ผักโขมสวน
ใบรูปรีถึงรูปไข่ ตรงปลายใบมน ส่วนโคนใบสอบ หยักคลื่นเล็กน้อย ดอกเป็นช่อสีเป็นสีเขียวอ่อนหรือมีสีแดง

ผักโขมสวน

ต้นผักโขมสวนนี้สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย[1] ซึ่งเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ชอบดินร่วน ต้องการความชื้นสูง และชอบแสงแดดตลอดทั้งวัน ชื่อสามัญ: Joseph’s coat, Chinese spinach, Tampala
ชื่อวิทยาศาสตร์: Amaranthus tricolor L. จัดอยู่ในวงศ์: วงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ ผักโขมสี, ผักขมขาว, ผักขมสวน, ผักขมสี, ผักโขมขาว, ผักโหมป๊าง, ผักโหมป๊าว, ผักหมพร้าว, ผักขมจีน, ผักขมใบใหญ่, ผักโขมใบใหญ่, ผักขมเกี้ยว, เงาะถอดรูป, ผักโขมหนาม, ผักโหมหนาม เป็นต้น[1]

ลักษณะของต้นผักโขมสวน

  • ต้น
    – เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีขนาดเล็ก
    – มีความสูงอยู่ที่ 1.30 เมตร
    – ตั้งตรง และบริเวณส่วนยอดของลำต้นจะมีขนสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ด้วย
  • ใบ
    – ใบเดี่ยว โดยจะออกเรียงเวียนสลับกัน
    – ใบรูปรีถึงรูปไข่ ตรงปลายใบมน ส่วนโคนใบสอบ และขอบใบจะเรียบหรืออาจจะเป็นหยักคลื่นเล็กน้อย
    – ใบที่อยู่บริเวณปลายยอดจะมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น สีแดงสด สีม่วงแดง หรือสีเหลืองทอง เป็นต้น[1]
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ 6-10 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ 15-20 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ดอกเป็นช่อเชิงลดที่บริเวณปลายกิ่ง
    – ดอกจะมีสีเป็นสีเขียวอ่อนหรือมีสีแดง
    – ช่อดอกหนึ่งช่อจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 4-25 มิลลิเมตร[1]
  • ผล
    ผลมีลักษณะผิวที่แห้ง ผลไม่แตก
  • เมล็ด
    – ผลจะมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก[1],[2]

ข้อมูลเพิ่มเติมของต้นผักโขมสวน

  • ต้นและใบ มีสีเป็นสีม่วงอมดำคล้ำ โดยจะมีสีแบบนี้อยู่ประมาณ 2 เดือนนับตั้งแต่เวลาการเพาะเมล็ด พอหลังจากนั้นก็จะเริ่มเปลี่ยนสีไป
  • ส่วนของยอดลงมาวัดระยะได้ประมาณ 1 ใน 3 ของลำต้นจะมีสีแดงสดสะดุดตา
  • สายพันธุ์ Joseph’s coat โดยตรงยอดจะมีสีเป็นสีเหลืองและมีสีแดงที่โคนของใบ ส่วนใบที่อยู่ด้านล่างนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 3 โทนสีก็คือ โคนใบเป็นสีแดง กลางใบเป็นสีเหลือง และปลายใบเป็นสีเขียว ส่วนใบที่อยู่ถัดลงไปด้านล่างลงมาจะมีสีเป็นสีเขียว[3]

สรรพคุณและประโยชน์ผักโขมสวน

1. รากนำมาใช้รักษาอาการช้ำในได้ (ราก)[2]
2. รากมีฤทธิ์เป็นยาแก้พิษต่อร่างกายได้ (ราก)[2]
3. รากนำมาใช้แก้อาการแน่นท้องได้ (ราก)[2]
4. รากนำมาใช้ช่วยรักษาอาการไข้ได้ โดยจะมีฤทธิ์ในการระงับความร้อนภายในร่างกาย (ราก)[2]
5. รากนำมาใช้แก้อาการในเด็กที่ลิ้นเป็นฝ้าละอองและเด็กที่มีอาการเบื่ออาหารได้ (ราก)[2]
6. รากนำมาทำเป็นยาแก้ตกเลือดได้ (ราก)[2]
7. รากมีฤทธิ์ในการช่วยขับน้ำนมของสตรี (ราก)[2]
8. รากมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาอาการฝี และแก้ขี้กลากได้ (ราก)[2]
9. ใบ มีฤทธิ์ในการบำรุงและรักษาสายตา มีวิตามินเอสูง (ใบ)
10. ยอดอ่อนและใบอ่อน นำมารับประทานได้ โดยจะนำมาทำให้สุกด้วยวิธีการลวก นึ่ง หรือต้มก็ได้ ใช้รับประทานร่วมกันกับน้ำพริก ลาบ หรือแกงเลียง เป็นต้น[2]
11. ปลูกเพื่อปรับภูมิทัศน์ให้ดูดีขึ้นได้ เนื่องจากมีลักษณะของต้นที่เป็นจุดเด่นและใบ มีสีสันที่สวยงามแปลกตา แต่ก็ต้องเปลี่ยนต้นปลูกใหม่ในทุก ๆ 3 เดือน[1]

ข้อควรรู้ของต้นผักโขมสวน

มีรายงานจากประเทศบราซิลว่า ต้นเป็นพิษต่อวัว กระบือ และม้า โดยพิษจะออกฤทธิ์ทำให้สัตว์เหล่านี้มีอาการเบื่ออาหาร[2]

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 43 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 6.7 กรัม
โปรตีน 5.2 กรัม
ไขมัน 0.8 กรัม
เส้นใยอาหาร 1 กรัม
น้ำ 84.8 กรัม
วิตามินเอ 12,858 หน่วยสากล
วิตามินบี 1 0.01 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.37 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 1.8 มิลลิกรัม
วิตามินซี 120 มิลลิกรัม
ธาตุแคลเซียม 341 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 4.1 มิลลิกรัม
ธาตุฟอสฟอรัส 76 มิลลิกรัม

(แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.)

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. เอกสารอ้างอิง ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม. ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “เงาะถอดรูป“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
2. โครงการตาสับปะรด นักสืบเสาะภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชุมชนสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “โขมสวน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th. [13 พ.ย. 2013].
3. ไทยเกษตรศาสตร์. “ไม้ดอกล้มลุก : เงาะถอดรูป“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [13 พ.ย. 2013].

รูปจาก
https://arit.kpru.ac.th/
https://www.amkhaseed.com/