ตาว หรือรู้จักกันในรูปแบบ “ผลลูกชิด” เป็นปาล์มชนิดหนึ่งที่หายากในปัจจุบัน

0
1855
ตาว หรือรู้จักกันในรูปแบบ “ผลลูกชิด” เป็นปาล์มชนิดหนึ่งที่หายากในปัจจุบัน
ตาว หรือลูกชิด เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ออกดอกเป็นช่อเชิงลดขนาดใหญ่ ออกผลเป็นกลุ่มแบบทะลาย ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน มีสีขาวขุ่น ลักษณะนิ่มและอ่อน
ตาว หรือรู้จักกันในรูปแบบ “ผลลูกชิด” เป็นปาล์มชนิดหนึ่งที่หายากในปัจจุบัน
ออกดอกเป็นช่อเชิงลดขนาดใหญ่ ออกผลเป็นกลุ่มแบบทะลาย ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน มีสีขาวขุ่น ลักษณะนิ่มและอ่อน

ตาว

ตาว (Areng palm) หรือลูกชิด ในปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมากเนื่องจากการที่ป่าถูกทำลายและไม่มีการปลูกเพื่อทดแทน มีชื่อเรียกมากมายจนน่าสับสน เป็นปาล์มชนิดหนึ่งที่มักจะพบริมน้ำ ส่วนมากมักจะพบเป็นลูกชิดที่นำมาทำเป็นของหวาน เป็นต้นที่มีผลเป็นพวงมากมายอย่างโดดเด่น สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ประโยชน์ได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของตาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Arenga pinnata (Wurmb) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Sugar palm” “Aren” “Arenga palm” “Areng palm” “Black – fiber palm” “Gomuti palm” “Kaong” “Irok”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ตาว ชิด” ภาคเหนือเรียกว่า “ตาว ต๋าว มะต๋าว” ภาคใต้เรียกว่า “ฉก ชก ต้นชก” และเรียกผลของชิดว่า “ลูกเหนา” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “เตาเกียด เต่าเกียด” และเรียกผลของชิดว่า “ลูกชิด” จังหวัดตราดเรียกว่า “โตะ” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “กาชก” จังหวัดพังงาและภูเก็ตเรียกว่า “ฉก”จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ลังค่าย หลังค่าย” จังหวัดสตูลเรียกว่า “โยก” จังหวัดตรังเรียกว่า “เนา” จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกผลว่า “ลูกตาว” จังหวัดน่านเรียกผลว่า “ลูกต๋าว” ชาวเมี่ยน ขมุ ไทลื้อและคนเมืองเรียกว่า “ต่าว” ชาวม้งเรียกว่า “ต๋งล้าง” ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “วู้” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ต่ะดึ๊” ลั้วะเรียกว่า “หมึ่กล่าง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ปาล์ม (ARECACEAE)

ลักษณะของต้นตาว

ต้น เป็นปาล์มชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยนั้นจะพบขึ้นตามป่าในเขตจังหวัดน่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่และตาก มักจะพบขึ้นตามป่าที่มีความชื้นสูง ตามริมแม่น้ำลำธารหรือตามโขดหิน
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรงสูง มีขนาดใหญ่กว่าต้นตาล มีสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ
ราก : เป็นระบบรากฝอย รากจะเจริญออกจากใต้ดิน
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีลักษณะแบบเดียวกับใบมะพร้าวแต่จะใหญ่และแข็งกว่า ใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนและแหลม ส่วนโคนใบเป็นรูปเงี่ยงใบหอก ขอบเรียบและผิวหนา หลังใบเป็นสีเขียวเข้มมันวาว ส่วนใต้ใบมีสีขาวนวล เมื่อใบแก่จะห้อยจนปิดคลุมลำต้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดขนาดใหญ่ เป็นดอกชนิด Polgamous มีทั้งดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศอยู่บนต้นเดียวกันแต่อยู่คนละช่อดอก และสามารถออกดอกได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ซึ่งจะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนออกดอกประมาณ 15 – 20 ปี โดยออกดอกตามซอกใบ
ผล : ออกผลเป็นกลุ่มแบบทะลาย ลักษณะของผลเป็นรูปไข่สีเขียว ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่มีสีเหลืองและสีดำหรือมีสีม่วงเข้มจนถึงสีดำ
เมล็ด : เมล็ดมีสีขาวขุ่น ลักษณะนิ่มและอ่อน ในแต่ละผลจะมี 2 – 3 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีขาว ส่วนเมล็ดแก่มีสีดำ เปลือกของเมล็ดจะเป็นกะลาบาง ๆ แข็ง ๆ มีสีดำ ส่วนเนื้อในของเมล็ดจะเรียกว่า “ลูกชิด”

