ต้นเสี้ยวป่า
ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยว ดอกเป็นช่อกระจะ สีขาว สีขาวแกมชมพู หรือสีชมพูอ่อน ฝักรูปดาบผิวเรียบไม่มีขน เมล็ดแบน

ต้นเสี้ยวป่า

ต้นเสี้ยวป่า เป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ในทุกสภาพดิน โดยต้นจะมีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคแถบอินโดจีนประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่โล่งแจ้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง และตามป่าผลัดใบผสมเกือบทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ โดยต้นจะเจริญเติบโตที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 800 เมตร[2],[4] ชื่อสามัญ Orchid Tree, Purple Bauhinia[4] ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia saccocalyx Pierre จัดอยู่ในวงศ์: วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ ชงโค (จังหวัดนครราชสีมา, สุพรรณบุรี, อุทัยธานี, จันทบุรี), ส้มเสี้ยว (จังหวัดนครสวรรค์, อุดรธานี), ส้มเสี้ยวโพะ เสี้ยวดอกขาว (จังหวัดเลย), คิงโค (จังหวัดนครราชสีมา), ชงโคป่า เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นเสี้ยวป่า

  • ลำต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทยืนต้นที่มีขนาดเล็ก
    – ต้นมีความสูง ประมาณ 10 เมตร
    – ลำต้นจะแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มเตี้ย ผิวลำต้นขรุขระ เปลือกลำต้นมีสีเป็นสีเทาปนสีน้ำตาล มีรอยแตกเป็นร่องยาวตื้นและลึกตามลำต้น บางครั้งก็พบว่าร่อนเป็นแผ่นบาง[1]
    – กิ่งก้านจะมีลักษณะคดงอ โดยกิ่งก้านจะแตกออกจากลำต้นในรูปแบบที่ไม่เป็นระเบียบมากนัก เนื้อไม้มีความเปราะบางและสามารถทำการหักได้ง่าย ลายไม้ไม่เป็นระเบียบ
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีงอกต้นใหม่ขึ้นจากรากที่กระจายไปตามบริเวณพื้นดินรอบ ๆ ต้นมากกว่าการงอกจากเมล็ด โดยมีรากแก้วหยั่งลึกลงไปใต้ดินและมีรากแขนงแตกออกไปโดยรอบแผ่กว้างออกไปตามพื้นดิน จึงมักขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ๆ มากกว่าพบเห็นเป็นต้นเดี่ยว ๆ
  • ใบ
    – ใบ เป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงสลับกัน
    – ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบเว้าลึกถึงครึ่งใบ เป็นพู 2 พู ตรงปลายแตกเป็นแฉกแหลม ส่วนโคนใบตัดหรือเป็นรูปหัวใจ
    – แผ่นใบมีผิวใบบางคล้ายกระดาษ ด้านหลังของใบเกลี้ยงไม่มีขน แต่บริเวณท้องใบจะมีขนและต่อมน้ำมันสีน้ำตาลขึ้นอยู่เป็นประปราย เส้นแขนงใบจะออกมาจากกลางโคนใบ 9-11 เส้น และใบมีหูใบขนาดเล็กที่หลุดร่วงได้ง่าย[1],[2]
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 5-9 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 6-10 เซนติเมตร
    – ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร
  • ดอก
    – ดอก เป็นช่อแบบกระจะ โดยจะออกดอกบริเวณตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง
    – ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม[1],[2]
    – ดอกเป็นดอกแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้นกัน มีดอกย่อยกระจุกตัวอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพวง มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7 เซนติเมตร เมื่อดอกย่อยบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างอยู่ที่ประมาณ 1-1.4 เซนติเมตร
    – ดอก สีเป็นสีขาว สีขาวแกมชมพู หรือสีชมพูอ่อน มีกลีบดอกอยู่ทั้งหมด 5 กลีบ กลีบดอกลักษณะรูปร่างเป็นรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมน
    – กลีบเลี้ยงมีลักษณะคล้ายกาบ ตรงปลายแยกออกเป็น 2 แฉก
    – ดอกเพศผู้ที่ไม่เป็นหมันจะมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 อัน ยื่นออกมาจากภายนอกของดอก 5 อัน และอีก 5 อันที่เหลือนั้นจะอยู่ภายในดอก ดอกไม่มีเกสรเพศเมีย และดอกเพศเมียจะมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีลักษณะคล้ายเส้นด้าย 10 อัน และมีเกสรเพศเมียอยู่ 1 อัน อยู่บริเวณเหนือวงกลีบ ส่วนรังไข่มีขนขึ้นปกคลุม
  • ผล
    – ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปดาบ ผิวผลเรียบไม่มีขน ตรงบริเวณช่วงปลายจะกว้างและโค้งงอ ปลายผลแหลม ฝักมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 7-14 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่เต็มที่แล้วฝักจะแตกออก
    – ติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงช่วงเดือนกรกฎาคม[1],[2]
  • เมล็ด
    – ภายในฝักจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-5 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรูปร่างที่แบน

สรรพคุณ และประโยชน์ของต้นเสี้ยวป่า

  • ใบ นำมาผสมกับลำต้นของต้นกำแพงเจ็ดชั้น จากนั้นนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยาฟอกโลหิต ดื่มวันละ 3 ครั้ง (ใบ)[1]
  • ลำต้นหรือกิ่งของต้น นำมาใช้ทำเป็นเสาค้ำยันให้แก่บางส่วนของบ้านได้ แต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก หรืออาจจะนำมาใช้ทำเป็นเสาสำหรับพืชผักที่เป็นไม้รอเลื้อย หรือจะนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงก็ได้เช่นกัน[3],[4]
  • ปลูกเป็นไม้ประดับตามริมทางได้ โดยจะออกดอกได้ดกดีมาก ดอกมีสีขาวดูสวยงามและดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ อีกด้วย สามารถนำต้นมาตัดแต่งหรือให้เลื้อยขึ้นค้างได้ แต่ยังไม่ค่อยนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านมากเท่าไรนัก[2]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “เสี้ยว ป่า”. หน้า 184.
2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. “เสี้ยว ป่า”.
3. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เสี้ยวป่า, ชงโคป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [07 ต.ค. 2014].
4. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม. “เสี้ยวป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ndk.ac.th. [07 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/
2.https://commons.wikimedia.org/