น้ำตาลแท้ น้ำตาลเทียมหวานเทียบกับเบาหวาน
น้ำตาลมีรสหวาน นิยมใช้ประกอบอาหาร ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ผลิตมาจากอ้อย

น้ำตาล

เมี่อพูดถึงสารที่ให้ความหวาน หลายคนก็คงจะนึกถึง น้ำตาล เป็นอันดับแรก เพราะเป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่ประจำจนเคยชิน แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว สารที่ให้ความหวานได้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดประมาณ 26 ชนิดด้วยกัน แต่บางชนิดยังอยู่ในขั้น ตอนการรออนุมัติจาก FDA อยู่ ทั้งนี้เมื่อสรุปโดยรวมแล้วก็สามารถแบ่งสารให้ความหวานออกได้เป็น 3 ชนิดคือ

1. สารให้ความหวานที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย

2. สารให้ความหวานที่ใช้ทดแทนความหวานได้ แต่ไม่ให้พลังงาน ส่วนใหญ่จะเรียกว่าน้ำตาลเทียม

3. สารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำมาก เรียกว่าน้ำตาลแอลกอฮอล์

ตัวอย่างสารให้ความหวาน
สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน  น้ำตาลเทียม  น้ำตาลแอลกอฮอล์
เดกซ์โทรส แซ็กคาริน ซอร์บิทอล
น้ำเชื่อมกลูโคส ซูคราโลส แมนนิทอล
ฟรักโทสชนิดเกล็ด แอสปาร์แทม ไซลิทอล
ไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป (น้ำเชื่อมฟรักโทสเข้มข้น) นีโอแทม ไอโซมอลต์
น้ำผึ้ง มอลทิทอล
น้ำตาล กลีเซอรอล
มอลโทเดกซ์ทริน พอลิเดกซ์โทรส
ทรีฮาโลส
สตีเวีย
น้ำผลไม้เข้มข้น

[adinserter name=”เบาหวาน”]

น้ำตาลเทียม

เป็นน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงานและไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงสามารถใช้กับคนที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานได้ อย่างเช่น ขนมหรือของหวานที่ผลิตจากต่างประเทศและส่งเข้ามาขายในไทย โดยจะมีข้อความระบุว่า Sugar Free ซึ่งหมายความว่าไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม แต่ทั้งนี้ก็อาจจะมีการใช้สารให้ความหวานแทน อย่างไรก็ตามในขนมและของหวานเหล่านี้ แม้ว่าจะได้มีการใช้น้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานแทน แต่ก็อาจมีส่วนผสมที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง ดังนั้นจึงอาจให้พลังงานสูงและเสี่ยงอ้วนได้ไม่แพ้ขนมที่ใช้น้ำตาลจริงเลยทีเดียว

คาร์โบไฮเดรตและสารให้ความหวาน

น้ำตาล เป็นสารให้ความหวานที่ให้พลังงานสูงและจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมให้กับอาหาร ทำให้ขนมอบกรอบหรือขนมเชื่อมมีสีสันที่สวยงามและน่าทานมากขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มรสชาติให้มีความอร่อยมากขึ้นด้วย โดยทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวานนั้น ได้กล่าวว่าพลังงานคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับในแต่ละคนนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับนิสัยการบริโภคเป็นหลัก ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงควรหลีกเลี่ยงน้ำตาลที่ให้พลังงานสูงเกินไป เพราะจะยิ่ง เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น เช่น น้ำตาลกรวด น้ำผึ้ง น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บและน้ำตาลฟรักโทสสกัด เป็นต้น
โดยจากความเชื่อดังกล่าวนี้เกิดจากการที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตที่เมื่อทานเข้าสู่ร่างกายแล้วจะสามารถย่อยและดูดซึมได้เร็วกว่าแป้ง เป็นผลให้มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ยังไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้มากนัก นอกจากนี้จากการทำการวิจัยก็พบอีกว่า น้ำตาลที่ได้จากผลไม้และนมนั้นจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าแป้งเป็นอย่างมาก จึงสามารถทานได้ตามปกติโดยไม่ต้องกังวลนั่นเอง

น้ำตาลและเบาหวาน

ความเชื่อที่ว่าน้ำตาลเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานและควรให้ผู้ป่วยงดการทานน้ำตาลอย่างเด็ดขาดนั้น มีรายงานไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 ซึ่งในยุคนั้นนายแพทย์เฟรเดอริก อัลเลน Frederick Allen ได้เป็นผู้กล่าวไว้ แต่เนื่องจากในยุคสมัยนั้นไม่มีเครื่องมือทันสมัยที่จะสามารถหาเหตุผลมาสรุปข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ เป็นผลให้ความคิดดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนและยังไม่มีผู้ทำตามมากนัก ซึ่งในเวลาต่อมา ยุคสมัยหลังจากนั้นก็มีนักวิจัยให้คำแนะนำเช่นเดียวกับนายแพทย์ เฟรเดอริก อัลเลน ว่าน้ำตาลเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานและไม่ควรทานเด็ดขาด ด้วยการยกเหตุผลขึ้นมาว่า น้ำตาลนั้นเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ซึ่งโดยปกติร่างกายของคนเราจะสามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารในรูปของโมเลกุลเชิงเดี่ยวได้ง่ายและรวดเร็วมาก การทานน้ำตาลจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบหลายๆ อย่างนั่นเอง

และจากข้อสรุปดังกล่าวนี้ก็ได้เกิดการแนะนำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานหลีกเลี่ยงการทานน้ำตาลอย่างเด็ดขาด แต่ในยุคสมัยนั้นก็ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับน้ำตาลมากนัก จนเมื่อปี ค.ศ.1970 นักวิจัยหลายๆ คนไม่มั่นใจกับข้อสรุปดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับน้ำตาลและผู้ป่วยเบาหวานอีกครั้ง จนได้ข้อสรุปที่มีความละเอียดมากขึ้นในปี ค.ศ. 1993 กล่าวว่า

