สมอดีงู สรรพคุณใช้ทำยาทารักษาโรคตะคริว

0
1335
สมอดีงู
สมอดีงู สรรพคุณใช้ทำยาทารักษาโรคตะคริว พันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ดอกเป็นช่อ ผลมีผิวเกลี้ยงไร้ขนหัวและท้ายแหลม ผลสุกสีแดงเข้ม ส่วนผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีดำเข้ม ผลมีรสชาติขมฝาด
สมอดีงู
พันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ดอกเป็นช่อ ผลมีผิวเกลี้ยงไร้ขนหัวและท้ายแหลม ผลสุกสีแดงเข้ม ส่วนผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีดำเข้ม ผลมีรสชาติขมฝาด

สมอดีงู

สมอดีงู เป็นพรรณไม้ประเภทกลางแจ้ง โดยพรรณไม้ชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้น พบขึ้นได้ในประเทศตามชายป่า โดยส่วนมากจะขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของประเทศไทย[1] ชื่อสามัญ Yellow myrobalan [3] ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia citrina Roxb. ex Fleming ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Myrobalanus citrina Gaertn., Terminalia manii King จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1],[3] ชื่ออื่น ๆ สมอเหลี่ยม (จังหวัดชุมพร), สมอหมึก (จังหวัดพัทลุง) เป็นต้น[1]

ลักษณะของต้นสมอดีงู

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทยืนต้นที่มีขนาดกลาง
    – ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 20-30 เมตร
    – ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 150-200 เซนติเมตร เปลือกต้นมีผิวเรียบมีสีเป็นสีน้ำตาลแกมเทา
    – ลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขาที่บริเวณเรือนยอดของต้นโดยจะแผ่กว้างออกไปจากตัวลำต้น โคนต้นมีลักษณะเป็นพูพอนที่มีขนาดเล็ก
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด
  • ใบ
    – ใบ มีลักษณะของใบเป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ
    – ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม ตรงโคนใบสอบหรือมน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีขน
    – แผ่นใบค่อนข้างหนา และผิวใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว ใบมีต่อมขึ้นบริเวณใกล้โคนใบอยู่ 1-2 คู่ [1]
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2-6 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3-14 เซนติเมตร
    – ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ดอกลักษณะเป็นช่อ โดยจะออกดอกบริเวณตามง่ามใบและบริเวณส่วนยอดของลำต้น
    – ช่อดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-6 เซนติเมตร และดอกไม่มีกลีบดอก
    – ลักษณะของดอกย่อยนั้น ที่โคนกลีบรองดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนที่ปลายกลีบจะแยกออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ และดอกย่อยไม่มีก้าน
    – กลีบมีอยู่ด้วยกัน 5 กลีบ กลีบมีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านนอกกลีบมีผิวเกลี้ยงเกลา ส่วนด้านในจะมีขนขึ้นปกคลุม
    – ดอกมีเกสรอยู่ 10 อัน[1]
  • ผล
    – ผลเป็นรูปทรงมนรีหรือเป็นรูปกระสวย ผลมีผิวเกลี้ยงไร้ขน แต่จะมีสันตื้น ๆ อยู่ 5 สัน ด้านหัวและท้ายของผลแหลม
    – ผลสดมีสีเป็นสีแดงเข้ม ส่วนผลแห้งจะเปลี่ยนสีเป็นสีดำเข้ม และผลมีรสชาติขมฝาด
    – ผลมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 1-2 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร เมื่อดูจากสัดส่วนของผลคร่าว ๆ ผลจะมีขนาดเล็กและเรียว
  • เมล็ด
    – ผลจะมีเมล็ดเป็นรูปทรงรี ลักษณะผิวเมล็ดเป็นผิวขรุขระ และมีสันอยู่ 5 สัน เช่นเดียวกับผล[1],[2]

สรรพคุณ และประโยชน์ต้นสมอดีงู

1. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (ผล)[1]
2. ตำรับยาสมุนไพรของล้านนา จะนำ มารวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีก 3 ชนิด อย่างละเท่า ๆ กัน โดยจะนำมาใช้ทำเป็นทั้งยาสำหรับรับประทานและยาสำหรับทารักษาโรคตะคริวที่ไม่มีไข้และไม่รู้สึกหนาว (ผล)[2]
3. ผลนำมาใช้เป็นยาถ่ายอุจจาระธาตุ (ผล มีสรรพคุณเป็นยาระบายอุจจาระที่มีฤทธิ์แรงกว่าสมุนไพรสมอไทยและสมออื่น ๆ อีกด้วย) (ผล)[1],[2]
4. ผลนำมาใช้ทำเป็นยาแก้โลหิตที่เป็นพิษ แก้พิษดี และพิษเสมหะ (ผล)[1],[2]
5. ผลนำมาใช้ทำเป็นยาแก้ไข้ ช่วยแก้อาการไอ และแก้เจ็บคอได้ (ผล)[1],[2]
6. นำผลมารวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร คือ “ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง” โดยจะมีสรรพคุณเป็นยาในการรักษาอาการท้องผูก (จะใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล) (ผล)[2]
7. ผล มีสารในกลุ่มแทนนินที่มาก จึงนำมาใช้ทำเป็นยาฝาดสมาน ยาที่รักษาโรคเกี่ยวกับช่องท้อง และรักษาโรคท้องร่วงอย่างแรง โดยใช้ผลดิบปริมาณ 5-10 ผล นำมาทุบให้พอแตกจากนั้นนำไปต้มกับน้ำสะอาด 500 ซีซี เป็นเวลาประมาณ 10 นาที พอครบเวลาก็ให้กรองเอาแต่น้ำมาใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (ผล)[1],[2] (บางข้อมูลระบุไว้ว่าผลดิบมีสารแทนนินที่มาก จึงสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสียเรื้อรังได้อีกด้วย)
8. ผล นำมาใช้ฟอกหนังสัตว์และทำเป็นสีย้อมได้อีกด้วย[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สมอดีงู”. หน้า 752-753.
2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สมอดีงู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [17 ต.ค. 2014].
3. MULTILINGUAL MULTISCRIPT PLANT NAME DATABASE. “Terminalia citrina (Gaertn) Roxb. ex Fleming”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.plantnames.unimelb.edu.au. [17 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://efloraofindia.com/