ต้นพวงตุ้มหู
ต้นพวงตุ้มหู เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีดอกตูมสีชมพูผลคล้ายเบอร์รี่สีแดง จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ PRIMULACEAE (MYRSINACEAE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia pilosa H.R.Fletcher มีถิ่นกำเนิดถิ่นอาศัยในป่าดิบชื้นใกล้ลำธาร ลำคลองธรรมชาติ และแพร่กระจายอยู่หลายประเทศทั้งจีน อินเดีย เวียดนาม ศรีลังกา ลาว รวมถึงประเทศไทย ชื่ออื่น ๆ เข้าพรรษา (จังหวัดน่าน), ตุ้มไก่ (จังหวัดเลย), ตีนเป็ด[1] เป็นต้น
ลักษณะของต้นพวงตุ้มหู
- ต้น
– เป็นพรรณไม้ประเภทพุ่ม
– ต้นมีความสูง: ประมาณ 0.5-1.5 เมตร
– ลักษณะของลำต้น: ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ลำต้นจะแตกกิ่งก้านน้อยในช่วงบริเวณปลายยอด เปลือกต้นและก้านใบมีสีเป็นสีแดง และมีผิวเรียบไม่มีขน - ใบ
– ใบเป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงเวียนสลับกัน
– ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปรี ค่อนข้างอวบน้ำ ปลายใบกลมมน ตรงโคนใบสอบหรือมน ส่วนขอบใบหยักตื้น
– ผิวใบด้านบนมีจุดขึ้นอยู่เป็นประปรายตามแผ่นใบ ส่วนด้านหลังใบและท้องใบมีผิวเรียบไร้ขน และก้านใบมีขนขึ้นปกคลุม
– มีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 1-3 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร
– ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3-10 มิลลิเมตร[1],[2] - ดอก
– ออกดอกเป็นช่อ ช่อละหลายดอก โดนดอกจะออกที่บริเวณตามซอกใบ
– ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงช่วงเดือนกันยายน[1],[2]
– ก้านช่อดอกมีขนาดความยาวที่เกือบเท่า ๆ กัน ลักษณะของช่อดอกคล้ายกับซี่ร่มแต่หัวห้อยลง
– กลีบดอกมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปไข่ กลีบดอกมีสีชมพูอมม่วง มีกลีบอยู่ 4-5 กลีบ ที่บริเวณโคนกลีบจะเชื่อมติดกัน และกลีบดอกจะเรียงซ้อนกันและมักจะบิดเวียน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
– กลีบรองกลีบดอกจะมีรูปร่างเป็นรูปไข่กว้าง มีกลีบอยู่ 4-5 กลีบ
– เกสรเพศผู้มีก้านเกสรที่สั้น เกสรมีอยู่ 5 อันโดยจะเรียงชิดติด ส่วนรังไข่มีลักษณะกลม ตรงปลายเป็นท่อยาว - ผล
– ผลกลม ผิวผลเป็นมัน และตามผิวจะมีจุดขึ้นเป็นประปราย
– ผลอ่อนจะมีสีเป็นสีเขียว แต่เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดงสด
– ผลมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร[1],[2]
สรรพคุณ และประโยชน์ของต้นพวงตุ้มหู
- ตำรายาของไทยจะนำราก ใช้ทำเป็นยาแก้ไข้
- ตำรายาของไทยจะนำใบ ใช้ทำเป็นยาแก้ไอ[1]
- ต้น ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสำหรับตกแต่งบริเวณตามบ้านเรือนได้[2]
- ลำต้น ใช้ทำเป็นเครื่องจักสาน[1]
- ผล เป็นอาหารของสัตว์ป่าและนก[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
1. ใบและกิ่ง มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ลดปริมาณการสร้างสารอนุมูลอิสระไนตริกออกไซด์ได้ จากผลการทดลองในหลอดทดลอง[1]
2. ใบและกิ่ง มีสาร catechin, gallic acid, quercetin, protocatechuic acid และ p-coumarinic acid อยู่ [1]
สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พวง ตุ้ม หู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 ต.ค. 2015].
2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “พวง ตุ้ม หู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [03 ต.ค. 2015].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://efloraofindia.com/