การกินน้ำตาลโดยคิดเป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยไม่ได้เพิ่มคาร์โบไฮเดรตเข้าไปในมื้ออาหารอีก จะไม่ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 แต่อย่างใด

ดังนั้นจึงสรุปว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่จำเป็นต้องงดการทานน้ำตาล นั่นก็เพราะว่าน้ำตาลถือเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ดังนั้นเมื่อทานน้ำตาลเข้าไป ร่างกายจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากอะไร แต่จะคิดรวมเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับในวันนั้นๆ เลยนั่นเอง รวมถึงคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากผลไม้ ข้าวและแป้งด้วย ดังนั้นน้ำตาลที่ทานเข้าไปจะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับปริมาณของคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดที่ทานในวันนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากทานน้ำตาลและอาหารคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ รวมกันไม่เกินจากค่าที่กำหนดในแต่ละวัน ก็จะไม่มีผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวานแน่นอน  [adinserter name=”เบาหวาน”]

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากของหวานที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบนั้นมักจะมีไขมันอยู่ด้วย ซึ่งจะยิ่งเพิ่มพลังงานและแคลอรีในอาหารให้สูงขึ้นไปอีกและเนื่องจากน้ำตาลนั้นให้แต่พลังงาน แต่ไม่ได้ให้สารอาหารจำเป็นด้วย จึงไม่แนะนำให้กินน้ำตาลมากเกินไป โดยควรเน้นการกินคารโบไฮเดรตจากอาหารชนิดอื่นมากกว่าน้ำตาล ในปัจจุบันนี้จึงเห็นได้ว่ามีการแนะนำให้นับคาร์โบไฮเดรตจากอาหารที่ทานเข้าไปในแต่ละวันเสมอ

น้ำตาลถูกลืมว่าเป็นคาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรตเหมือนกัน ทำให้เผลอทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตจนเพลิน เป็นผลให้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นในที่สุด โดยน้ำตาลนั้นถูกจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่มีเส้นใยอาหารและประกอบไปด้วยกลูโคส 50% ฟรักโทส 50% ซึ่งการให้พลังงานของน้ำตาลนั้นก็จะเท่ากับการให้พลังงานของคาร์โบไฮเดรตในข้าวและแป้ง คือ 1 กรัม ต่อพลังงาน 4 แคลอรี เพียงแต่ว่าพลังงานที่ได้จากน้ำตาลจะถูกดูดซึมไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วกว่านั่นเอง ดังนั้นจึงได้มีการจำกัดปริมาณของน้ำตาลที่ควรทานในแต่ละวันไว้ที่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดที่ควรได้รับในแต่ละวัน และต้องคิดรวมเป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับในแต่ละวันด้วย ซึ่งกองโภชนาการก็ได้แนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชานั่นเอง

และจากรายงานการสำรวจการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปี พ.ศ. 2558 ก็พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลสูงขึ้นมากโดยเฉลี่ยมากถึงวันละ 16.7 ช้อนชาเลยทีเดียว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยมีปัญหาอ้วนเยอะ และมีภาวการณ์ดื้ออินซูลินจนทำให้เป็นเบาหวานอีกด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะคนไทยได้ลืมไปแล้วว่าน้ำตาลก็เป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบเดรต และไม่ได้ใส่ใจโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพมากนัก โดยหากเทียบระหว่างน้ำตาลกับข้าวแล้ว จะพบว่าน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะให้พลังงานมากเท่ากับข้าวครึ่งทัพพีเลยทีเดียว หรือให้พลังงานประมาณ 48 แคลอรีนั่นเอง ดังนั้นหากปล่อยให้ตัวเองเพลิดเพลินกับการทานน้ำตาลมากเกินไปก็จะส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพตามมาแน่นอน โดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานอยู่แล้ว

นอกจากนี้สารให้ความหวานที่ให้พลังงานสูงพอๆ กับน้ำตาลก็มีหลายชนิดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น น้ำเชื่อมฟรักโทส น้ำผึ้ง น้ำตาลโตนด มอลโส กากน้ำตาลและเดกซ์โทส เป็นต้น ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการทานน้ำตาลเหล่านี้มากที่สุด เพราะหากทานมากเกินไปก็จะก่อให้เกิดผลเสียได้ นอกจากนี้ก็ยังมีน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่ต้องระวังเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าน้ำตาลชนิดนี้จะมีผลต่อระดับน้ำตาลน้ำกว่าน้ำตาลทรายแต่ก็ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตเช่นกัน ดังนั้นหากเมื่อรวมๆ แล้วในวันหนึ่งได้รับน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ เกินค่าที่กำหนด ก็จะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงได้ และที่สำคัญเมื่อทานมากเกินไปก็จะทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายท้องและอาจท้องเสียได้อีกด้วย

ฟรักโทสและเบาหวาน

ฟรักโทสเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากผักผลไม้ น้ำผึ้งและกากน้ำตาล รวมถึงน้ำตาลที่อยู่ในรูปของน้ำตาลปี๊บและน้ำตาลปาล์มด้วย ส่วนในทางการค้านั้น ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลจากข้าวโพดมากที่สุด ซึ่งก็จะใช้เป็นสารให้ความหวานในเครื่องดื่มต่างๆแทนน้ำตาลทราย นั่นก็เพราะว่าน้ำตาลชนิดนี้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.2 เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามน้ำตาลชนิดนี้ก็อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้เหมือนกัน เพียงแต่จะน้อยกว่าน้ำตาลซูโครส ทั้งยังมีดัชนีน้ำตาลที่ต่ำแค่ประมาณ 20 จึงนิยมนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความหวานในอาหารของผู้ที่ป่วยเบาหวานนั่นเอง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าฟรักโทสจะสามารถใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้ ก็ต้องระมัดระวังในปริมาณที่ทานด้วย เพราะหากได้รับมากเกินไปก็จะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอลคอเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มระดับน้ำตาลแต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถทานน้ำตาลฟรักโทสได้แต่ต้องทานในปริมาณที่พอเหมาะ ส่วนผู้ที่มีค่าไขมันผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยงการทานฟรักโทสในปริมาณมากอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการทานน้ำตาลฟรักโทส ก็แนะนำให้ทานจากที่มีอยู่ในธรรมชาติ คือในผักและผลไม้จะดีที่สุด

และอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือข้อเสียของฟรักโทสนั่นเอง โดยน้ำตาลฟรักโทส หากทานในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะ จนทำให้รู้สึกแน่นท้อง ปวดท้องได้ ดังนั้นจึงต้องจำกัดอาหารที่มีฟรักโทสในปริมาณที่พอเหมาะเช่นกัน หรือควรเลือกทานอาหารที่มีฟรักโทสน้อยๆ เช่น บลูเบอร์รี่ ถั่วแขก แครอท กล้วยและอะโวคาโด เป็นต้น

ปริมาณฟรักโทสในอาหารทั่วไป
ชนิดอาหาร ปริมาณ ฟรักโทส (กรัม) คาร์โบไฮเดรต (กรัม)
น้ำอัดลม (ไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป) 325 มล. 22 40.0*
ผลไม้
แอปเปิ้ล (ทั้งเปลือก) 1 ผลกลาง 8.1 19.1
กล้วยหอม 1 ผลกลาง 5.7 27.0
สตรอว์เบอร์รี่ (หั่นสไลซ์) ½ ถ้วยตวง 4.2 12.7
แคนตาลูป (หั่น) 1 ถ้วยตวง 3.0 13.1
พีช (สด) 1 ผลกลาง 1.5 9.3
สับปะรด (ชนิดบรรจุกระป๋องในน้ำเชื่อม) 1 ผลกลาง 8.1 19.5
องุ่น (แดง/เขียว) ½ ถ้วยตวง 6.3 13.9
น้ำส้มคั้น (เข้มข้น) 120 มล. 3.2 13.4
ผัก
มะเขือเทศสด 1 ผลกลาง 1.7 4.8
หน่อไม้ฝรั่ง (สุก) ½ ถ้วยตวง 0.7 3.7
มันฝรั่งอบบด ½ ถ้วยตวง 0.7 29.1
มันฝรั่งอบ 1 ผลกลาง 0.6 36.6
บรอกโคลี (สุก) ½ ถ้วยตวง 0.6 5.6
พริกหวานสีเขียว (สุก) ½ ถ้วยตวง 0.5 2.3
ข้าวโพดสีเหลือง (สุก) ½ ถ้วยตวง 0.4 20.6

[adinserter name=”เบาหวาน”]

ไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป ( High Fructose Corn Syrup )

เป็นสารให้ความหวานชนิดที่นิยมใช้กับเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่สุด โดยสารให้ความหวานชนิดนี้จะประกอบไปด้วยฟรักโทส 50% และกลูโคส 45% ซึ่งสารเพิ่มความหวานชนิดนี้ก็ทำมาจากข้าวโพดนั่นเอง แต่ได้มีการเติมเอนไซม์ลงไปในขั้นตอนที่เป็นน้ำเชื่อมด้วย นั่นก็เพื่อเปลี่ยนกลูโคสครึ่งหนึ่งให้กลายเป็นฟรักโทสที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาล แล้วจึงนำมาใช้ใส่ในน้ำอัดลมเพื่อเพิ่มความหวานลงไป นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล HFCS หรือน้ำตาลซูโครส และน้ำผึ้งก็ล้วนมีส่วนผสมของน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคสใกล้เคียงกันทั้งสิ้น เพียงแต่การดูดซึมของน้ำตาลแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน และที่สำคัญเมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและกระบวนการเผาผลาญแล้ว ร่างกายของคนเราจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นน้ำตาลชนิดไหนนั่นเอง

และเนื่องจากน้ำตาลทั้ง 3 ชนิดนี้เมื่อทานเข้าไปจะได้น้ำตาลที่เป็นชนิดเดียวกันเข้าสู่กระบวนการเผาผลาญ ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกกินน้ำตาลชนิดไหนก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะฮอร์โมนควบคุมความอิ่มจะทำงานเหมือนกัน แต่น้ำตาล HFCS ก็มีข้อดีอยู่บ้างคือสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าน้ำตาลชนิดอื่น โดยสามารถคงความชื้นได้ดีและไม่ทำให้อาหารแห้งอีกด้วย จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด
ทั้งนี้ก็สรุปได้ว่าน้ำตาล HFCS ก็เหมือนกับน้ำตาลทั่วไปที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ดังนั้นหากทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป ก็ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นและไม่ทำให้อ้วนแน่นอน

น้ำผึ้ง

แม้ว่าน้ำผึ้งจะเป็นสารให้ความหวานที่ได้จากธรรมชาติ แต่ก็มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคสอยูในส่วนประกอบมากถึง 70% รวมถึงมีซูโครสอยู่ 10% ด้วย และแม้ว่าน้ำผึ้งจะมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน หรือหากต้องการให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอก็จะต้องทานน้ำผึ้งในปริมาณมากนั่นเอง เช่น ต้องการธาตุเหล็กอย่างเพียงพอจะต้องทานน้ำผึ้ง 11 ถ้วยตวงหรือต้องการแคลเซียมเท่ากับนมขาดไขมัน 1 ถ้วยตวง จะต้องทานน้ำผึ้งทั้งหมด 19 ถ้วยตวง และด้วยปริมาณดังกล่าวนั้นก็อาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนเป็นผลเสียได้
อย่างไรก็ตาม ฟรักโทสเป็นน้ำตาลที่ไม่มีผลต่อการกระตุ้นการหลั่งอินซูนลิน จึงไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเหมือนกับกลูโคสและไม่ทำให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำแค่ 20 เท่านั้น ซึ่งต่างจากกลูโคสที่มีดัชนีน้ำตาลสูงถึง 100 แต่เนื่องจากในน้ำผึ้งนั้นมีน้ำตาลทั้งสองชนิดรวมกัน จึงพบว่าน้ำผึ้งมีดัชนีน้ำตาลสูงถึง 87 เลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นระดับที่สูงกว่าธัญพืชและผักผลไม้หลายชนิด ดังนั้นการทานน้ำผึ้งจึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษเช่นกัน

