กระดูกไก่ ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า แถมปลูกประดับได้

กระดูกไก่ ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า แถมปลูกประดับได้
กระดูกไก่ หรือหอมไก๋ ลำต้นเป็นข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ นำมาขยี้มีกลิ่นคล้ายกับการบูร มีรสค่อนข้างขม และสามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้
กระดูกไก่ ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า แถมปลูกประดับได้
กระดูกไก่ หรือหอมไก๋ ลำต้นเป็นข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ นำมาขยี้มีกลิ่นคล้ายกับการบูร มีรสค่อนข้างขม และสามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้

กระดูกไก่

กระดูกไก่ (Chloranthus erectus) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “หอมไก๋” เป็นต้นที่มีลำต้นเป็นข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ จึงเป็นที่มาของชื่อต้น ทั้งนี้ลำต้นจะมีกลิ่นคล้ายกับการบูรอีกด้วยเมื่อนำมาขยี้ และมีรสค่อนข้างขมพอสมควร มักจะพบได้ทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ส่วนของใบอ่อนจะนำมารับประทานในรูปแบบของผักได้ นอกจากนั้นยังเป็นยาสมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและชาวกาลิมันตัน ส่วนคนไทยอาจจะยังไม่ค่อยนิยมนำมาใช้กันมากนัก กระดูกไก่ยังเป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระดูกไก่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chloranthus erectus (Buch. – Ham.) Verdc.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “หอมไก่” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “หอมไก๋” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “เกตเมือง ฝอยฝา” จังหวัดตรังเรียกว่า “ชะพลูป่า” ชาวมาเลเซียเรียกว่า “เกอรัส ตูรัง” ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า “บาเรา บาเรา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระดูกไก่ (CHLORANTHACEAE)

ลักษณะของกระดูกไก่

กระดูกไก่ เป็นพรรณไม้พุ่มที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียเขตร้อน พบได้ทั่วไปตั้งแต่เนปาล ยูนนาน หมู่เกาะอันดามันไปจนถึงเกาะนิวกินี มักจะพบได้ทั่วไปตามบริเวณริมน้ำหรือดินที่ค่อนข้างแฉะชื้นและมักพบได้ทั่วไปในป่าที่ราบต่ำ พบได้มากที่สุดทางภาคเหนือ
ลำต้น : ลำต้นมีข้อบวมพองลักษณะคล้ายกระดูกไก่ ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นคล้ายกับการบูรและมีรสค่อนข้างขม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี รูปหอก รูปขอบขนานแกมใบหอกหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ขอบใบดูเหมือนเรียบแต่จะมีหยักเป็นฟันเลื่อยแบบตื้น แผ่นใบบางเป็นสีเขียวสด หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มและเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ ใบมีน้ำมันหอมระเหยและกรดคูมาริก
ดอก : ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งติดก้านช่อดอก แต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กหลายดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวติดเป็นก้อนกลมตามก้านช่อดอก ดอกมีกลิ่นหอม ไม่มีกลีบดอกหรือกลีบรองดอกแต่จะมีใบประดับและเกสรเพศผู้สีขาวซึ่งจะออกเรียงกันอยู่ข้างในและมีอับเรณู 4 พู มีรังไข่ 1 ช่อง เชื่อมติดกันอยู่โคนใบประดับ มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผลสดสีขาวฉ่ำน้ำ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ซึ่งลักษณะของเมล็ดเป็นรูปค่อนข้างกลมและแข็ง

สรรพคุณของกระดูกไก่

  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้ไข้เรื้อรัง โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำทั้งต้นผสมกับหัวยาข้าวเย็นแล้วต้มกับน้ำดื่มต่างชาเป็นยา
  • สรรพคุณจากรากและใบ
    แก้ไข้ เป็นยาขับเหงื่อ แก้กามโรค ด้วยการนำรากและใบชงเป็นชาดื่ม
  • สรรพคุณจากกิ่ง
    – รักษามาลาเรีย โดยชาวไทยภูเขานำกิ่งมาต้มเป็นยา
    – ป้องกันการตั้งครรภ์ โดยชาวกาลิมันตันนำกิ่งมาต้มกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากราก
    – รักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ แก้ผิดเดือนและผิดสาบ ด้วยการนำรากมาผสมกับรากหนาดคำและรากหนาดมาฝนกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากลำต้น
    – เป็นยากระตุ้น ระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับเปลือกอบเชยกินเป็นยา

ประโยชน์ของกระดูกไก่

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนนำมากินเป็นผักร่วมกับลาบได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ทำสีย้อมผ้าโดยจะให้สีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกมีกลิ่นหอมและปลูกเลี้ยงง่าย

กระดูกไก่ เป็นต้นที่มีประโยชน์สำหรับชาวบ้านและชาวเขาเป็นอย่างมาก สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้าได้อีกด้วย และส่วนของดอกมีกลิ่นหอมชวนให้น่าชม แต่ที่สำคัญเลยก็คือกระดูกไก่เป็นส่วนประกอบในตำรับยาพื้นบ้านมากมาย กระดูกไก่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะกิ่ง รากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ รักษามาลาเรีย รักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติและระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กระดูกไก่”. หน้า 17-18.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กระดูกไก่”. หน้า 67.
หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 บ้านปางมะโอ. (เกรียงไกร และคณะ). “กระดูกไก่”.
หนังสือทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับที่ 16 พืชที่ให้สารกระตุ้น. (พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ). “กระดูกไก่”.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/