น้ำมันมะพร้าว คืออะไร?
น้ำมันมะพร้าว ( Coconut Oil ) คือ น้ำมันที่ได้จากเนื้อของผลมะพร้าว ( Cocos Nucifera L. ) มีองค์ประกอบเป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีขนาดโมเลกุล 8 -12 ซึ่งจัดเป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีขนาดปานกลาง ( Medium Chain Fatty Acid ) จัดเป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะกรดลอลิก ( Lauric Acid ) ที่มีปริมาณมากถึงร้อยละ 53 เลยทีเดียว กรดไขมันอิ่มตัวชนิดนี้ถูกเผาพลาญได้ดีจึงเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับร่างกายได้อย่างรวดเร็ว น้ำมันมะพร้าวเมื่อนำมาแช่เย็นจะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว นอกจากจะมีประโยชน์ต่อการประกอบอาหารแล้ว น้ำมันมะพร้าวยังมีประโยชน์ในด้านความงามและผิวพรรณอีกด้วย
ประเภทการสกัดน้ำมันมะพร้าว
1. น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Pure Coconut Oil) เป็นน้ำมันมะพร้าวที่สกัดจากเนื้อมะพร้าวที่อบแห้ง หรือตากแห้ง ซึ่งนำมาคั้นด้วยเครื่องมือ ไม่มีการการกลั่น ไม่มีเติมสารใดๆ จึงได้เป็นน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์
2. น้ำมันมะพร้าวผ่านกรรมวิธี (Refined Coconut Oil) เป็นน้ำมันมะพร้าวที่ผ่านกระบวนการกลั่น มีการเติมสารเคมี ฟอกสี และการแต่งกลิ่น
3. น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น (Virgin Coconut Oil) เป็นน้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการวิธีการสกัดเย็น โดยใช้สารเคมีในการสกัดแยกจากเนื้อมะพร้าวไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อน ยังคงคุณประโยชน์จากมะพร้าวไว้อย่างครบถ้วน
4. น้ำมันมะพร้าวอินทรีย์ (Organic Coconut Oil) เป็นน้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการปลูกแบบอินทรีย์หรือออร์แกนิก โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการสกัด
5. น้ำมันมะพร้าวอินทรีย์สกัดเย็น (Organic Virgin Coconut Oil) เป็นการสกัดน้ำมันมะพร้าวจากมะพร้าวที่ได้จากการปลูกแบบอินทรีย์และไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนและไม่เติมสารเคมีใดๆ
วิธีการสกัดน้ำมันมะพร้าว
1.มันมะพร้าวสกัดร้อน คือ การนำน้ำกะทิหรือเนื้อมะพร้าวขูดมาเคี่ยวด้วยความร้อน แล้วทำการเคี่ยวไปเรื่อยๆ น้ำมันที่อยู่ในกะทิหรือเนื้อมะพร้าวขูดไหลออกมา น้ำมันที่ออกมาจะลอยอยู่ด้านบน ส่วนนี้คือน้ำมันมะพร้าว จะเป็นสีเหลืองใส ไม่มีกลิ่นมะพร้างหลงเหลืออยู่ น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการสกัดร้อนจะสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการบางอย่างไป เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินอี เป็นต้น
2.การสกัดน้ำมันมะพร้าวผ่านกรรมวิธี ( Refined Coconut Oil ) คือ การนำเนื้อมะพร้าวที่ตากหรืออบจนแห้งแล้ว มาทำให้มีขนาดเล็กมากๆ แล้วนำเนื้อมะพร้าวไปบีบอัด ( Expression ) หรือใช้ตัวทำละลาย ( Solvent extraction ) ในการนำน้ำมันออกจากเนื้อมะพร้าวได้เป็นน้ำมันมะพร้าวออกมา ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็นน้ำมันดิบ ( Crude Oil ) และนำน้ำมันดิบที่ได้ไปผ่านกรรมวิธีทำให้บริสุทธิ์ เช่น การฟอกสี การกำจัดกลิ่น เป็นต้น เพื่อให้กลายเป็นน้ำมันมะพร้าวผ่านกรรมวิธีที่ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นและรส เหมาะกับการนำมาประกอบอาหาร เพราะน้ำมันมะพร้าวชนิดนี้มีจุดเกิดควัน ( Smoke Point ) สูง
น้ำมันมะพร้าว ( Coconut Oil ) คือ น้ำมันที่ได้จากเนื้อของผลมะพร้าว ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