ส่วนการดูดซึมของน้ำตาลฟรักโทสจะสามารถดูดซึมได้ช้ากว่าน้ำตาลชนิดอื่นๆ และต้องผ่านเข้าสู่ตับ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการหลั่งอินซูลินออกมาอย่างช้าๆ จึงทำให้รู้สึกอิ่มนานและทานอาหารในมื้อต่อไปได้น้อยลง อีกทั้งเมื่อทานฟรักโทสอย่างเดียวหรือทานร่วมกับอาหารก็จะกระตุ้นการหลั่งอินซูนลินช้ากว่าน้ำตาลอีกด้วย
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการทานฟรักโทสในรูปของน้ำผึ้งนั้นไม่สามารถแทนการทานฟรักโทสรูปของผักผลไม้ได้ เพราะฟรักโทสในน้ำผึ้งรวมอยู่กับกลูโคสครึ่งต่อครึ่ง จึงทำให้น้ำตาลถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งยังไม่มีใยอาหารที่จะช่วยชะลอการดูดซึมได้ ในขณะที่ผักผลไม้นั้น อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เส้นใยอาหารและสาระสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย จึงทำให้น้ำตาลถูกดูดซึมช้าลงและยังมีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้น้ำผึ้งก็มีข้อเสียอีกด้วย คือจะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะและมีอาการปวดท้องได้ ทั้งยังให้พลังงานสูง โดยน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะจะให้พลังงานมากถึง 64 แคลอรี จึงมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและโรคเบาหวานได้

10 วิธีลดน้ำตามและความหวาน

และเพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลเบาหวาน ควรลดปริมาณน้ำตาลและความหวานลงบ้าง โดยมี 10 วิธีในการลดน้ำตาลและความหวานให้ได้ผลดังนี้

1.หยุดเติมน้ำตาล เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเติมน้ำตาลลงในเครื่องดื่มหรืออาหารต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้ในแต่ละวันได้รับน้ำตาลในปริมาณที่สูงเกินไปจึงเป็นผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้นการลดปริมาณน้ำตาลลง ด้วยการหยุดเติมน้ำตาลลงในเครื่องดื่มหรืออาหารต่างๆ ก็จะช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่ได้รับในแต่ละวันได้ดี หรือหากสามารถลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีความหวานลงได้ก็จะดีมาก อย่างไรก็ตามสำหรับใครที่ชอบรสชาติหวานก็อาจใช้น้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำใส่ลงไปแทนด็ได้เหมือนกัน

2.หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง โดยเฉพาะลูกอม ขนมหวาน ช็อกโกแลตหรือขนมจุบจิบต่างๆ แม้ว่าจะมีคำโฆษณาว่าใส่น้ำตาลเพื่อสุขภาพก็ตาม เพราะไม่ว่าน้ำตาลชนิดใดก็ล้วนให้พลังงานด้วยกันทั้งสิ้น

3.เลือกทานผลไม้เป็นหลักแทนการทานขนมหวาน เพราะในผลไม้นั้นนอกจากจะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีเส้นใยอาหารและวิตามิน แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอีกมากมายหลายชนิดอีกด้วย ซึ่งก็จะช่วยต้านทานโรคต่างๆ ได้ดี พร้อมกับชะลอการดูดซึมน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน แต่ทั้งนี้การทานผลไม้ก็ควรจำกัดปริมาณให้มีความเหมาะสมที่สุด เพราะในผลไม้มีฟรักโทสที่หากได้รับมากเกินก็ส่งผลเสียเช่นกัน

4.พยายามอย่าดื่มน้ำผลไม้มากเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ และเนื่องจากในน้ำผลไม้ไม่มีใยอาหารเช่นเดียวกันในผลไม้สด จึงไม่มีตัวช่วยในการชะลอการดูดซึมนั่นเอง  [adinserter name=”เบาหวาน”]

5.ลดปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแปรรูปให้น้อยที่สุด เพราะอาหารเหล่านี้ทำมาจากแป้งที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลและเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วพอๆ กับการทานกลูโคสเลยทีเดียว แถมคาร์โบไฮเดรตที่เหลือเป็นส่วนเกินก็จะถูกเก็บไว้เป็นไขมันในร่างกาย ทำให้มีปัญหาโรคอ้วนและไขมันในเลือดสูงตามมาอีกด้วย ดังนั้นควรทานในปริมาณที่น้อยลงหน่อยจะดีกว่า

6.ระมัดระวังในการเลือกของว่าง โดยเฉพาะของว่างไร้ไขมัน เพราะถึงแม้ว่าจะปราศจากไขมันแต่ในของว่างเหล่านั้นก็อาจมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นตัวการหนึ่งในการทำร้ายสุขภาพอยู่ดี เพราะฉะนั้นก่อนทานก็ควรดูให้ดีก่อนเสมอฃ

7.อ่านฉลากโภชนาการก่อนทานทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องควบคุมการทานน้ำตาลและพลังงานในแต่ละวันมากเป็นพิเศษ แต่หากแพทย์ห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้ผู้ป่วยทานน้ำตาลก็อาจใช้สารเพิ่มความหวานที่มีพลังงานต่ำมากใส่ลงไปแทนก็ได้ ซึ่งสารเพิ่มความหวานบางชนิดก็อาจมีความหวานมากกว่าน้ำตาลหลายเท่าเลยทีเดียว หรือในกรณีที่ซื้ออาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่ม ก็ควรเลือกที่ระบุไว้ว่าปราศจากน้ำตาลนั่นเอง

8.ถึงแม้ว่าจะสามารถใช้สารให้ความหวานอื่นๆ แทนน้ำตาลได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ใช้มากเกินไปเช่นกัน เพราะสารเหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความอยากของหวานและคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น ทำให้อดใจไม่ไหวจนเผลอทานอาหารอื่นๆที่มีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตสูงในที่สุด นอกจากนี้การใช้สารให้ความหวานในปริมาณมาก ก็อาจส่งผลต่อการลดระดับโครเมียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ทำหน้าที่ในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย

