กัลปพฤกษ์ พรรณไม้ดอกไม้มงคล

0
1465
กัลปพฤกษ์
กัลปพฤกษ์ พรรณไม้ดอกไม้มงคล เป็นพรรณไม้ดอกไม้ประดับผลัดใบ ดอกสีขาวอมชมพู ฝักมีขนนุ่ม เนื้อในฝักเป็นสีขาวปนเขียว เมล็ดค่อนข้างกลมสีน้ำตาลเป็นมัน
กัลปพฤกษ์
ป็นพรรณไม้ดอกไม้ประดับผลัดใบ ดอกสีขาวอมชมพู ฝักมีขนนุ่ม เนื้อในฝักเป็นสีขาวปนเขียว เมล็ดค่อนข้างกลมสีน้ำตาลเป็นมัน

กัลปพฤกษ์

กัลปพฤกษ์ Cassia bakeriana เป็นพรรณไม้ดอกไม้ประดับผลัดใบ ดอกสีขาวอมชมพูคล้ายกล้วยไม้สวยงาม ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลางมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนพบได้ในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ในประเทศไทยพบขึ้นได้ตามป่าแดง ป่าโคก ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป (บางครั้งพบอยู่บนเทือกเขาหินปูนที่แห้งแล้ง) ที่ระดับความสูงประมาณ 300-1,000 เมตร ชื่อสามัญ คือ Wishing Tree, Pink Shower, Pink cassia, Pink and White Shower Tree[
ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cassia bakeriana Craib ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Cassia bakerana Craib) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[3] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ คือ เปลือกขม (ปราจีนบุรี), แก่นร้าง (จันทบุรี), กานล์ (เขมร-สุรินทร์), กาลพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ (ภาคกลาง), กัลปพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ (ภาคเหนือ)[1],[2],[3],[4],[5]
และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น[4]

ลักษณะของกัลปพฤกษ์

  • ลักษณะของต้น[1],[2],[3],[5]
    จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ประมาณ 5-15 เมตร มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 12 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง แต่ไม่หนาแน่นทึบ แตกกิ่งต่ำและทอดกิ่งยาวขึ้นสู่ด้านบน เปลือกต้นด้านนอกเรียบเป็นสีเทา ส่วนเนื้อไม้เป็นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล บริเวณยอดและกิ่งอ่อนมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมหนาแน่น นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการนำเมล็ดมาเพาะเป็นต้นกล้า ขึ้นได้ในดินทั่วไป สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่ดินไม่ค่อยสมบูรณ์ ชอบความชื้นปานกลาง แสงแดดแบบเต็มวัน
  • ลักษณะของใบ[1],[2],[5]
    – เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่
    – ออกเรียงสลับกัน
    – เป็นช่อยาว 15-40 เซนติเมตร
    – ก้านช่อใบยาว 2-4 เซนติเมตร มีใบย่อย 5-8 คู่
    – เรียงจากเล็กไปหาใหญ่
    – ใบย่อยเป็นรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก
    – ปลายใบกลม
    – โคนใบมนและเบี้ยวเล็กน้อย
    – ขอบใบเรียบ
    – มีความกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาว 4-9 เซนติเมตร
    – แผ่นใบบาง
    – เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-9 เส้น
    – เนื้อใบมีขนละเอียดนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน
    – ด้านท้องใบจะมีขนขึ้นหนาแน่นมากกว่าด้านหลังใบ
  • ลักษณะของดอก[1],[2],[3],[5]
    – ออกดอกเป็นช่อกระจะตามกิ่งพร้อมกับแตกใบอ่อน
    – ช่อดอกไม่แตกแขนง
    – มีความยาว 5-10 เซนติเมตร
    – มีขนสีเหลืองขึ้นปกคลุม
    – ช่อดอกจะออกแน่นเป็นกลุ่มตลอดกิ่ง
    – ก้านดอกยาวได้ 4-6 เซนติเมตร
    – ดอกมีใบประดับเป็นรูปใบหอกชัดเจน มีความกว้าง 7 มิลลิเมตร และยาว 0.7-1.2 เซนติเมตร
    – ดอกเมื่อเริ่มบานแล้วจะเป็นสีชมพู
    – จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ จนถึงสีขาวเมื่อใกล้ร่วงโรย
    – กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ เป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่
    – ปลายกลีบแหลม มีความกว้าง 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร
    – มีขนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน
    – กลีบดอกมี 5 กลีบเช่นกัน เป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายมน โคนเรียวแคบ มีขนาดกว้าง 2-2.5 เซนติเมตร และยาว 4-5.5 เซนติเมตร
    – โคนกลีบดอกจะคอดเข้าหากันเป็นก้านแคบ ๆ ยาวได้ 5 มิลลิเมตร
    – กลางดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง
    – เกสรเพศผู้มี 10 อัน มีขนาดไม่เท่ากัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
    – กลุ่มแรกมี 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร
    – กลุ่มที่ 2 จะมี 4 อัน ก้านชูอับเรณูยาวเพียงครึ่งหนึ่งของกลุ่มแรก
    – กลุ่มที่ 3 มี 3 อัน อับเรณูมีขนาดเล็กมาก
    – ก้านชูอับเรณูยาวได้ 1-1.5 เซนติเมตร
    – มีรังไข่เรียวโค้งยาว 4 เซนติเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมบาง ๆ
    – รังไข่ติดอยู่บนก้านส่ง
    – เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีความกว้าง 3-5 เซนติเมตร
  • ลักษณะของฝัก[1],[2],[3],[5]
    – ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอกยาวแคบ เป็นสีน้ำตาล
    – แขวนลงมาจากกิ่ง
    – มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร และยาว 30-40 เซนติเมตร
    – ฝักมีขนนุ่มสีเทาปกคลุม
    – ภายในฝักแบ่งออกเป็นช่อง ๆ ตามขวาง
    – เนื้อในฝักเป็นสีขาวปนเขียว
    – มีเมล็ด 30-40 เมล็ด
    – ผลจะออกในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระยะเดียวกับการทิ้งใบ
  • ลักษณะของเมล็ด[5]
    – เมล็ด ค่อนข้างกลม เป็นรูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน
    – มีสีน้ำตาลเป็นมัน
    – มีความกว้างประมาณ 6-7 มิลลิเมตร และยาว 0.8-1.1 เซนติเมตร

