เคี่ยม
เป็นไม้ยืนต้น เปลือกด้านในมีสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นมีชันใสก้อนสีเหลือง ดอกเป็นช่อสีขาวกลิ่นหอม ผลเล็กขนนุ่มคล้ายขนกำมะหยี่ ปลายปีกมนเรียวรูปหอก

ต้นเคี่ยม

เคี่ยม พบในคาบสมุทรอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ไปจนถึงเกาะบอร์เนียว ลำต้นตรง ประเทศไทยพบทั่วไปตามป่าดงดิบในภาคใต้ ชื่อสามัญ Resak tembaga ชื่อวิทยาศาสตร์ Cotylelobium lanceolatum Craib[1] วงศ์ยางนา(DIPTEROCARPACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เคี่ยมดำ เคี่ยมขาว เคี่ยมแดง (ภาคใต้), เคี่ยม (ทั่วไป) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะต้นเคี่ยม

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้น ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงอยู่ที่ 20-40 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบคล้ายกับเจดีย์ต่ำๆ เปลือกต้นมีลักษณะเรียบเป็นสีน้ำตาล จะมีรอยด่างสีเหลืองกับสีเทาสลับกันอยู่
  • เปลือก ด้านในมีสีน้ำตาลอ่อน ทั่วลำต้นจะมีต่อมที่ใช้ระบายอากาศกระจายตัวอยู่ ตามลำต้นมีชันใส และจับตัวเป็นก้อนสีเหลืองในภายหลัง[2]
  • ใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายใบเรียวสอบ โคนใบมน ความกว้างของใบจะอยู่ที่ 2-5 เซนติเมตร และความยาวของใบจะอยู่ที่ 5-18 เซนติเมตร แผ่นใยมีลักษณะหนา หลังใบเรียบเป็นมัน มีขนสีน้ำตาลขึ้นเป็นกระจุกอยู่บริเวณส่วนท้องของใบ[1]
  • ดอก เป็นดอกช่อ ออกบริเวณตามยาวของปลายกิ่งและง่ามใบ ดอกเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ[1]
  • ผล มีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 0.7 เซนติเมตร มีขนนุ่มขึ้นปกคลุมลักษณะคล้ายกับขนกำมะหยี่ ผลจะมีปีกทั้งหมด 5 ปีก เป็นปีกยาว 2 ปีก และปีกสั้น 3 ปีก ปีกมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายปีกจะมนเรียวและสอบมาทางโคน มีเส้นตามแนวยาวอยู่ 5 เส้น จะเริ่มติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2]

ประโยชน์เคี่ยม

1. สามารถนำเปลือกไม้มาใช้ในการรักษาน้ำตาลจากต้นตาลไม่ให้บูดเร็ว โดยนำเปลือกต้นมาตัดใส่ในกระบอกตาลเพื่อรองรับน้ำตาล ซึ่งรสฝาดของเปลือกไม้จะเป็นหัวใจหลักในการรักษาน้ำตาลไว้[2]
2. ถ่านที่ได้สามารถให้ความร้อนสูงไม่แพ้ถ่านหินเลย
3. ใช้เป็นตัวชี้วัดพื้นดินว่าเหมาะแก่การทำเกษตรและที่อยู่อาศัยหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลในด้านนิเวศน์และทางด้านภูมิสถาปัตย์[1]
4. นำมาใช้สำหรับทาเรือได้ โดยนำเปลือกต้นมาทุบผสมกับชัน[1]
5. ด้วยความแข็งแรง ทนทาน และความละเอียดของเนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงมากๆ หรือจะเป็นการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ต้องตากแดดตากฝนเป็นประจำก็ได้ [1],[2]

สรรพคุณเคี่ยม

1. ชันที่ได้ สามารถนำมาทำเป็นยาสมานแผลได้[1],[2]
2. เปลือกต้น สามารถนำมาทำเป็นยาที่ใช้ในการห้ามเลือดจากแผลสดได้(เปลือกต้น)[1],[2]
3. มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปากเปื่อย (ยอด, ราก, ดอก, ลำต้น)[2]
4. สามารถนำมาตำพอกเพื่อบรรเทาอาการฟกบวม เน่าเปื่อยได้(ยอด, ราก, ดอก, ลำต้น)[2]
5. สามารถนำเปลือกต้นมาทำเป็นยาที่ใช้ในการชะล้างแผลได้(เปลือกต้น)[1]
6. ชัน มีคุณสมบัติในการรักษาอาการท้องร่วง[1],[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เคี่ยม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [18 ม.ค. 2014].
2. กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความหลากหลายทางชีวภาพ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ต้นเคี่ยม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: chm-thai.onep.go.th. [18 ม.ค. 2014].
3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เคี่ยม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [18 ม.ค. 2014].
4. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.earth.com/