9.คำนวณปริมาณน้ำตาลที่ทานอยู่เสมอ เพื่อระมัดระวังไม่ให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนเป็นผลเสียได้นั่นเอง และควรคำควณรวมกับปริมาณของคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับในแต่ละวันด้วย

การใช้น้ำตาลเทียมอาจช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการชดเชยความหวานที่ขาดไปได้และมีความสุขกับการทานอาหารที่มีพลังงานต่ำกว่ามากขึ้น แต่ก็ไม่ควรใช้น้ำตาลเทียมบ่อยเกินไป และอย่าเพิ่มปริมาณอาหารชนิดนั้นเพราะรู้ว่าอาหารอาจไม่มีพลังงานจากน้ำตาลแล้ว เพราะจริงๆ แล้วในอาหารแต่ละชนิดยังจะมีพลังงานที่ได้จากสารอาหารชนิดอื่นๆ อยู่ด้วยนั่นเอง

น้ำตาลเทียมและเบาหวาน

น้ำตาลเทียมทุกวันนี้มีมากมายหลายชนิดหลายยี่ห้อ ซึ่งก็มีทั้งที่ผ่านการอนุมัติแล้วและยังไม่ได้รับการอนุมัติ ยกตัวอย่างเช่น แซ็กคาริน แอสปาร์แทม แอดวานแทม สตีวีออลไกลโคไซด์ อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม ซูคราโลส  นีโอแทม และสารสกัดจากหญ้าหวาน เป็นต้น ซึ่งคำแนะนำที่ให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาลทั่วไปนั้นก็มีมาตั้งแต่สมัยอดีต ด้วยความคิดที่ว่าผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรทานน้ำตาลอย่างเด็ดขาดนนั่นเอง ส่วนสารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียมที่ได้รับการอนุมัตินั้น ก็ได้รับการรับรองแล้วว่าสามารถทานในผู้ป่วยเบาหวานและหญิงตั้งครรภ์ได้ เพียงทานในปริมาณที่กำหนด ก็ไม่เป็นอันตรายแน่นอน

ระดับความปลอดภัย Acceptable Daily Intake หรือ ADI คือ ปริมาณสูงสุดที่จะบริโภคได้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย หรือไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายตลอดชีวิต

ตารางเปรียบเทียบระดับความปลอดภัย (ADI) 
ของสารให้ความหวานชนิดที่ไม่ให้พลังงานงาน
ผลิตภัณฑ์ ระดับ ADI  มก./น้ำหนักตัว 1 กก./วัน ปริมาณเฉลี่ย (มก.)
น้ำอัดลม 1 กระป๋อง ชนิดผง 1 ซอง
แอสปาร์แทม 50 200 35
อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม 15 40 50
ซูคราโลส 5 70 5
แซ็กคาริน 5 14 40

[adinserter name=”เบาหวาน”]

ความปลอดภัยจากการใช้น้ำตาลเทียมในหญิงตั้งครรภ์

จากการวิจัยพบว่าสารให้ความหวานไม่มีผลเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และหญิงตั้งครรภ์แต่อย่างใด เช่น สารแอสปาร์แทม สามารถทานได้ในระดับสามเท่าของระดับความปลอดภัยโดยไม่มีผลใดๆ และสารแซ็กคาริน พบว่าสามารถผ่านรกเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้ แต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์เช่นกัน แต่ทั้งนี้ในประเทศแคนาดา ประเทศในยุโรปและประเทศไทย ไม่อนุญาติให้ใช้แซ็กคารินในหญิงตั้งครรภ์อย่างเด็ดขาด

แอสปาร์แทม

แอสปาร์แทม มีชื่อทางการค้าแบบเต็ม ๆ ว่า “ NUTRASWEET / EQUAL / SUGAR TWIN ” โดยสารนี้สำหรับคนไทยเรานั้นก็ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มหรือขนมหวานหลายประเภท สารนี้เป็นโปรตีนที่สามารถเกิดได้เองที่บริเวณของระบบทางเดินอาหารคนเรา เป็นสิ่งที่มีรสชาติหวานมากกว่าน้ำตาลธรรมดาทั่วไปหลายเท่า (หวานมากกว่าถึง 200 เท่า) หากคิดเรื่องของแคลอรีสารตัวนี้หากทานเข้าไปหนึ่งกรัมคุณจะได้รับแคลอรีจำนวน 4 แคลอรีเท่านั้นซึ่งแน่นอนว่านั่นเป้นอะไรที่น้อยมากน้อยกว่าการทานน้ำตาลทั่วไปอยู่แล้ว (ปรียบเทียบโดยวัดจากปริมาณที่เท่ากันเท่านั้น)

ปริมาณเฉลี่ยของแอสปาร์แทมในอาหารทั่วไปมีดังนี้
ชนิดอาหาร ปริมาณ  แอสปาร์แทม (มิลลิกรัม)
น้ำอัดลม 1 กระป๋อง (325 มล.) 225
โยเกิร์ต 8 ออนซ์ (240 กรัม) 80
เจลาติน 4 ออนซ์ (120 กรัม) 80
ซีเรียล ½ ถ้วยตวง 32
ของหวานแช่แข็ง 1 หน่ายบริโภค 47
น้ำตาลเทียม 1 ซอง 37

แอสปาร์แทม เป็นสารที่ได้รับการยอมรับจากทางด้านองค์การอาหารและยาของประเทศอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าสามารถนำมาใช้ทดแทนการทานน้ำตาลได้ เนื่องจาก เป็นสิ่งที่สามารถให้รสหวานได้เช่นเดียวกัน สำหรับใครที่กำลังอยากที่จะนำเอาแอสปาร์แทมมาใช้อยู่ละก็เราอยากจะบอกว่าจรงนี้เลยว่าสิ่งนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดเล็กน้อย นั่นคือ

