เถาคุย
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของเถาคุย คือ Willughbeia edulis Roxb ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น อีคุย ต้นคุย หมากยาง ตังตู้เครือ บักยาง คุยช้าง คุยหนัง เคลือยาง อากากือเลาะ โพล้พอ [1],[2] เป็นพืชในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae)
ลักษณะ
- ต้น เป็นไม้เถาเนื้อแข็งรอเลื้อยขนาดใหญ่ เลื้อยได้ประมาณ 10 – 15 เมตร มีลำเถาขนาดใหญ่ และแข็งแรง แตกกิ่งก้านเยอะ มีมือยืดเกาะ ส่วนที่เปลือกจะเกลี้ยงมีสีน้ำตาล ที่ทุกส่วนของต้นจะมีน้ำยาง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบเจอได้ตามที่ป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น [1],[2]
- ใบ เป็นใบเดียว ใบออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามข้อต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปรี รูปขอบขนาน ที่ปลายใบจะแหลมและเป็นติ่ง โคนใบมีรูปลิ่มถึงมน ขอบใบจะเรียบเป็นคลื่นนิดหน่อย ใบกว้างประมาณ 5 – 7 เซนติเมตร ยาว 10 – 14 เซนติเมตร ที่แผ่นใบมีสีเขียว ใบหนา ส่วนที่ผิวใบ ผิวด้านบนเกลี้ยงและเป็นมัน ผิวด้านล่างมีขนเล็กน้อย มีเส้นแขนง 15 – 16 คู่ ก้านใบมีร่องที่ด้านบน ก้านใบมีความยาว 1 – 2 เซนติเมตร [1],[2]
- ดอก ออกเป็นช่อกระจุก ออกที่บริเวณซอกใบกับที่ปลายยอด มีความยาว 1 – 2.5 เซนติเมตร ก้านของช่อดอกมีความยาว 1 – 2 มิลลิเมตร มีขนนิดหน่อย แต่ละช่อดอกมีดอกย่อย 5 – 6 ดอก ก้านของดอกมีความยาว 1 – 3 มิลลิเมตร และมีใบประดับ 1 อัน ดอกกับช่อดอกมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม , รูปไข่ กว้าง 1 – 1.5 มิลลิเมตร ยาว 1 – 2.5 มิลลิเมตร ที่ตามขอบจะมีขน ที่กลีบเลี้ยงดอกจะเชื่อมกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ที่ปลายแยกเป็น 5 แฉก โคลนดอกกลีบเป็นรูปถ้วย ที่ปลายแฉกเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 1 – 1.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 – 3 มิลลิเมตร ที่ตามดอกจะมีขน กลีบดอกเชื่อมกัน ที่ปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน มีสีขาวปนสีเหลือง เรียงบิดเวียน แฉกมีความยาวประมาณ 9 – 12 มิลลิเมตร หลอดยาวประมาณ 6 – 7 มิลลิเมตร ปลายกลีบด้านนอกมีผิวเกลี้ยง หรือมีขนเล็กน้อย มีเกสรเพศผู้ อับเรณูยาว 1 – 1.5 มิลลิเมตร ที่ด้านหลัง มีก้านชูอับเรณูที่สั้น มีสีเหลือง และมีเกสรเพศเมีย รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มี 1 คาร์เพล 1 ช่อง 23 – 46 ออวุล รังไข่ยาวประมาณ 0.5 – 1 มิลลิเมตร ก้านของเกสรเพศเมียยาว 2 – 3 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก มีสีเหลืองและมีขนนิดหน่อย ถ้าดอกบานจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 – 2.5 เซนติเมตร ดอกจะออกช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม [2]
- ผล เป็นผลเดี่ยว ผลสดมีเนื้อ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม หรือรูปไข่ เปลือกผลจะหนา ผิวเกลี้ยง ขนาดประมาณ 5.8 – 7.2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองถึงส้ม ที่เปลือกผลมีน้ำยาง ก้านผลยาวประมาณ 0.8 – 1.2 เซนติเมตร มีขนนิดหน่อย มีเมล็ดประมาณ 1 – 3 เมล็ด เนื้อผลจะลื่นติดกันเมล็ด เมล็ดเป็นรูปไข่ กว้างประมาณ 1.2 – 1.6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.9 – 2.8 เซนติเมตร จะติดผลช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน [2]
สรรพคุณของเถาคุย
- เถาและลำต้นจะมีรสฝาด นำมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาแก้ประดงเข้าข้อ ลมขัดในข้อ ลมขัดในกระดูก [2]
ที่ลำต้นใช้ต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยารักษาโรคคุดทะราด [1],[2] - สามารถนำยางมาใช้สำหรับทาแผลได้ [1]
- สามารถนำลำต้นต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาแก้ตับพิการ [1],[2]
- ยางจะมีรสฝาดร้อน ช่วยแก้คุดทะราด แก้เท้าเป็นหน่อ [1],[2]
- ผลดิบจะมีรสเปรี้ยวฝาด นำผลดิบมาตากแห้งย่างไฟ แล้วป่นมาผสมกับน้ำ ใช้เป็นยาทาแผล [1],[2]
- นำลำต้นผสมกับลำต้นม้ากระทืบโรง ต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงกำลังกับเป็นยาอายุวัฒนะ [2]
- เถา ลำต้น ราก มาต้มแล้วดื่ม ใช้เป็นยารักษาโรคบิด [1],[2]
- รากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยารักษาโรคดีซ่านที่เกิดจากโรคมาลาเรีย [1]
- รากจะมีรสฝาด นำมาต้มแล้วดื่ม ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ เจ็บหน้าอก [1],[2]
- เปลือกต้นจะมีรสฝาด นำมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ [1],[2]
- ผลสุก สามารถช่วยหล่อลื่นลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวก [2]
- ตำรับยาพื้นบ้านภาคใต้ ใช้ลำต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย [2]
- หมอยาพื้นบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี นำมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาแก้อัมพฤกษ์ อัมพาต [2]
- นำรากมาตำให้ละเอียด สามารถใช้เป็นยาทาแก้โรคตัวเหลืองในทารกได้ [1]
- นำลำต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาแก้มือเท้าอ่อนเพลีย รากกับเถาก็มีสรรพคุณแก้มือเท้าอ่อนเพลียได้เหมือนกัน [1],[2]
ประโยชน์ของเถาคุย
- ใช้น้ำยางมาทำเป็นกาวสำหรับดักจับแมลง เช่น จักจั่น ใช้น้ำยางจากพืช 3 ชนิด คือ ยางเถาคุย ยางไทร และยางมะเดื่อหรือยางขนุน มาผสมในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน แล้วเติมน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันโซล่า แล้วเอาไปเคี่ยวจนกระทั่ง
- น้ำยางข้นเหนียว แล้งทิ้งให้เย็น แล้วนำมาใช้เป็นกาว [2]
- ผลที่สุกจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน นำมารับประทานได้ [1],[2]
- นำลำต้นมาใช้แทนเชือกสำหรับมัดสิ่งของได้ [2]
- นำรากมาใช้ในการย้อมสี จะเป็นสีแดง [1]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กะตังกะติ้ว”, “คุย”, “เถาคุย”. หน้า 48-49, 194-197, 342-343.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “คุย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [28 ส.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.http://www.epharmacognosy.com/2022/
2.https://www.flickr.com/photos/