ย่านางแดง
ย่านางแดง หรือเรียกกันว่า “เครือขยัน” มีดอกสีแดงสดชวนให้สะดุดตาอยู่บนต้น เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องของยาอายุวัฒนะและแก้กรดไหลย้อน ในปัจจุบันพบย่านางแดงได้ในรูปแบบของชาทีมินและสมุนไพรอภัยภูเบศร เป็นต้นที่หาได้ง่ายและเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงยาสมุนไพร
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของย่านางแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia strychnifolia Craib.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “เครือขยัน” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “หญ้านางแดง” จังหวัดตากและลำปางเรียกว่า “สยาน” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “ขยัน เถาขยัน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ลักษณะของย่านางแดง
ย่านางแดง เป็นไม้เถาเลื้อยที่มักจะพบตามป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าแดง ป่าดิบเขาและตามที่โล่งแจ้ง
เถา : เปลือกเถาเรียบ เถามีขนาดกลางและแบน มีร่องตรงกลาง เปลือกเถาเป็นสีเทาน้ำตาล เถาแก่มีลักษณะกลมและเป็นสีน้ำตาลแดง มีมือสำหรับการยึดเกาะออกเป็นคู่ ๆ ปลายม้วนงอ
ราก : มีผิวขรุขระสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ มีรอยบากตามขวางเล็ก ๆ ทั่วไป ลักษณะของเนื้อไม้ภายในรากเป็นสีน้ำตาลแดง
ใบ : มีใบดกและหนาทึบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าตื้น ๆ หรือมีลักษณะกลมไปจนถึงรูปหัวใจตื้น ขอบใบเรียบ ผิวใบมันเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบและหลังใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะตามปลายกิ่ง เป็นรูปทรงกระบอกแคบและโค้งเล็กน้อย ปลายบานและห้อยลง ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีแดงสด 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ปลายกลีบดอกมีลักษณะมนแหลม ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูประฆัง กลีบเลี้ยงเป็นสีแดง 5 กลีบ ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉกรูปถ้วย มีขนสั้นขึ้นปกคลุม มีสีชมพูอ่อนหรือสีแดง มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
ผล : ออกผลเป็นฝักแบนรูปขอบขนาน ปลายฝักแหลม โคนฝักเป็นรูปหอก เปลือกฝักแข็ง เมื่อแก่จะแตกอ้า
เมล็ด : ภายในฝักมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8 – 9 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปขอบขนาน
สรรพคุณของย่านางแดง
- สรรพคุณจากเถา บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงหัวใจและแก้โรคหัวใจบวม ดับพิษร้อนภายในร่างกาย เป็นยาแก้ไข้พิษ แก้ไข้หมากไม้ ไข้กาฬ ไข้หัว ไข้สุกใส ไข้เซื่องซึม ไข้ป่าเรื้อรัง ไข้ทับระดูและไข้กลับไข้ซ้ำ ขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง
– แก้อาการท้องผูก ด้วยการนำเถามาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือนำมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– ล้างสารพิษหรือสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในร่างกาย หรือเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ด้วยการใช้เถามาต้มแล้วดื่มเป็นประจำ
– ล้างสารพิษจากยาเสพติด ด้วยการนำเถามาฝนให้ผู้ป่วยที่กำลังเลิกยาเสพติดดื่ม - สรรพคุณจากราก ขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง เป็นยาบำรุงโลหิตสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร
– แก้อาการท้องผูก เป็นยาแก้ไข้ ใช้กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษไข้และแก้ไข้ทั้งปวง ด้วยการนำรากมาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือนำมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– ล้างสารพิษจากยาเสพติด ด้วยการนำรากมาฝนให้ผู้ป่วยที่กำลังเลิกยาเสพติดดื่ม - สรรพคุณจากใบ ขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง
– แก้อาการท้องผูก ด้วยการนำใบมาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือนำมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– ล้างสารพิษหรือสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในร่างกาย หรือเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบมาต้มแล้วดื่มเป็นประจำ - สรรพคุณจากเหง้า
– เป็นยาแก้พิษทั้งปวง แก้พิษเบื่อเมา พิษเบื่อเมาของเห็ด ถอนพิษยาเมา แก้เมาสุรา แก้ยาเบื่อ ยาสั่ง ถอนพิษผิดสำแดง ด้วยการนำเหง้ามาฝนกับน้ำหรือน้ำซาวข้าว หรือนำมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม - สรรพคุณจากลำต้น เป็นยาบำรุงโลหิตสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร
- สรรพคุณจากใบย่านางแดงแคปซูล เป็นยาฆ่าเชื้อรา
ประโยชน์ของย่านางแดง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกและลาบ
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ
ย่านางแดง เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณเหมือนกับย่านางเขียวหรือย่านางขาวทุกประการ แต่จะมีฤทธิ์ที่แรงกว่าและดีกว่าเนื่องจากย่านางแดงมีสีเข้มกว่า มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ต่าง ๆ ดับพิษร้อนในร่างกาย ล้างสารพิษในร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะและแก้กรดไหลย้อน เป็นยาที่ช่วยดีท็อกซ์หรือทำความสะอาดภายในร่างกายได้เป็นอย่างดี
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขยัน (Khayan)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 58.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ย่านางแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [10 ก.พ. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ย่านางแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [10 ก.พ. 2014].
สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย. “ย่านางแดง”. [ ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tmri.dtam.moph.go.th. [10 ก.พ. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “ย่านางแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [10 ก.พ. 2014].
ไทยโพสต์. “เถาขยัน แก้ไข้ ล้างพิษ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [10 ก.พ. 2014].
Pendulum. “ใบย่านางแดง ฆ่าเชื้อรา และ ยากษัยเส้น ล้างกรดยูริค”. (lee). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pendulumthai.comt. [10 ก.พ. 2014].