1.จะต้องไม่ใช้ในการประกอบอาหารที่ต้องตั้งบนกระทะหรือเตาไฟแบบร้อนๆ เป็นอันขาด เพราะ สารตัวนี้มีความสามารถอย่างหนึ่งที่อันตรายหากเจอความร้อน คือ กรดอะมิโนที่อยู่ภายในสามารถที่จะรวมตัวเข้าหากันได้ กรดตัวนี้คือหน่วยย่อยอย่างหนึ่งของโปรตีนสองประเภท ( กรดแอสปาร์ติกกับฟีนิลอะลานีน ) เมื่อใดก็ตามที่สารตัวนี้เกิดได้รับความร้อนที่มีลักษณะสูงมากและรับความร้อนเป็นเวลานานเมื่อนั้นก็จะทำให้เกิดการแตกตัวและเมื่อใดที่การแตกตัว เกิดเมื่อนั้นความหวานที่เคยมีก็จะค่อย ๆ ลดลงและกลายเป็นมีรสชาติแบบเฝื่อนแทน ดังนั้นหากคิดที่จะนำเอาสารนี้ไปใช้จริงๆ ควรใช้เมื่ออาหารได้ถูกปรุงเสร็จแล้วจะดีกว่าและควรปรุงเมื่อได้ทำการยกอาหารลงมาจากกระทะหรือเตาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น เติมทีหลังไม่ได้เสียหายอะไร เติมทีหลังรสหวานนั่นจะยังคงอยู่ จริง ๆ แล้วสารตัวนี้สามารถที่จะถูกละลายได้เป็นอย่างดีหากอยู่ในน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ( โดยประมาณ ) สามารถละลายในกรดหรือสิ่งที่รสชาติเปรี้ยวได้ดีมากที่สุด

2.โรคหนึ่งที่หากใครป่วยอยู่ต้องห้ามทานสารตัวนี้เป็นอันขาด คือ โรคฟีนิคคีโทนยูเรีย ( PKU ) เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากเรื่องของพันธุกรรม ใครที่ป่วยเป็นโรคนี้สาเหตุเกิดจากการขาดตัวเอนไซม์ที่มีความสามารถในการเข้าไปสลายกรดแอมิโนที่จำเป็นอย่างฟีนิลอะลานีนโดยกรดตัวนี้เป็นกรดที่มีอยู่ในแอสปาร์แทมอยู่แล้ว สำหรับเป็นโรคนี้ค่อนข้างพบได้น้อยมากในโลก ( พบได้ประมาณหนึ่งใน 15,000 จนถึง 1,000,000 คน ) และยังขึ้นอยู่กับเรื่องของเชื้อชาติร่วมด้วย ส่วนใหญ่ในเด็กแรกเกิดจึงมักที่จะได้รับการตรวจหาโรคนี้แล้ว

สารอะเซซัลเฟมโพแทสเซียม ( Ace-K )

สารตัวนี้เป็นสารที่มีความหวานสูงมาก หวานมากกว่าน้ำตาลถึงสองร้อยเท่า มีระดับของ ADI อยู่ที่ 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ( ต่อหนึ่งวัน ) หากใครที่มีน้ำหนักตัวมากถึง 60 กิโลกรัมสามารถทานสารตัวนี้ได้เพียงแค่ 900 กรัมเท่านั้นซึ่ง 900 กรัมนี้หากจะเทียบกับน้ำตาลก็เท่ากับทานน้ำตาลไปแล้ว 150 กรัม ( ประมาณ 36 ช้อนชาหรือดื่มน้ำอัดลม 4 กระป๋อง ) ตามปกติคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานก็มักจะทานน้ำตาลเทียมน้อยมาก เฉลี่ยจะอยู่ที่ 40 มิลลิกรัมต่อการดื่มน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ( แบบขนาด 325 ซีซี ) และประเภทเติมเพื่อใช้แทนน้ำตาลจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมต่อซอง สารตัวนี้จะค่อนข้างทนความร้อนได้ดีมากกว่าแอสปาร์แทมมาก เมื่อทนได้ดีจึงไม่เกิดการสูญเสียรสชาติความหวานแต่อย่างใดทำให้ในภาคของอุตสาหกรรมนิยมใช้สารตัวนี้มากกว่าสารแอสปาร์แทมไปโดยปริยาย    [adinserter name=”เบาหวาน”]

แซ็กคาริน

สารหนึ่งที่ค่อนข้างมีความน่าสนใจมากและเป็นหนึ่งในประเภทของน้ำตาลเทียม นั่นคือ สารแซ็กคาริน เป็นน้ำตาลเทียมตัวแรกที่ได้เป็นที่ยอมรับค่อนข้างมากในอดีตและยังได้รับอนุญาตให้ออกมาวางขายตามท้องตลาดทั่วไปได้อีกด้วยแต่ในช่วงเวลาต่อมาก็ต้องถูกระงับการขายไป เนื่องจาก มีงานวิจัยพบว่าสารตัวนี้หากทานไปแล้วสามารถที่จะก่อให้เกิดมะเร็งที่บริเวณของกระเพาะอาหารได้ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่อันตรายมากจึงทำให้ต้องยุติการขายลง แต่เมื่อไม่นาน มานี้กลับมีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริง ๆ แล้วสารตัวนี้ไม่ได้เป็นสารที่ไม่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้แต่อย่างใดทำให้สารตัวนี้กลับมาได้รับอนุญาตให้วางขายได้ใหม่อีกรอบที่สหรัฐอเมริกา สารตัวนี้เป็นสารที่ให้ความหวานสูงเรียกว่า สูงกว่าน้ำตาลทั่วไปถึง 200-700 เท่าเลยก็ว่าได้และที่สำคัญไม่ได้เป็นตัวที่ให้พลังงาน สามารถนำไปใช้ในน้ำดื่มหรือน้ำผลไม้ได้สบาย ๆ สำหรับในสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการกำหนดไว้แต่อย่างใดว่าจะต้องมีระดับความปลอดภัยเท่าไรของสารนี้ เนื่องจากสารแซ็กคารินไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสารเจือปนที่อยู่ภายในอาหารแบบ Food Additive แต่ทางองค์การอนามัยโลกก็ได้ออกมาให้คำแนะนำไว้ว่าระดับความปลอดภัยที่ควรมีอยู่ที่ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักร่างกายหนึ่งกิโลกรัม

