มหาหงส์ เหง้าเป็นยาและน้ำมันหอมระเหย ช่วยบำรุงกำลังและบำรุงไตได้
มหาหงส์ หรือว่านมหาหงส์ เป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดิน ดอกสีขาวสวยงามและมีกลิ่นหอมในตอนเช้า ผลเป็นรูปทรงกลม

มหาหงส์

มหาหงส์ (Butterfly lily) หรือว่านมหาหงส์ เป็นพืชวงศ์ขิงที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินเป็นสีนวลและมีกลิ่นเฉพาะ มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะหรือริมลำธาร มีดอกสีขาวสวยงามและมีกลิ่นหอมมากในช่วงเช้าทำให้นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ นอกจากนั้นยังมีจุดเด่นอยู่ที่น้ำมันจากเหง้าสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้เรียกว่า “น้ำมันมหาหงส์” คนส่วนใหญ่นั้นจะไม่ค่อยนิยมนำมารับประทานนักแต่คนเหนือจะนำหน่ออ่อนมาลวกรับประทานกับน้ำพริก และที่สำคัญมหาหงส์ยังเป็นส่วนประกอบในตำรายาสมุนไพรได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมหาหงส์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hedychium coronarium J.Koenig
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Butterfly lily” “Garland flower” “Ginger lily” “White ginger”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระทายเหิน หางหงส์” ภาคเหนือเรียกว่า “ตาห่าน เหินแก้ว เหินคำ” ภาคอีสานเรียกว่า “ว่านกระชายเห็น สะเลเต” จังหวัดระยองและจันทบุรีเรียกว่า “เลเป ลันเต” คนเมืองและชาวไทลื้อเรียกว่า “ตาเหิน” ชาวไทใหญ่เรียกว่า “เฮวคำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

ลักษณะของมหาหงส์

มหาหงส์ เป็นไม้ล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินอายุหลายปี มักจะพบตามพื้นที่ชื้นแฉะหรือตามชายป่าใกล้ลำธาร
เหง้า : เหง้าเป็นสีนวลและมีกลิ่นเฉพาะ ลำต้นเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่มีกาบใบซ้อนกันแน่น ลักษณะกลมและเป็นสีเขียว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน มีใบประมาณ 7 – 12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นกลางใบเห็นได้ชัดจากด้านหลังใบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มโดยเฉพาะเส้นกลางใบ แผ่นใบมักงอตัวลงไปด้านหลัง ส่วนก้านใบสั้นเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น ลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ลิ้นใบเป็นเนื้อเยื่อบางสีขาว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอดของลำต้นเทียม มีใบประดับใหญ่เป็นจำนวนมากเรียงซ้อนกัน ลักษณะของใบประดับเป็นรูปหอกหรือรูปไข่ ปลายแหลม ผิวเกลี้ยงและเป็นสีขาว ใบประดับย่อยเป็นรูปหอก ปลายมนและผิวเกลี้ยง ขอบพับเข้าหากัน ตรงกลางเป็นสัน แต่ละอันจะซ้อนเหลื่อมกัน ดอกมีขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม โดยจะออกตามซอกใบประดับประมาณ 1 – 5 ดอก มีกลีบดอกเป็นรูปแถบแคบ ปลายมนเป็นสีขาว กลีบปากเป็นรูปไข่เกือบกลม ปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ เป็นสีขาว ตรงกลางกลีบค่อนไปทางโคนเป็นสีเหลือง สีขาวหรือสีนวล โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาว ปลายกลีบดอกหยักบาง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกตื้น 3 แฉกและแฉกลึก 1 แฉก ปลายกลีบเป็นสีขาวแกมสีเขียว ส่วนโคนเป็นสีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นกลีบขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับแกมรูปวงรีหรือเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ปลายมนสีขาว อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 ก้าน มีรังไข่เป็นรูปขอบขนานและผิวเรียบ มี 3 ห้อง ส่วนยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะเกือบกลม มักจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม
ผล : เป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม แตกออกได้เป็นพู 3 พู

สรรพคุณของมหาหงส์

สรรพคุณจากเหง้า ช่วยขับลม ช่วยกระตุ้นน้ำย่อย
– บำรุงกำลังและเป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาแก้กษัย ช่วยบำรุงไต โดยตำรายาไทยนำเหง้าแห้งมาบดละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนรับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็น
– แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ช่วยแก้อาการท้องอืด ด้วยการนำเหง้ามาต้มเป็นยา
– แก้อาการลมชักหรือใช้ทาตุ่มผื่นลมพิษ โดยคนเมืองนำเหง้าใต้ดินมาต้มกับน้ำดื่ม
– รักษาแผลฟกช้ำและแผลบวม ด้วยการนำเหง้ามาคั้นเอาน้ำใช้เป็นยา

ประโยชน์ของมหาหงส์

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ภาคเหนือนำหน่ออ่อนลวกรับประทานกับน้ำพริก
2. เป็นความเชื่อ ชาวไทใหญ่นำดอกมหาหงส์บูชาพระ มีความเชื่อว่าเป็นยาทำเสน่ห์ เชื่อว่าเป็นสิริมงคลให้แก่สถานที่ปลูก เป็นว่านให้ลาภแก่ผู้ปลูก
3. สารสกัดน้ำมันหอมระเหย น้ำมันจากเหง้าสดสามารถนำมาใช้ฆ่าแมลงได้ น้ำมันหอมระเหยใช้เป็นส่วนผสมในการทำน้ำหอมและใช้ในวงการสปาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นส่วนผสมในครีม โลชัน โคโลญจน์ สบู่ ครีมอาบน้ำหรือโคลนหมักตัว
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ
5. ป้องกันยุง ป้องกันการกัดของยุงรำคาญ 5.8 ชั่วโมง ยุงก้นปล่อง 7.1 ชั่วโมง และยุงลายสวนได้ 7.5 ชั่วโมง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมหาหงส์

สารจากน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเหง้า มีลักษณะเป็นของเหลวใส มีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว โดยประกอบไปด้วย beta – pinene, borneol, d – limonene, linalool

มหาหงส์ เป็นต้นที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่เหง้าใต้ดินซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในการนำมาใช้ประโยชน์ สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้และใช้ทำน้ำหอม รวมถึงใช้ในการฆ่าแมลงและป้องกันยุงได้ มหาหงส์มีสรรพคุณทางยาได้จากส่วนของเหง้าใต้ดินโดยเฉพาะ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยขับลม บำรุงกำลัง บำรุงไตและแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ถือว่าเป็นต้นที่น่าสนใจในการปลูกประดับไว้เพราะมีประโยชน์ทั้งการให้ความงาม ให้สรรพคุณทางยา ให้ความหอมและเป็นความเชื่อได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มหาหงส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [11 พ.ค. 2014].
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มหาหงส์ (Maha Hong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 208.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 367 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “ว่านมหาหงส์”. (ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [11 พ.ค. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “มหาหงส์”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [11 พ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Butterfly lily”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 (เกรียงไกร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [11 พ.ค. 2014].
กรุ่นกลิ่นดอกไม้ในโคราช, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. “มหาหงส์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nrru.ac.th/web/plant_flower/. [11 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/