ผักบุ้งร่วม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยโดดเด่น เป็นยาดีต่อระบบย่อยอาหาร
ผักบุ้งร่วม เป็นพรรณไม้เลื้อยล้มลุก วงศ์ทานตะวัน อยู่ตามพื้นน้ำหรือพื้นที่น้ำขัง ดอกเป็นสีขาวออกเขียวอ่อน กลิ่นหอม

ผักบุ้งร่วม

ผักบุ้งร่วม (Enydra fluctuans Lour) เป็นพืชในวงศ์ทานตะวันที่มักจะพบในที่ชื้นแฉะ มีลักษณะเด่นอยู่ที่ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยทำให้แยกออกได้ง่าย ทั้งนี้อาจจะไม่ใช่พืชที่พบเห็นได้บ่อยนักเพราะมักจะอยู่ตามพื้นน้ำหรือพื้นที่น้ำขัง ในส่วนของการนำมารับประทานนั้นจะนำส่วนของยอดอ่อนมาใช้ ส่วนของสรรพคุณยาสมุนไพรนั้นสามารถนำทั้งต้นมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นพืชเตี้ยตามพื้นน้ำที่น่าสนใจกว่าที่เห็น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักบุ้งร่วม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Enydra fluctuans Lour.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักบุ้งปลิง ผักแป๋ง” คนไทยเรียกว่า “ผักบุ้งรวม ผักบุ้งร้วม” ชาวเงี้ยวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ผักดีเหยียน” ชาวมาเลย์ปัตตานีเรียกว่า “กาล่อ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

ลักษณะของผักบุ้งร่วม

ผักบุ้งร่วม เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นทอดเลื้อยตามพื้นน้ำซึ่งพบได้ทั่วไปในเขตร้อน เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบขึ้นในดินที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขังเล็กน้อย
ลำต้น : ลำต้นเป็นข้อปล้อง ตามข้อจะมีรากไว้สำหรับยึดเกาะ ลำต้นมีลักษณะโค้งแล้วตั้งตรง ภายในกลวงและมีขนบาง ๆ ปกคลุมหรือบางทีอาจจะเกลี้ยง มีกลิ่นหอม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ไปตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาววงรีหรือรูปขอบขนานแคบ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบตัด ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเป็นสีเขียวสด มีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน
ดอก : ออกดอกเป็นกลุ่มหรือเป็นกระจุกค่อนข้างกลม โดยจะออกตามซอกใบหรือบริเวณส่วนยอดของต้น ไม่มีก้านดอก ดอกเป็นสีขาวออกเขียวอ่อน โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ส่วนปลายแผ่ออกเป็นรูปรางน้ำสั้น ๆ ปลายจักเป็นฟันเลื่อย มีใบประดับรูปไข่ 4 อัน มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ปลายเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกสั้น
ผล : เป็นผลแห้งสีดำ ผิวผลเกลี้ยง ล้อมรอบไปด้วยริ้วประดับ

สรรพคุณของผักบุ้งร่วม

  • สรรพคุณจากต้นอ่อน ช่วยทำให้เจริญอาหาร เป็นยาระบาย
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาระบาย แก้โรคเกี่ยวกับน้ำดี
    – แก้โรคผิวหนัง ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้อาการฟกช้ำ แก้อาการบวมทั้งตัวและเหน็บชา ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มเอาควันรมคนเข้ากระโจมหรือการอบสมุนไพร

ประโยชน์ของผักบุ้งร่วม

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้รับประทานได้

ผักบุ้งร่วม เป็นผักที่พบตามน้ำขังหรือพื้นน้ำในเขตร้อนที่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด สามารถมองหาได้ด้วยการดูที่ขอบใบของต้นจะมีลักษณะเป็นฟันเลื่อย สามารถนำยอดอ่อนของต้นมารับประทานได้ ผักบุ้งร่วมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ทำให้เจริญอาหาร เป็นยาระบาย แก้โรคเกี่ยวกับน้ำดีและแก้อาการฟกช้ำได้ เป็นต้นที่เหมาะต่อระบบย่อยอาหารเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักบุ้งร่วม”. หน้า 495-496.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักบุ้งร่วม”. อ้างอิงใน : หนังสือ พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [18 พ.ย. 2014].