ประโยชน์ของตาว

  • ประโยชน์ของหน่ออ่อน รับประทานและทำเป็นแกงหรือใส่ข้าวเบือได้
  • ประโยชน์ของเนื้อในเมล็ด ลูกชิดสามารถนำมารับประทานสด นำไปต้มหรือนำมาเชื่อมกับน้ำตาลแล้วทานเป็นของหวานได้ นำมาแปรรูปทำเป็นลูกชิดแช่อิ่ม ลูกชิดปี๊บ ลูกชิดกระป๋อง และลูกชิดอบแห้ง
  • ประโยชน์ของยอดอ่อน นำมานึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือนำไปทำแกง ยอดอ่อนที่ขั้วหัวใช้รับประทานเป็นผักสดหรือนำไปดองเปรี้ยวเก็บไว้ใช้แกงส้มหรือทำแกงกะทิ
  • ประโยชน์ของยอดลำต้น นำมาประกอบอาหารได้เช่นเดียวกับยอดมะพร้าว
  • ประโยชน์ของใบอ่อน นำมารับประทานเป็นผักเช่นเดียวกับกะหล่ำปลี
  • ประโยชน์ของแกนในของลำต้นอ่อน ทำเป็นแกงใส่ไก่หรือหมูได้
  • ประโยชน์ของผล งวงหรือดอก น้ำหวานที่ได้จากผลสามารถนำมารับประทานได้เช่นเดียวกับน้ำตาลโตนด และยังนำไปทำน้ำส้มที่เรียกว่า “น้ำส้มชุก” สำหรับใช้ในการปรุงอาหารหรือทำน้ำตาลเมาหรือเอาส่วนที่เคี่ยวเป็น “น้ำผึ้งชุก” ไปหมักสำหรับทำสุราหรือเป็นไวน์ผลไม้
  • ประโยชน์ของลำต้น นำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือใช้ทำเป็นอุปกรณ์การเกษตรได้ ส่วนลำต้นในระยะที่เริ่มออกดอกจะมีแป้งสะสมอยู่ภายใน สามารถนำแป้งมาใช้ประโยชน์ได้ ทำไฟเบอร์ซึ่งจะมีความยาวและมีสีเทาดำ
  • ประโยชน์ของใบ ใบแก่ใช้มุงหลังคาและกั้นฝาบ้าน ใช้ตกแต่งงานกิจกรรมหรือนำมาใช้จักสานตะกร้า ส่วนใบอ่อนนำมาใช้ทำเป็นมวนบุหรี่ ก้านใบเมื่อนำมาเหลารวมกันทำเป็นไม้กวาด
  • ประโยชน์ของก้านทางใบ ทำฟืนสำหรับก่อไฟ นำมาผลิตไฟเบอร์ ในอินโดนีเซียจะนำไปทำเป็นเชือกสำหรับใช้กับเรือประมง
  • ประโยชน์ของเส้นใยจากลำต้น ทำเป็นแปรงได้

คุณค่าทางโภชนาการของลูกชิด ต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของลูกชิด ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 4.9 กรัม
โปรตีน 0.1 กรัม
เส้นใย 0.5 กรัม
ไขมัน 0.2 กรัม
น้ำ 94.7 กรัม
วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 0.01 มิลลิกรัม
แคลเซียม 21 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 3 มิลลิกรัม

พิษของตาว

ควรนำไปต้มก่อนรับประทานเพราะผิวของเปลือกเมล็ด ขนบนผลและน้ำเลี้ยงจากเปลือกผลนั้นมีพิษ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังได้

ตาว เป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก มักจะนำส่วนผลมาแปรรูปรับประทานได้หลากหลาย มีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญต่อร่างกาย เป็นต้นที่เหมาะต่อวิถีชีวิตของคนไทยโบราณ พบได้มากในเมนูของหวานที่มีลูกชิดเป็นส่วนประกอบ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [1 พ.ย. 2013].
หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. (เต็ม สมิตินันทน์).
หนังสือ 108 ซองคำถาม เล่ม 2. (ประวิทย์ สุวณิชย์).
ฐานข้อมูลการประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “โครงการสำรวจพันธุกรรมพืชชิด (Arenga pinnata.) ในจังหวัดน่าน”. (อนุชา จันทรบูรณ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kucon.lib.ku.ac.th. [1 พ.ย. 2013].
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th. [1 พ.ย. 2013].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [1 พ.ย. 2013].
มติชนออนไลน์. “ต๋าว พืชเฉพาะถิ่นนครน่าน หนึ่งของดีแปรรูปได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.matichon.co.th. [1 พ.ย. 2013].
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [1 พ.ย. 2013].
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “ผักพื้นบ้าน ลูกชิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th. [1 พ.ย. 2013].