ส่วนในประเทศไทยของเรานั้นทางด้านกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมากำหนดไว้ว่าสารตัวนี้เป็นวัตถุที่สามารถให้ความหวานแทนการใช้น้ำตาล ( อยู่ภายในเครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มไดเอต ) ดังนั้นสำหรับบุคคลที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วนควรต้องมีการกำหนดปริมาณของสารตัวนี้และไม่แนะนำให้นำสารนี้ไปใช้ในอาหารทั่วไป นอกจากนี้ยังไม่แนะนำให้เด็กหรือหญิงตั้งครรภ์ทานสารตัวนี้

สารซูคราโลส

สารนี้จริง ๆ แล้วชื่อทางการค้าก็คือ สเปลนดา ( D-et ) เป็นน้ำตาลเทียมประเภทหนึ่งที่เพิ่งถูกนำมาจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ เป็นสารที่เกิดการจากผลิตน้ำตาลโดยการอาศัยวิธีเปลี่ยนโครงสร้างของน้ำตาลแทน คือ เลือกนำเอาคลอรีนจำนวน 3 โมเลกุลมาใช้ทดแทนส่วนของไฮดอกซิลที่เดิมอยู่ในโครงสร้างของน้ำตาล นั่นจึงทำให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาว่าแล้วคอลรีนนั้นสามารถส่งผลเป็นอันตรายต่อร่างกายของคนเราหรือไม่? ทางด้านของนักวิจัยเองก็ได้ออกมาให้เหตุผลในส่วนนี้ว่า คลอรีนมีแบบที่สามารถพบในธรรมชาติได้โดยส่วนใหญ่คลอรีนประเภทนี้จะอยู่ในพวกผัก ผลไม้ ถั่ว เกลือ ฯลฯ หากมีการเติมน้ำประปาในปริมาณที่เหมาะสมต่อการบริโภคก็เชื่อว่าจะยังคงมีความปลอดภัยอยู่

ส่วนของสเปนดาเป็นส่วนที่เกิดจากการผสมระหว่างมอสโตเดกซ์จรินรวมกับซูคราโลส สามารถให้พลังงาน 12 แคลอรีต่อ 1 ช้อนโต้ะ ซูคราโลสเป็นสิ่งที่สามารถให้รสชาติหวานได้สูงมากกว่าน้ำตาลถึง 600 เท่า สามารถที่จะทนต่อความร้อนได้เป็นอย่างดีจึงทำให้มักได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในการทำเบเกอรี่ เป็นสารที่บอกเลยว่าไม่มีพลังงานแถมยังไม่มีผลต่อระดับของอินซูลินอีกด้วย ในปัจจุบันสารซูคราโลสได้รับอนุญาตให้สามารถนำไปใช้ในอาหารได้เพียง 15 ประเภทเท่านั้น

คำถามยอดฮิตในใจของหลายๆ คน คือ ทานซูคราโลสแล้วปลอดภัยแน่หรือ? ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยหลายชิ้นได้ออกมาแสดงให้เห็นว่าสารสเปนดานั้นส่งผลอันตรายต่ออวัยวะของสัตว์บางส่วนแต่ในปัจจุบันนี้ก็มีข้อมูลทางด้านวิชาการมากมายนับกว่าร้อยชิ้นที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าสารสเปนดาไม่ได้ทำให้เกิดพิษสะสมภายในร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่สามารถส่งผลต่อส่วนของระบบประสาทและระบบการสืบพันธุ์ของคนเราได้ (บวกกับทางองค์การอาหารและยาของทางสหรัฐอเมริกาก็ได้สรุปออกมาในลักษณะเชิงเดียวกัน) ทำให้เราจึงสามารถพบเห็นได้ว่าซูคราโลสมีขายและนำมาใช้มากมายในหลายประเทศ (อนุมัติและใช้มากกว่า 80 ประเทศด้วยซ้ำไป) แถมยังนำมาใช้ในพวกอาหารต่าง ๆมากกว่า 400 ชนิดอีกด้วย

สรุปคือทานแล้วไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ไม่ก่อให้เกิดพิษแบบสะสม ไม่ทำให้เกิดปลกระทบต่อส่วนของยีน ไม่ได้เป็นสารที่สามารถก่อมะเร็ง ไม่มีผลต่อระดับของอินซูลินในร่างกายและที่สำคัญยังไม่มีผลต่อตัวทารกหากคุณแม่จะทานเข้าไป เพราะ สารนี้ไม่สามารถผ่านเข้าไปในบริเวณน้ำนม

นีโอแทมและสารแอดวานแทม

สองสารนี้เป็นสารให้ความหวานที่สามารถใช้แทนน้ำตาลได้เช่นกัน ได้รับการอนุญาตจากทางองค์การอาหารและยาของทางประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสารนีโอแทมจะเป็นสารที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกันกับสารแอสปาร์แทมมาก มีความหวานอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 13,000 เท่าเมื่อเทียบกับน้ำตาล ไม่นิยมใช้ในพวกผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อสัตว์ สามารถที่จะทนความร้อนได้ค่อนข้างมาก นิยมนำมาใช้ในขนมเบเกอรี่เป็นหลัก ส่วนสารแอดวานแทมเกิดจากสารสองสารคือสารแอสปาร์แทมกับสารแวนิลลินซึ่งเป็นสารที่ให้ความหวานสูงเช่นกัน ( อยู่ที่ 20,000 เท่าของน้ำตาล ) มีโครงสร้างที่คล้ายกันกับสารแอสปาร์แทม หากจะนำไปใช้ควรใช้ในปริมาณที่น้อย ๆ เข้าไว้จะดีกว่า  [adinserter name=”เบาหวาน”]

