นางจุ่ม หรือ นางโจม ยาสมุนไพรชาวอินเดีย รักษาเบาหวาน แก้ไข้แกว่ง

0
1578
นางจุ่ม
นางจุ่ม พรรณไม้พุ่มรอเลื้อย ช่อดอกมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น ผลเป็นรูปกลมรีขนาดเล็ก ปลายและโคนมน
นางจุ่ม หรือ “นางโจม” ยาสมุนไพรของชาวอินเดีย รักษาเบาหวานและแก้ไข้แกว่งได้
พรรณไม้พุ่มรอเลื้อย ช่อดอกมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น ผลเป็นรูปกลมรีขนาดเล็ก ปลายและโคนมน

นางจุ่ม

นางจุ่ม (Cansjera rheedei) เป็นผักที่พบได้ตามป่าและมีรสชาติเหมือนผักหวานป่า มักจะพบวางขายอยู่ในตลาดทุ่งเสลี่ยมที่อยู่ระหว่างทางไปจังหวัดเชียงใหม่ นิยมเรียกว่า “นางโจม” ซึ่งส่วนมากมักจะพบเป็นส่วนประกอบในแกงแค นอกจากนั้นยังเป็นยาสมุนไพรที่นิยมในประเทศอินเดีย ชนเผ่าทมิฬนาฑูและตำรายาไทยอีกด้วย มีการวิจัยมากมายถึงสรรพคุณที่อยู่ในต้นนางจุ่ม ถือเป็นต้นที่ไม่โดดเด่นเมื่อดูจากภายนอกแต่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของนางจุ่ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cansjera rheedei J.F.Gmel.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “นางชุ่ม มะนาวป่า” จังหวัดชลบุรีเรียกว่า “ผักหวานดง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ตาไก่หิน เถาเดือยไก่ นมสาว นางจอง เหมือดคน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักหวาน (OPILIACEAE)
ชื่อพ้อง : Cansjera lanceolata Benth., Cansjera malabarica Lam., Cansjera monostachya M.Roem., Cansjera polystachya (Willd.) M.Roem., Cansjera scandens Roxb., Cansjera zizyphifolia Griff., Opilia amentacea Wall.

ลักษณะของนางจุ่ม

นางจุ่ม เป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็งที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย มักจะพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งและป่าผสมผลัดใบ
ลำต้น : ลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสีเขียว แตกกิ่งก้านมาก มีขนสั้นนุ่มขึ้นปกคลุม เปลือกนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตามลำต้นมีหนามทู่ขึ้นกระจายทั่วไปจำนวนมาก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปวงรีหรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียวสั้นไปจนถึงสอบเรียว ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนาและเป็นมัน ผิวใบมีขนขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะตามเส้นใบ มีขนขึ้นประปรายที่เส้นกลางใบและโคน เส้นใบเป็นแบบขนนกร่างแห 4 – 10 คู่ ก้านใบมีขนาดสั้นและมีขนกระจาย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดตามซอกใบ 1 – 4 ช่อ มีสีเหลืองอมเขียว แต่ละช่อมีดอกประมาณ 8 – 16 ดอก แกนช่อดอกมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น ดอกมีขนาดเล็ก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีกลีบรวม 4 – 5 กลีบ หลอดกลีบเป็นรูปโถหรือรูปคนโท ปลายแยกเป็นแฉกแหลมเรียงจรดกัน ขอบเรียบและมีสีเขียวอมเหลือง ผิวด้านนอกมีขนขึ้นกระจายแต่ด้านในเกลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน มีอับเรณู 2 พู ขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง สามารถแตกได้ตามยาว เกสรเพศเมียมี 1 อัน เป็นรูปขวด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 4 แฉก จานฐานดอกมี 4 อัน แยกจากกันเป็นรูปสามเหลี่ยม มีสีเขียวอมเหลือง มักจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผล : เป็นผลสดเมล็ดเดียวและแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรีขนาดเล็ก ปลายและโคนมน ผิวขรุขระและมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง มีกลีบรวมกับยอดเกสรเพศเมียติดคงทน ติดผลในช่วงประมาณมกราคมถึงเดือนมีนาคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปวงรีและค่อนข้างกลม

สรรพคุณของนางจุ่ม

  • สรรพคุณจากนางจุ่ม ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดไข้ ขับปัสสาวะ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ปกป้องตับจากสารพิษ
  • สรรพคุณจากทั้งต้น ประเทศอินเดียนำทั้งต้นมารักษาอาการปวดหลัง
  • สรรพคุณจากใบ ชนเผ่าทมิฬนาฑูนำมารักษาอาการไข้แกว่ง
    – เป็นยารักษาเบาหวาน ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากส่วนเหนือดิน เป็นยาถ่ายพยาธิ
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น
    – แก้อาการปวดเมื่อยและแก้เส้นตึง โดยตำรายาไทยนำเปลือกต้นมาเป็นส่วนผสมปรุงยาต้มเพื่อดื่ม

ประโยชน์ของนางจุ่ม

เป็นส่วนประกอบของอาหาร นิยมนำมาทำแกงหรือใส่ในแกงแค

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของนางจุ่ม

สารที่พบในใบนางจุ่ม พบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ Quercetin – 3 – O – β – rutinoside
ผลการทดลอง

  • สารสกัดน้ำและเอทานอลจากใบนางจุ่มที่ระดับความเข้มข้น 200 mg/kg และ 400 mg/kg พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง
  • สารสกัดเอทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นนางจุ่ม โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูทดลองที่ความเข้มข้น 250 และ 500 mg/kg พบว่าจะมีฤทธิ์ต้านความเจ็บปวด โดยลดอาการปวดเกร็งของช่องท้องหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยสารเคมีและทำให้ทนต่อความเจ็บปวดเมื่อถูกกระตุ้นด้วยความร้อนได้ด้วย
  • จากการทดสอบโดยใช้สารสกัดน้ำ คลอโรฟอร์มและเอทานอลของส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นนางจุ่ม ที่ความเข้มข้นระหว่าง 5-40 mg/mL พบว่ามีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม ทำให้พยาธิเป็นอัมพาตและตายได้

นางจุ่ม เป็นต้นที่มีการทดลองถึงฤทธิ์และสารในนางจุ่มจนพบว่าเป็นต้นที่ช่วยป้องกันโรคได้ ส่วนมากมักจะพบในรูปแบบของผักที่เป็นส่วนประกอบในแกงทั่วไปหรือแกงแค มีรสชาติเหมือนผักหวานป่า ถือเป็นยาสมุนไพรที่นิยมอย่างมากในประเทศอินเดีย นางจุ่มมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาเบาหวาน แก้ไข้แกว่ง เป็นยาถ่ายพยาธิและแก้ปวดเมื่อยได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “นางจุ่ม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [22 ก.ย. 2015].
แหล่งข้อมูลต้นไม้. “นางจุม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : treeofthai.com. [22 ก.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/