อบเชยเถา รากเป็นยาและมีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง

0
1847
อบเชยเถา รากเป็นยาและมีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง
อบเชยเถา เป็นไม้เลื้อยขนาดเล็ก ใบมีกลิ่นเหม็นเขียว มียางสีขาว ดอกออกตามซอกใบ ผลเป็นรูปไข่ยาว ติดกันเป็นคู่
อบเชยเถา รากเป็นยาและมีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง
อบเชยเถา เป็นไม้เลื้อยขนาดเล็ก ใบมีกลิ่นเหม็นเขียว มียางสีขาว ดอกออกตามซอกใบ ผลเป็นรูปไข่ยาว ติดกันเป็นคู่

อบเชยเถา

อบเชยเถา (Atherolepis pierrei Costantin) เป็นไม้เลื้อยที่มักจะพบตามชายป่า ดังนั้นชาวกรุงเทพมหานครจึงเรียกกันว่า “อบเชยป่า” เป็นต้นที่มีผลเป็นรูปไข่ยาวซึ่งผลอ่อนนั้นจะนิยมนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้ ส่วนรากมีกลิ่นหอมคล้ายเปลือกอบเชยต้น เป็นต้นที่มีคุณค่าทางโภชนาการและยังเป็นอาหารของสัตว์อย่างโคกระบืออีกด้วย และยังเป็นยาสมุนไพรที่ดีโดยเฉพาะส่วนของรากจากต้นอบเชยเถา

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของอบเชยเถา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Atherolepis pierrei Costantin
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “อบเชยเถา” ภาคเหนือเรียกว่า “กำยานเครือ เครือเขาใหม่ เถาเชือกเขา” ภาคอีสานเรียกว่า “จั่นดิน กู๊ดิน” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “อบเชยป่า” จังหวัดแพร่เรียกว่า “เครือเขาใหม่” จังหวัดนครสวรรค์เรียกว่า “เชือกเถา” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ตำยาน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)

ลักษณะของอบเชยเถา

อบเชยเถา เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก มักจะพบทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทยตามชายป่า
ลำต้น : เลื้อยพันต้นไม้อื่นหรือเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นหรือเถามีขนสั้นและมีน้ำยางสีขาว เปลือกมีช่องระบายอากาศรูปไข่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เถามีลักษณะกลมเรียวเป็นสีน้ำตาลเทาไปจนถึงสีน้ำตาลม่วง
ราก : มีกลิ่นหอมคล้ายเปลือกอบเชยต้น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มหรือสีน้ำเงิน ลายเส้นใบเป็นสีขาว ใบมีกลิ่นเหม็นเขียว มียางสีขาวข้น หูใบสั้นมาก ใบอ่อนจะมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นใบ แล้วขนนั้นจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปเมื่อใบแก่
ดอก : ออกดอกเป็นช่อโดยจะออกตามซอกใบ ช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 5 – 6 ดอก กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองอมส้ม กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีชมพูอ่อนหรือชมพูอมส้ม โคนกลีบดอกชิดติดกันเป็นรูปถ้วยหรือเป็นท่อสั้น ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กลีบดอกจะบิดไปในทางเดียวกัน เมื่อดอกบานจะกางออกแบบดอกมะเขือ มีขนขึ้นประปรายทั้งด้านในและด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้ติดอยู่กับผนังใจกลางดอก โดยมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูเป็นรูปไข่แกมสามเหลี่ยมและปลายแหลม เกสรเพศเมียมี 1 อัน ปลายเกสรจะใหญ่กว่าท่อเกสรและมีลักษณะเป็นรูปห้าเหลี่ยม ปลายแหลมสั้น มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ยาว ติดกันเป็นคู่ ผิวผลเนียน มีร่องเป็นแนวตามยาว ภายในผลมีเมล็ด

สรรพคุณของอบเชยเถา

  • สรรพคุณจากราก เป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยทำให้ชุ่มชื่นกระปรี้กระเปร่า ปรุงเป็นยาหอม ช่วยแก้ลมวิงเวียนศีรษะ รักษาอาการหน้ามืดตาลาย เป็นยาขับลมในลำไส้ ช่วยแก้อาการปวดมวนในท้อง เป็นยาแก้บิดและแก้ท้องเสีย
    – แก้โรคผิวหนังและผื่นคัน ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วอบไอน้ำ

ประโยชน์ของอบเชยเถา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก
2. ใช้ในการเกษตร ใช้เป็นอาหารสัตว์จำพวกโคกระบือ

คุณค่าทางโภชนาการของอบเชยเถา

คุณค่าทางโภชนาการของอบเชยเถา ให้โปรตีน 11.9% แคลเซียม 2.01% ฟอสฟอรัส 0.2% โพแทสเซียม 1.66% ADF 23.8% NDF 26.9% DMD 78.6% และแทนนิน 3.99%

อบเชยเถา เป็นต้นไม้เลื้อยที่มีรากเป็นยาสมุนไพรได้อย่างดีเยี่ยม แถมยังเป็นต้นที่มีโภชนาการทางอาหารอีกด้วย เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงอย่างโคกระบือได้ สามารถพบได้ตามชายป่าทั่วประเทศไทย อบเชยเถามีสรรพคุณทางยาจากส่วนของรากที่มีกลิ่นหอมคล้ายเปลือกอบเชยต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียนศีรษะ ขับลมในลำไส้ แก้โรคผิวหนัง แก้บิดและแก้ท้องเสียได้ เป็นต้นที่ดีต่อระบบขับถ่ายในร่างกายของเราและยังดีต่อหัวใจอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “อบเชยเถา”. หน้า 151.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “อบเชยเถา”. หน้า 835-836.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “อบเชยเถา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 ก.ย. 2014].
สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “อบเชยเถา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [21 ก.ย. 2014].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “อบเชยเถา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [22 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/