สติวิออลไกลโคไซด์

สาร “ สติวิออลไกลโคไซด์ ” เป็นสารตามธรรมชาติประเภทหนึ่งที่สามารถพบได้ตามสตีเวียหรือที่รู้จักกันดีในชื่อของหญ้าหวาน หญ้าหวานนั้นเป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่เรียกว่าอยู่ในตระกูลเดียวกับกับพวกทานตะวัน มีชื่อแบบเต็มว่า “ STEVIA REBAUDIANNABERTONI ” เป็นพืชที่สามารถพบได้มากในโซนอเมริกากลางและใต้ ในอดีตชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศปาราวัยและประเทศบราซิลมักจะเลือกใช้หญ้าหวานในการนำมาใช้เป็นสารให้ความหวานนานกว่าหลายร้อยปีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในช่วงปี 1931 ได้มีนักเคมีสัญญาติฝรั่งเศสได้ทดลองทำการสกัดเอาสารที่มีชื่อว่า “ สารสตีวีโอไซด์ ” ออกมาจากส่วนของใบหญ้าหวานเป็นครั้งแรกและพวกเขาก็สามารถทำได้สำเร็จซึ่งตอนนั้นเมื่อทำสำเร็จกลับพบว่าสารตัวนี้เป็นสารที่ให้ความหวานได้สูงกว่าน้ำตาลถึง 200 เท่าเลยทีเดียว นอกจากจะได้สารตัวนี้แล้วยังโชคดีพบสารให้วามหวานแบบอื่นอีกถึง 8 ประเภทด้วยกัน แต่ที่พบในปริมาณที่มากที่สุด นั่นคือ REBAUDIOSIDE A ( REB A ) ตัวนี้สามารถให้ความหวานได้มากกว่าน้ำตาลถึง 300 เท่าแถมยังไม่เป็นตัวที่เข้าไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย เมื่อปี 1980 มีการวิจัยพบว่าหญ้าหวานสามารถก่อให้เกิดภาวะการเป็นหมันและอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ แต่ต่อมาในปี 2008 ทางบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง TRUVIA และ PEREVIA ได้ทำการยื่นผลการวิจัยให้กับทางด้านองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาและหน่วยงาน  JOINT FAO/JECFA เกี่ยวกับประเด็นนี้เพื่อที่จะทำการพิสูจน์ว่า REB A นั้นสามารถที่จะทานได้ ปลอดภัยจริง ไม่ได้อันตรายอย่างที่ก่อนหน้านี้ค้นพบ ต่อมาในปี 2009 ก็ได้มีงานวิจัยเพิ่มเติมว่าสารสกัดที่ได้จากหญ้าหวานไม่ได้มีพิษ ไม่ให้พลังงานและไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้พลัคที่อยู่ในส่วนของปากเกิดการเจริญเติบโตมากขึ้นและที่สำคัญทานแล้วสามารถต้านสารก่อมะเร็ง ควบคุมน้ำหนัก ลดระดับความดันเลือดได้ดีเยี่ยมอีกด้วย

น้ำตาลแอลกอฮอล์

ตัวนี้เป็นอีกหนึ่งตัวที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ตระกูลพวกเบอร์รี่ยิ่งพบได้มาก น้ำตาลตัวนี้ชื่อที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในชื่อ “ ซอร์บิทอล / แมนนิทอล / ไซลิทอล ” เป็นน้ำตาลที่มีผลต่อตัวระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลซูโครสพอสมควร มีพลังงานที่ค่อนข้างต่ำโดยเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ 2 แคลอรีต่อกรัม หากทานมากถึง 50 กรัมอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมาได้ ( แต่สำหรับบางคนอาจท้องเสียได้ตั้งแต่ทานเข้าไป 20 กรัมก็ได้เช่นกันแล้วแต่สุขภาพของแต่ละบุคคล ) หากใครที่เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการทานหมากฝรั่งเป็นชีวิตจิตใจโดยเฉพาะหมากฝรั่งประเภทซูการ์ฟรี ( มีน้ำตาลประเภทนี้อยู่แทน ) หากทานมากไปท้องเสียได้เช่นกัน บางคนอาจน้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากเป็นผลจากการถ่ายมากเกินไป สำหรับหมากฝรั่งแบบนี้หากทานเข้าไป 1 ชิ้นจะให้พลังงานอยู่ที่ 5 แคลอรี ภายในมีปริมาณของซอร์บิทอลประมาณ 1.25 กรัม หากทานปริมาณ 5 ถึง 20 กรัมอาจส่งผลทำให้ท้องอืดเหมือนกัน ดังนั้นหากคิดจะเคี้ยวหมากฝรั่งอย่าทานเกินที่ฉลากกำหนดไว้จะดีที่สุด

สารให้ความหวานที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ในอาหาร
ชนิด ความหวาน X เท่าของน้ำตาล ระดับ ADI (มก./กก./วัน)
Acesulfame K
อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม
200 15
Advantame
แอดวานแทม
20, 000 32.8
Aspartame
แอสปาร์แทม
200 50
Monk Fruit
หล่อฮังก้วย
100-250 ปลอดภัยทุกปริมาณ
Neotame
นีโอแทม
7,000-13,000 0.3
Saccharin
แซ็กคาริน
200-700 15
Stevia Reb
สตีเวีย
 200-400 4
Sucralose
ซูคราโลส
600  5

ดังนั้นเราขอสรุปว่า น้ำตาลเทียมนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่เราจะไฟเขียวให้คุณทานเพื่อช่วยทำให้คุณทานอาหารอะไรตามใจปากได้มากยิ่งขึ้น เพียงเพราะคุณคิดว่าทานแล้วจะไม่ได้ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่ม ไม่ได้ทำให้น้ำหนักของร่างกายเพิ่ม คุณควรทานแค่พอดีควรปรับเรื่องของการทานหวานควบคู่ไปด้วยจะดีกว่า

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. ISBN 978-616-18-7741-9.

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). กินเท่าไหร่ กินแค่ไหน ไม่เสี่ยงอ้วน. ใน: ธิดารัตน์ มูลลา.ชีวิตใหม่ไร้พุง. กรุงเทพฯ : บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด, 2557.