ผ่าเสี้ยน
เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกเป็นช่อแยกแขนงสีม่วงครามอ่อน ผลกลมสุกแล้วจะมีสีเป็นสีเหลืองอมเขียว ผลแห้งสีน้ำตาลจนถึงสีดำ

ผ่าเสี้ยน

ผ่าเสี้ยน สามารถพบเห็นได้ทั่วประเทศของประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศนั้นสามารถพบได้ที่ประเทศอินเดียและประเทศพม่า โดยพืชชนิดนี้สามารถพบเห็นขึ้นได้ในบริเวณตามป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในระดับความสูงที่ไม่เกิน 800 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเล[1],[2] ชื่อสามัญ: Indochinese Milla, Kyetyo[2]
ชื่อวิทยาศาสตร์: Vitex canescens Kurz จัดอยู่ในวงศ์: วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]
ชื่ออื่น ๆ จงอาง โจงอางต้น สะคางต้น (เลย), แปะ (นครราชสีมา), พะหวัง (กำแพงเพชร), หมากเล็กหมากน้อย (กาญจนบุรี), สมอตีนเป็ด (ประจวบคีรีขันธ์), กำจัง (พัทลุง), จัง (นครศรีธรรมราช), คำปอน คำปาน ซ้อเสี้ยน (ในภาคเหนือ), สมอกานน (ในภาคตะวันตกเฉียงใต้), กานนหลัว ข้องแลง (ในภาคใต้) เป็นต้น[1]

ลักษณะของผ่าเสี้ยน

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีขนาดกลางไปจนถึงมีขนาดใหญ่ มีความสูง 10-25 เมตร แตกกิ่งก้านได้มาก ลักษณะของกิ่งอ่อนจะเป็นเหลี่ยม เมื่อดูไปตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนนั้นก็จะมีขนสีน้ำตาลเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ ส่วนในด้านของเปลือก ภายนอกนั้นจะเป็นสีน้ำตาล มีรอยแตกแบบรอยไถอยู่ และมีลักษณะเป็นร่องเอียง ส่วนในด้านของเปลือกด้านในนั้นจะมีสีเป็นสีเหลืองอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยการตัดกิ่งปักชำ
  • ใบ เป็นใบประกอบ มีลักษณะเป็นแบบนิ้วมือ มีใบย่อยอยู่ประมาณ 3-5 ใบ โดยใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่ หรือเป็นรูปรี บริเวณปลายใบจะแหลม ตรงโคนใบจะมน แผ่นใบผิวบางและมีผิวสัมผัสที่นิ่มมือ มีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน ใบอ่อนจะมีขนมากกว่าใบที่แก่แล้ว และบริเวณท้องใบจะมีขนขึ้นที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่มมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณตรงเส้นกลางใบและเส้นใบ เส้นแขนงของใบย่อยจะมีอยู่กันประมาณ 6-14 คู่ โดยใบย่อยพวกนี้จะออกใบเรียงตรงข้ามกัน สลับกับการออกใบแบบตั้งฉาก [1],[2] ใบย่อยตรงส่วนยอดจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนใบย่อยที่บริเวณด้านข้างจะมีขนาดเล็ก ใบที่อยู่ติดกับก้านใบจะเล็กที่สุด กว้าง 3-10 เซนติเมตร และยาวอยู่ที่ประมาณ 5-20 เซนติเมตร ก้านใบย่อยจะยาว 0.4-2.5 เซนติเมตร (ก้านใบย่อยตรงบริเวณส่วนปลายของยอดจะมีความยาวมากกว่าก้านใบย่อยที่อยู่ด้านข้าง) [1],[2] ผลัดใบในช่วงของเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]
  • ดอก เป็นช่อแยกแขนงหรืออาจจะออกดอกเป็นช่อแบบเชิงลดประกอบ ดอกออกดอกเรียงตัวกันเป็นวงรอบ ๆ ก้านดอก บริเวณปลายกิ่งและบริเวณตามซอกใบที่ใบหลุดร่วงหล่นไปแล้ว ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[1],[2] มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ โดยกลีบดอกนั้นจะแยกออกจากกันเป็น 2 ฝา ฝาด้านบนจะมี 2 กลีบ ส่วนฝาด้านล่างจะมี 3 กลีบ บริเวณโคนกลีบดอกจะมีสีเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน แต่ตรงปลายกลีบของดอกนั้นจะเป็นสีม่วงครามอ่อน ๆ ด้านนอกของดอกจะมีขนขึ้นอยู่ ส่วนในด้านของกลีบเลี้ยงจะมีกลีบอยู่ด้วยกัน 5 กลีบ ตรงบริเวณโคนดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนตรงปลายก็จะแยกเป็นแฉกอยู่ 5 แฉก มีสีน้ำตาล[1],[2]
  • ผล มีลักษณะกลม ผลมีขนาดประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร ผลเมื่อตอนสุกแล้วจะมีสีเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือมีสีเป็นสีเหลือง และเมื่อตอนผลแห้งแล้วก็จะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีไปจนเป็นสีดำในที่สุด ภายในผลจะมีเมล็ดเดี่ยวหรืออาจจะมีหลายเมล็ด แต่ส่วนใหญ่ผลจะมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด ผลแก่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2]

สรรพคุณ ประโยชน์ ของผ่าเสี้ยน

  • ต้น ผสมกับขี้เหล็กบ้าน ขี้เหล็กแดง และขี้เหล็กขี้กลาก ปรุงเป็นยาใช้แก้โรคติดเชื้อ เช่น ซิฟิลิส โกโนเรียได้[1]
  • เปลือกต้น ตำรายาสมุนไพรของไทยจะนำเปลือกต้นมาทำเป็นยาแก้ไข้ [3]
  • เปลือกต้นมีฤทธิ์เป็นยาสำหรับใช้แก้อาการท้องเสีย [3]
  • เปลือกต้นนำมาใช้เป็นยาแก้อาการบิด และแก้เด็กถ่ายเป็นฟองได้อีกด้วย [3]
  • เปลือกต้นยังสามารถนำมาใช้เป็นยาแก้ตานขโมยได้อีกด้วย (โรคพยาธิในเด็ก เกิดอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซูบซีด ท้องเดิน พุงโร และก้นป่อง)  )[3]
  • ราก มีฤทธิ์ที่ช่วยทำให้เจริญอาหารได้ [3]
  • ราก มีฤทธิ์เป็นยาสำหรับใช้แก้อาการท้องเสียเช่นเดียวกันกับส่วนของเปลือก [3]

ประโยชน์ของผ่าเสี้ยน

  • เนื้อไม้ มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ สามารถนำเนื้อไม้มาใช้ในงานก่อสร้างได้ นำมาทำที่อยู่อาศัย
  • เนื้อไม้นำมาใช้สร้างเครื่องเรือน เครื่องจักสาน ใช้สร้างเครื่องมือใช้สอย
  • เนื้อไม้นำมาทำเป็นฟืนก่อไฟ ใช้หุงต้มได้อีกด้วย[2],[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ผ่ า เ สี้ ย น”. หน้า 138.
2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผ่ า เ สี้ ย น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [14 พ.ย. 2014].
3. ไทยเกษตรศาสตร์. “ลักษณะต้นผ่าเสี้ยน”. อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [14 พ.ย. 2014].

รูปจาก
https://www.matichonweekly.com/
http://www.qsbg.org/