3.น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น คือ น้ำมันมะพร้าวที่สกัดด้วยวิธีธรรมชาติที่ไม่ใช้ความร้อนและความสารเคมีในการสกัด น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการสกัดเย็นเป็นน้ำมันมะพร้าวที่มีความบริสุทธิ์ ( Extra Virgin Coconut oil ) ลักษณะของน้ำมันมะพร้าวที่ได้จะใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นหืน กลิ่นเปรี้ยว ไม่มีตะกอน ไม่หนืด บางครั้งอาจจะมีกลิ่นมะพร้าวอ่อนๆ ซึ่งวิธีสกัดเย็นมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ คือ
3.1 การสกัดเย็นแบบหมัก คือ การน้ำเนื้อมะพร้าวมาทำการคั้นเอาน้ำกะทิออกมา แล้วนำน้ำกะทิมาหมักทิ้งไว้ 6-8 ชั่วโมง ทำการกรองเอาส่วนที่เป็นน้ำมันออกมาก นำไปผ่านความร้อนเพื่อระเหยเอาส่วนที่เป็นน้ำออกจากน้ำมัน ก็จะได้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์พร้อมใช้และสามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 1 ปี
3.2 การสกัดเย็นแบบง่าย คือ การนำแบบที่ง่ายและรวดเร็ว เริ่มจากการนำน้ำกะทิใส่ถุงมัดนำไปแช่เย็นทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง น้ำกะทิจะเกิดการแยกออกเป็น 2 ชั้น ให้นำน้ำส่วนบนแยกออกมาใส่ถุงและนำไปแช่ช่องแช่แข็งนาน 36 ชั่วโมง เมื่อครบ 36 ชั่วโมงให้นำออกมาไว้ที่อุณหภูมิห้องจนน้ำแข็งละลาย น้ำแข็งที่ละลายออกมาจะแยกออกเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดจะมีลักษณะเป็นเนื้อครีม ชั้นกลางคือชั้นของน้ำมันมะพร้าว ส่วนชั้นล่างคือน้ำเปรี้ยว ให้ทำการตักชั้นครีมออกก่อนและตักชั้นน้ำมันมะพร้าวแยกออกมา เราก็จะได้น้ำมันมะพร้าวพร้อมใช้แล้ว น้ำมันมะพร้าวที่สกัดด้วยวิธีนี้จะเก็บได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง
3.3 การสกัดเย็นภายใต้สภาวะสูญญากาศ คือ การสกัดน้ำมันมะพร้าวโดยการกลั่นน้ำมันออกจากน้ำในสภาวะสูญญากาศ วิธีการสกัดเย็นแบบนี้นิยมใช้ในการผลิตน้ำมันมะพร้าวในอุตสาหกรรม เนื่องจากสกัดได้ในปริมาณที่มาก และน้ำมันมะพร้าวที่ได้มีคุณภาพดี มีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการเหมือนกับน้ำมะพร้าวจากลูกมะพร้าวที่ไม่ผ่านความร้อน แต่สามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง
3.4 การสกัดเย็นแบบเหวี่ยง คือ การน้ำกะทิมาใส่ในเครื่องเหวี่ยงเพื่อทำการเหวี่ยง ด้วยความหนาแน่นของน้ำ ตะกอนและน้ำมันที่อยู่กะทิจะทำให้เมื่อเหวี่ยงด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอแล้ว จะทำให้น้ำมันแยกตัวออกมาจากน้ำกะทิ และทำการแยกน้ำมันออกมาก็จะได้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์แล้ว น้ำมันมะพร้าวแบบเหวี่ยงจะเก็บไว้ได้นานประมาณ 1 ปี
การนำมะพร้าวมาผลิตน้ำมันมะพร้าวควรใช้ผลมะพร้าวที่แก่จัดในการนำมาสกัด เพราะมะพร้าวที่แก่จัดจะมีปริมาณน้ำมันมากและน้ำมันที่ได้ก็จะมีคุณภาพที่ดีกว่าการนำมะพร้าวที่ไม่แก่จัดมาทำการผลิต
เมื่อทราบถึงวิธีการสกัดน้ำมันมะพร้าวแล้ว น้ำมันมะพร้าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูงจึงเหมาะกับการรับประทานเพื่อสุขภาพหรือนำมาใช้ปรุงอาหารรับประทาน
ประโยชน์ที่ของน้ำมันมะพร้าว
1.ลดความอยากอาหาร สรรพคุณน้ำมันมะพร้าวต่อความอ้วน ประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวขนาดปานกลาง ซึ่งกรดไขมันนี้ร่างกายสามารถทำการย่อยได้ง่าย ร่างกายจึงทำการดูดซึมเข้าสู่ตับเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับร่างกายได้โดยตรงและรวดเร็ว ดังนั้นหลังจากที่เรารับประทานน้ำมันมะพร้าวเข้าไปจะทำให้เราอิ่มเร็วขึ้น และพลังงานที่ได้รับจากน้ำมันมะพร้าวก็สูงมากจึงทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มนานขึ้นด้วย ทำให้เรามีความอยากอาหารน้อยลง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนัก
2.ช่วยเผาผลาญไขมัน น้ำมันมะพร้าวจะเข้าไปกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิซึม ( Metabolism ) ในการเปลี่ยนกรดไขมันอิ่มตัวให้กลายเป็นพลังงาน เมื่ออัตราเมตาบอลิซึมสูงส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย ทำให้ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) ผลิตฮอร์โมนด์ไทยรอยด์ออกมาเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเผาพลาญไขมันได้มากขึ้น กระบวนการต่างๆ ของร่างกายก็ทำงานได้อย่างปกติ และยัง่วยลดการสะสมของไขมันตามร่างกายเพราะร่างกายมีการเผาพลาญไขมันไปใช้เป็นพลังงานจนหมด
3.กระตุ้นการทำงานของสมอง น้ำมันมะพร้าวเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ตับจะทำการย่อยสลายกลายเป็นกลูโคสและคีโตนที่จัดเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของสมอง กลูโคสที่ได้จะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของเซลล์สมองทำให้สมองมีความแข็งแรง สมองจึงทำงานได้ดีมีการเรียนรู้ รับรู้และจดจำที่มากขึ้น นอกเหนือจากกลูโคสแล้วคีโตนที่ได้จากการย่อยน้ำมันมะพร้าวจากตับก็ถือเป็นแหล่งพลังงานอีกอย่างหนึ่งของเซลล์สมองในยามที่ร่างกายขาดกลูโคส สมองจะดึงคีโตนที่ได้จากน้ำมันมะพร้าวส่งไปเป็นแหล่งพลังงานให้กับสมองทดแทนกลูโคส คีโตนจะช่วยลดความเสียหายของเซลล์สมองได้เป็นอย่างดีและยังช่วยลดการอักเสบของเซลล์สมอง ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์
4.บำรุงกระดูกและฟัน น้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบของแคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งแคลเซียมและแมกนีเซียมจะช่วยสร้างเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน เมื่อเรากินน้ำมันมะพร้าวซึ่งมีแมกนีเซียมที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้เป็นอย่างดี จึงช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกเสื่อม ข้อเสื่อมได้เป็นอย่างดี
5.ฆ่าเชื้อโรค น้ำมันมะพร้าวมีกรดลอริกในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งกรดลอริกนี้มีสารโมโนลอริน ( Monolaurin ) ที่มีคุณสมบัติที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัสได้ โดยน้ำมันมะพร้าวจะทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรคและปล่อยสารโมโนลอรินเข้าไปในเซลล์ของเชื้อโรค สารโมโนลอรินจะส่งผลให้เซลล์ของเชื้อโรคที่เข้ามานั้นตายไป และสารโมโนลอรินยังไม่ส่งผลกับจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีอยู่ในร่างกายอีกด้วย จึงช่วยเพิ่มความแข็งแรงของภูมิต้านทานโรคได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังสามารถนำมาอมในปากหรือใช้กลั้วคอก็จะช่วยฆ่าเชื้อโรคในปากและลำคอ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในปากและลำคอ ลดการเกิดกลิ่นปาก ลดการสะสมของเชื้อโรคในปาก ป้องกันเหงือกอักเสบ
6.เพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือด น้ำมันมะพร้าวมีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของสารประกอบฟีนอล ซึ่งสารประกอบกลุ่มนี้จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดีที่ช่วยป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระเข้ามาทำร้ายเซลล์ผนังหลอดเลือดได้ หลอดเลือดจึงมีความแข็งแรงสมบูรณ์ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและเส้นเลือดตีบตัน
