ปอทะเล ไม้ยืนต้นแถบป่าชายเลน ช่วยแก้ไข้ แก้หูอักเสบ แก้หลอดลมอักเสบ
ปอทะเล เป็นไม้ยืนต้น ทำเป็นบอนไซเพื่อเป็นไม้ประดับตกแต่ง และเป็นยาสมุนไพรรักษาอาการพื้นฐาน

ปอทะเล

ปอทะเล (Coast cotton tree) เป็นไม้ยืนต้นแถบป่าชายเลนที่นิยมสำหรับชาวท้องถิ่นหรือชาวพื้นเมือง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทำอุปกรณ์ในการทำเรือได้ โดยปกติแล้วมักจะเป็นต้นที่อยู่ในแถบริมทะเลซึ่งคนทั่วไปคงไม่รู้จักกันมากนัก ในแถบทวีปเอเชียมีการนำปอทะเลมาทำเป็นบอนไซเพื่อเป็นไม้ประดับตกแต่ง นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรแก้อาการพื้นฐานได้ด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของปอทะเล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus tilliaceus L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Coast cotton tree” “Yellow mallow tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ปอฝ้าย” ภาคใต้เรียกว่า “ปอนา ปอนาน ปอมุก ปอฝ้าย” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “ปอโฮ่งบารู” จังหวัดเลยเรียกว่า “ขมิ้นนางมัทรี ผีหยิก” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “บา” จังหวัดนนทบุรีเรียกว่า “โพธิ์ทะเล” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “โพทะเล”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ชบา (MALVACEAE)

ลักษณะของปอทะเล

ปอทะเล เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กที่มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ในประเทศไทยมักจะพบขึ้นตามชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน ตามแม่น้ำลำคลองภายใต้อิทธิพลของน้ำกร่อยหรือตามป่าดิบชื้นใกล้ชายฝั่ง ป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา
ลำต้น : ลำต้นคดงอและแตกกิ่งก้านมาก เรือนยอดเป็นพุ่มแผ่กว้าง มีการแตกกิ่งต่ำ
เปลือกลำต้น : เป็นสีเทาอมสีน้ำตาล เปลือกต้นด้านนอกเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ มีช่องระบายอากาศเป็นแนวตามยาวของลำต้น ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีชมพูประขาว มีความเหนียว สามารถลอกออกจากลำต้นได้ง่าย
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปหัวใจ โคนใบกว้างและเว้า ปลายใบเรียวแหลมเป็นหางยาว ขอบใบเรียบ เนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างหนา ผิวใบด้านบนมีขนบาง ๆ ไปจนถึงเกลี้ยง ท้องใบเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดรูปดาวสีขาว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นหรือเป็นช่อแขนง โดยจะออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง อาจมีหนึ่งดอกหรือหลายดอก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นสีน้ำตาลรูปใบหอก ปลายกลีบแหลมและมีขน กลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปไข่กว้างหรือไข่กลับสีเหลืองเรียงซ้อนเกยทับกัน บริเวณโคนกลีบด้านในเป็นสีม่วงหรือสีแดงเข้ม มีเกสรเป็นแกนยื่นออกมา เมื่อดอกเริ่มบานจะเป็นสีเหลือง เมื่อดอกโรยราจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือแดง สามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี หรือออกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม
ผล : ผลเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่เกือบกลม เปลือกผลแข็งและมีขนสั้นละเอียดคล้ายขนกำมะหยี่ เมื่อแก่จะแตกเป็น 5 พู อ้าออกและติดอยู่กับต้น สามารถออกผลได้เกือบตลอดทั้งปี
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต

สรรพคุณของปอทะเล

  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาระบายอ่อน ๆ
    – เป็นยาหยอดหู แก้หูอักเสบและหูเป็นฝี ด้วยการนำใบสดมาคั้นแล้วเอาน้ำมาหยอดหู
    – เป็นยารักษาแผลสด แผลเรื้อรัง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผง
  • สรรพคุณจากดอก
    – รักษาอาการเจ็บในหู ด้วยการนำดอกมาต้มกับน้ำนมแล้วทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นนำมาหยอดหู
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาระบายท้อง
    – เป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากใบอ่อน
    – เป็นยาแก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ ด้วยการนำใบอ่อนมาตากแห้งเพื่อใช้ชงกับน้ำดื่ม
  • สรรพคุณจากเปลือก ทำให้อาเจียน
    – แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ด้วยการนำเปลือกสดมาแช่กับน้ำจนได้เมือกแล้วนำเมือกมาดื่มแก้อาการ
    – เป็นยารักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของชาวโอรังอัสลีในรัฐเประก์ที่ประเทศมาเลเซีย ด้วยการนำเปลือกมาทำเป็นยาผง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปอทะเล

1. ใบปอทะเลมีสารต้านอนุมูลอิสระและต่อต้านเอนไซม์ไทโรซีเนส (Tyrosinase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้าง Melanin หรือเม็ดสี
2. Cyanidin – 3 – glucoside เป็นแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ชนิดหลักที่พบได้ในดอกปอทะเล

ประโยชน์ของปอทะเล

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผัก
2. เป็นไม้ปลูกประดับ แถบทวีปเอเชียนิยมนำต้นปอทะเลมาทำบอนไซ
3. ใช้ในการเกษตร ใบใช้เป็นอาหารของวัวและควาย
4. ประยุกต์เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ ใยจากเปลือกต้นใช้ทำเชือก ทำกระดาษห่อของ ทำหมันยาเรือ เนื้อไม้ใช้ทำเรือซึ่งในรัฐฮาวายมีการนำมาทำเรือแคนู

ปอทะเล ถือเป็นต้นที่มีดอกสีสดใสและค่อนข้างโดดเด่น สามารถนำส่วนประกอบของต้นมาใช้ประโยชน์ได้โดยเฉพาะชาวพื้นเมือง ที่น่าสนใจคือชาวโอรังอัสลีในประเทศมาเลเซียนำเปลือกมาใช้ในการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นสมุนไพรพื้นเมืองที่มีประโยชน์กว่าที่คิด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้หูอักเสบและอาการเจ็บหู เป็นยาระบาย แก้ไข้และแก้หลอดลมอักเสบได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ปอทะเล (Po Thale)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 171.
พันธุ์ไม้ในป่าชายเลน. “ปอทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th/schoolnet/library/webcontest2003/100team/dlss020/A2/A2.htm. [21 เม.ย. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปอทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [21 เม.ย. 2014].
หนังสือพรรณไม้ในป่าชายเลน. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี).
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โพธิ์ทะเล”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 576-577.
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 468, วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552. “ปอทะเล สมุนไพรป่าชายเลน”. (ชำนาญ ทองเกียรติกุล).
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ปอทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ปอทะเล. [20 เม.ย. 2014].