สรรพคุณของกัลปพฤกษ์

  • เปลือกฝักและเมล็ด ช่วยทำให้อาเจียน[2],[3],[4]
  • เนื้อในฝัก สามารถนำมาใช้แก้คูถ แก้เสมหะ[3]
  • เปลือกฝักและเมล็ด มีรสขมเอียน สามารถนำมาใช้เป็นยาลด ถ่ายพิษไข้ได้ดี[2],[3],[4]
  • เนื้อในฝัก มีรสหวานเอียนขม สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นยาระบายอ่อน ๆ ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรดึกได้โดยไม่ไซ้ท้อง ช่วยระบายท้องเด็กได้ดี[2],[3],[4]

ประโยชน์ของกัลปพฤกษ์

  •  คนแก่ในสมัยก่อน จะใช้เนื้อในฝักกินคู่กับหมาก[4]
  • เนื้อไม้ มีความละเอียดและให้น้ำฝาด สามารถนำไปใช้ฟอกหนังได้[1]
  • ในสมัยก่อนคนไทยจะถือว่า เป็นไม้มงคล เหมาะสำหรับการนำไปทำด้ามธง ถือว่าทำให้เกิดสิริมงคลดีนัก[3]
  • คนไทยในอดีตเชื่อกันว่า มีอยู่ในแดนสวรรค์ เปรียบเหมือนแก้วสารพัดนึก หากปรารถนาสิ่งใด จะไปขอเอาจากต้นไม้นี้
  • เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ มีโชคมีชัย เชื่อกันว่าหากบ้านใดปลูกไว้เป็นไม้ประจำบ้าน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นสิริมงคล ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต พบแต่ความสุขสมหวังทุกประการ[3]
  • เป็นไม้มงคลที่มีรูปทรงสวยงาม ให้ดอกสวย ออกดอกดกเต็มต้น มีสีชมพูอ่อนสดใสดูงดงาม
  • ในปัจจุบันนิยมจึงนำมาปลูกเป็นไม้ประดับกันทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะปลูกไว้ประดับอาคารบ้านเรือน ปลูกในสวนสาธารณะ และริมถนนทั่วไป และสามารถทนดินเลวและอากาศแห้งได้เป็นอย่างดี[1],[2],[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ไม้โตเร็วอเนกประสงค์, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กั ล ป พ ฤ ก ษ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [17 มิ.ย. 2015].
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กัลปพฤกษ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [17 มิ.ย. 2015].
3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 320 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “กาลพฤกษ์ : ดอกไม้แห่งกาลเวลาของชาวไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [17 มิ.ย. 2015].
4. หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.
5. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กัลปพฤกษ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [17 มิ.ย. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.richardlyonsnursery.com/pink-shower-tree-cassia-bakeriana/#page-content