[1] จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]
สมุนไพรกล้วยเต่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ไข่เต่า ตับเต่า ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ), รกคก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ไข่เต่า (เชียงใหม่), ก้นครก (มหาสารคาม, ยโสธร), กล้วยตับเต่า กล้วยเต่า (ราชบุรี) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของกล้วยเต่า
- กล้วยเต่า เป็นพรรณไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 1 เมตร ตามกิ่งอ่อนมีขนอ่อนปกคลุมอย่างหนาแน่น ส่วนกิ่งที่แก่จะเรียบและมีสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ไม่อุ้มน้ำ ชอบอยู่ที่แสงแดดจัด มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศเวียดนามและลาว ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยจะพบขึ้นในป่าดิบ ชายป่า ป่าโปร่ง และป่าเต็งรัง บนพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-350 เมตร[1],[2],[3],[4]
- ใบกล้วยเต่า เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบนั้นเป็นรูปขอบขนานจนถึงรูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ปลายใบจะแหลมหรือมนและมีติ่งแหลม โคนใบนั้นมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย ลักษณะแผ่ใบนั้นแคบ มีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร ท้องใบจะมีขนและมีสีจางกว่าส่วนหลังใบที่เป็นสีเขียวเข้มและมีลักษณะเกลี้ยงเป็นมัน มีเส้นแขนงใบข้างละ 7-10 เส้น ก้านใบมีความยาว 3 มิลลิเมตร และมีขนสีเหลืองอ่อนขึ้นอย่างหนาแน่น[1],[2]
- ดอกกล้วยเต่า เป็นดอกเดี่ยวขนาดเล็กตามง่ามใบ ก้านดอกมีขนาดที่สั้น ดอกมีสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเรียงสลับกันมี 2 ชั้น มีชั้นละ 3 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายเป็นมน มีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ด้านนอกกลีบนั้นมีขนละเอียดสีเหลืองอ่อน ส่วนกลีบเลี้ยง
- ดอกมีขนาดที่เล็กและมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมกลาย ๆ ด้านนอกมีขนอ่อนนุ่มมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากอยู่บนแกนกลางของดอก ส่วนเกสรเพศเมียนั้นมี 4 อัน อยู่ที่ปลายแกนกลางของดอก ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]
- ผลกล้วยเต่า ผลออกเป็นกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มลักษณะกลม แต่ละผลมีรูปทรงกระบอก คอดระหว่างเมล็ด มีปลายที่เรียวแหลม ผิวเปลือกผลมีขนอ่อนนุ่มปกคลุม ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล ผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาล มีลักษณะแบนกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ผลจะแก่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2],[4]
สรรพคุณของกล้วยเต่า
1. รากนั้นมีรสเย็น นำมาใช้เป็นยาแก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษตานซาง และแก้วัณโรค (ราก)[5]
2. ต้นหรือรากนำเอามาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (ต้น, ราก)[3]
3. ในทางภาคอีสานจะใช้เหง้า เปลือก และเนื้อไม้กล้วยเต่า นำมาเป็นยาแก้ท้องเสียในเด็กหรือถ่ายกะปริบกะปรอยเป็นมูกเลือด (เหง้า, เปลือก, เนื้อไม้)[1]
4. ชาวบ้านในจังหวัดยโสธรนั้นจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคกระเพาะ (ราก)[3]
ประโยชน์ของกล้วยเต่า
1. ผลสุกจะมีสีเหลือง และมีรสชาติที่หวาน (ในส่วนของเนื้อหุ้มเมล็ด) สามารถนำมารับประทานได้[1],[2],[3],[4]
2. สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์อย่างโค และกระบือได้
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางอาหารที่พบนั้นจะมีโปรตีน 12.5%, แคลเซียม 0.39%, ฟอสฟอรัส 0.22%, โพแทสเซียม 1.23%, ADF 45.9%, NDF 58.4% และDMD 30.9%[3]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กล้วยเต่า”. หน้า 64.
2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กล้วยเต่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [24 มิ.ย. 2015].
3. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “กล้วยเต่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [24 มิ.ย. 2015].
4. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “กล้วยเต่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [24 มิ.ย. 2015].
5. สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณ แห่งประเทศไทย. “ตับเต่าน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ayurvedicthai.com. [24 มิ.ย. 2015].