ผักแครด
ผักแครด (American weed) เป็นต้นที่มีชื่อเรียกในจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า “หญ้าขี้หมา” เป็นไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะอินเดียตะวันตกที่มีดอกสีเหลืองเล็กจิ๋วอยู่บนต้น มักจะนำยอดอ่อนมาใช้เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารจำพวกแกงทั้งหลาย เป็นผักที่ไม่ค่อยรู้จักและนิยมนักแต่ก็มีประโยชน์ในการนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาอาการพื้นฐานทั่วไป บางทีผักแครดก็มักจะขึ้นไปทั่วอาจทำให้เจ้าของที่ดินรำคาญจึงต้องทำการกำจัดพืชชนิดนี้ออกจากพื้นที่
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักแครด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Synedrella nodiflora (L.) Gaertn.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “American weed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สับกา สาบกา” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “หญ้าขี้หมา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
ลักษณะของผักแครด
ผักแครด เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียวที่เป็นไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะอินเดียตะวันตก มักจะพบตามที่ชื้นแฉะและตามทุ่งหญ้า
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นง่าม ตามกิ่งจะมีขนขึ้นปกคลุมประปราย
ใบ : เป็นใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งจะเป็นแบบตรงข้ามสลับตั้งฉากกัน ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบติดเป็นปีกกับก้านใบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบบาง ผิวใบทั้งสองด้านมีขนปกคลุมอยู่ ก้านใบสั้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบหรือที่ปลายยอดแต่จะมีเฉพาะที่ส่วนยอดของลำต้นเท่านั้น ไม่มีก้านดอก ดอกเป็นสีเหลืองรูปรางน้ำแบ่งออกเป็น 2 วง วงนอกปลายแหลมและมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย วงในปลายมนและผิวเกลี้ยง
ผล : ผลเป็นสีน้ำตาลดำหรือสีดำขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก ที่ปลายมีขนเป็นหนามแหลมยาวหลายอัน
สรรพคุณของผักแครด
- สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาทาแก้โรคไขข้ออักเสบ
– แก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการนำทั้งต้นมาตำแล้วพอกศีรษะ
– แก้หูเจ็บ ด้วยการนำทั้งต้นมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดหู
– สมานบาดแผล ด้วยการนำทั้งต้นมาตำแล้วพอกหรือทา
– แก้อาการปวดขาและปวดเข่า ด้วยการนำทั้งต้นมาตำแล้วพอกขา - สรรพคุณจากใบ
– แก้อาการปวดท้อง ด้วยการนำใบมาคั้นเอาน้ำใช้เป็นยา
ประโยชน์ของผักแครด
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารประเภทแกง
วิธีการกำจัดผักแครด
1. วิธีการเขตกรรมทั่วไป ได้แก่ การถากหรือตัดให้สั้นเพื่อไม่ให้ออกดอก การขุดทิ้ง
2. การใช้สารเคมีต่าง ๆ ได้แก่ สารเคมไกลโพเซต 16 (ไกลโพเซต ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม), ทัชดาวน์ (ไกลโฟเซต, ไตรมีเซียมซอลต์), อามีทรีน (อามีทรีน), โดเรมี (2,4 – ดี ไอโซบิวทิล เอสเทอร์)
ผักแครด เป็นพืชที่มักจะขึ้นในที่ชื้นแฉะและมักจะเป็นวัชพืชส่วนเกิน ทว่าผักแครดนั้นเป็นผักที่สามารถนำส่วนของยอดอ่อนมาปรุงในอาหารจำพวกแกงได้ และยังนำส่วนของทั้งต้นมาแก้อาการพื้นฐานภายนอกได้อีกด้วย ผักแครดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้อาการปวดหัว ปวดท้อง ปวดขาและหัวเข่า แก้หูเจ็บและแก้โรคไขข้ออักเสบได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักแครด”. หน้า 486-487.
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ผักแครด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [19 พ.ย. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (ไพร มัทธวรัตน์). “ผักแครด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [19 พ.ย. 2014].
กรมประมง. “ผักแครด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.fisheries.go.th. [19 พ.ย. 2014].