ผักขมใบแดง สมุนไพรตำราพื้นบ้านล้านนา ใบรักษาฝี แถมปลูกเป็นไม้ประดับได้
ผักขมใบแดง เป็นผักขมสีแดงเข้ม ออกดอกเป็นช่อใหญ่และยาวห้อยลงเป็นสีแดงหรือสีม่วงสด

ผักขมใบแดง

ผักขมใบแดง (Love lies bleeding) เป็นผักขมชนิดหนึ่งที่แตกกิ่งก้านเป็นสีแดงเข้ม ออกดอกเป็นช่อใหญ่และยาวห้อยลงเป็นสีแดงหรือสีม่วงสดทำให้ต้นดูโดดเด่นและสวยงามมาก เหมาะอย่างมากในการปลูกประดับสถานที่ นอกจากความสวยแล้วผักขมใบแดงยังสามารถนำยอดอ่อนและใบอ่อนมารับประทานได้ และยังเป็นยาสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักขมใบแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amaranthus caudatus L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Love – lies – bleeding”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กำมะหยี่” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ผักขมใบแดง ผักโขมใบแดง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)

ลักษณะของผักขมใบแดง

ผักขมใบแดง เป็นไม้ล้มลุกมีอายุเพียงฤดูเดียว
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่งก้านเป็นสีแดงเข้ม บริเวณปลายกิ่งมีขนขึ้น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ตามข้อมูลบอกว่าแผ่นใบเป็นสีแดงแต่ในต่างประเทศพบว่าแผ่นใบเป็นสีเขียว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดโดยจะออกบริเวณซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก เรียงตัวอัดกันเป็นช่อแน่น ดอกเป็นแบบแยกเพศและมีขนาดเล็ก มีความเหนียวคล้ายแผ่นหนังสีม่วง
ผล : เป็นผลแห้งและแตกได้
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีดำไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม สีแดงหรือสีเหลืองอ่อน ผิวเมล็ดจะเป็นมัน

สรรพคุณของผักขมใบแดง

  • สรรพคุณจากใบ
    – รักษาฝี จากตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำใบมา 3 ใบ แล้วตำผสมกับใบมันเทศ 3 ใบ เพื่อใช้เป็นยาพอก
  • สรรพคุณจากต้น
    – ใช้ดับร้อน แก้พิษ ขับน้ำนม แก้ชื้น ผดผื่นคัน ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน บิดจากแบคทีเรีย หนองใน สัสสาวะเป็นเลือด ฝีในปอด ฝีที่เต้านม ฝีพิษบวมแดง ขาเป็นกลาก เน่าเปื่อย
  • สรรพคุณจากยาง
    – ใช้กัดหูด ตาปลา

ประโยชน์ของผักขมใบแดง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมารับประทานได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับสวน มีดอกออกเป็นช่อใหญ่ดูสวยงาม
3. มีสารต้านอนุมูลอิสระ คุณค่าทางอาหารสูง

ผักขมใบแดง มีต้นที่สวยงามมากเหมาะสำหรับนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านหรือตามสถานที่ทั่วไป เป็นต้นที่มีความโดดเด่นชวนให้น่ามอง สามารถหาซื้อเมล็ดได้ตามร้านค้าออนไลน์ นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่อยู่ในส่วนประกอบของตำรับยาพื้นบ้านล้านนาโดยใช้ใบของผักขมใบแดงมารักษาฝีได้ ในด้านของการนำมาประกอบอาหารนั้นอาจจะยังไม่ค่อยได้ยินสักเท่าไหร่แต่ยอดอ่อนและใบอ่อนของต้นสามารถนำมารับประทานได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักขมใบแดง”. หน้า 34.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 198 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “ผักขม : ความขมที่เป็นทั้งผักและยา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [22 พ.ย. 2014].
รายงานการประชุม ความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้และสัตว์ป่า “ความก้าวหน้าของผลงานวิจัยและกิจกรรมปี 2548” ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ เพชรบุรี วันที่ 21-24 สิงหาคม 2548. (ธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ). “พรรณพืชกินได้บริเวณภูเขาหินปูน (Edible Plants on Limestone Areas)”. หน้า 178.