7.ป้องกันโรคเบาหวาน โดยน้ำมันมะพร้าวจะไปกระตุ้นและเพิ่มการทำงานของตับในการผลิตสารอินซูลินให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เมื่อระดับอินซูลินคงที่ทำให้ร่างกายมีการเผาพลาญไขมันและคาร์โบไฮเดรตในกระแสเลือด จึงช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน
8.ไม่ก่อมะเร็ง น้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบของไขมันอิ่มตัวมากถึง 92% จึงไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาการเติมไฮโดรเจน ( Hydrogenation ) จนเกิดเป็นไขมันทรานส์ ( Trans Fat ) โดยไขมันทรานส์นี้จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับเซลล์ทำให้เซลล์เกิดการกลายพันธุ์กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นน้ำมันมะพร้าวจึงเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ
9.บำรุงผิวพรรณ น้ำมันมะพร้าวมีวิตามินอีสูง วิตามินอีจะเข้าไปกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น มีความชุ่มชื่นใต้ผิวและลดการสูญเสียน้ำของเซลล์ จึงช่วยป้งอกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัย นอกจากการรับประทานน้ำมันมะพร้าวแล้ว การนำน้ำมันมะพร้าวมาทาผิวก็ช่วยเพิ่มความชุมชื่นให้กับผิวได้เช่นกัน เพราะน้ำมันมะพร้าวมีโมเลกุลขนาดเล็กจึงซึมเข้าสู่ผิวได้อย่างรวดเร็ว และวิตามินอียังช่วยป้องกันแสงแดดเข้ามาทำลายเซลล์ผิวชั้นนอกได้เป็นอย่างดี
10.บำรุงเส้นผม น้ำมันมะพร้าวน้ำสามารถที่จะนำมาใช้ในการหมักเพื่อดูแลเส้นผม ทำให้ผมสวยและเงางามแบบธรรมชาติ รวมไปถึงทำให้เส้นผมดูมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น แต่ควรที่จะเริ่มทำก่อนสระผมประมาณ 30 นาทีโดยเป็นการหมักน้ำมันมะพร้าวทิ้งเอาไว้ แล้วค่อยไปสระผมออกตามปกติ
11.ป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด น้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันชนิดที่ดีที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้งานอย่างเต็มที่ จากการศึกษาและทดลองพบว่าคนทีรับประทานน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำประมาณ 12 สับดาห์ เมื่อทำการตรวจวัดค่าไขมันพบว่าปริมาณไขมันชนิดดี ( HDL ) มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 7-8% แต่ปริมาณไขมันชนิดไม่ดี ( LDL ) มีค่าไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการปริโภคน้ำมันมะพร้าวจึงช่วยลดปริมาณไขมันเลวที่เป็นต้นเหตุของการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือดและโรคหลอดเลือดแข็งตัวได้
น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก แต่ทว่าการเลือกรับประทานน้ำมันมะพร้าวมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเราเลือกรับประทานน้ำมันมะพร้าวที่ไม่ดีแทนที่จะส่งผลดีต่อร่างกายอาจจะสร้างผลเสียต่อร่างกายได้
ลักษณะที่ดีของน้ำมันมะพร้าว
1.ใส น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ต้องใส ไม่มีสี ไม่มีตะกอนปะปนอยู่ในน้ำมัน
2.กลิ่นคล้ายมะพร้าวหรือไม่มีกลิ่น น้ำมันมะพร้าวที่ดีต้องไม่มีกลิ่นเหม็นหืนหรือเหม็นเปรี้ยว และต้องมีกลิ่นหอมอ่อนคล้ายมะพร้าว
3.ไม่หนืด ลักษณะเฉพาะของน้ำมันมะพร้าวคือไม่หนืดหรือมีความหนืดน้อยมาก เมื่อรับประทานเข้าปากจะไม่มีความรู้สึกเลี่ยนเหมือนการกินน้ำมันอื่นๆ ถึงจะเป็นน้ำมันมะพร้าวคุณภาพดีที่ควรนำมารับประทาน
4.ซึมเร็ว เมื่อนำมาทาบนผิวน้ำมันต้องซึมเข้าสู่ผิวอย่างรวดเร็วและไม่ทิ้งความมันไว้บนผิวหนังหรือคราบน้ำมันไว้บนผิวเลย
เมื่อได้น้ำมันมะพร้าวคุณภาพดีมาใช้แล้ว การเก็บรักษาก็มีส่วนช่วยคงคุณค่าของน้ำมันมะพร้าวไว้ด้วยเช่นกัน เพราะถ้าเราซื้อมาแล้วใช้ครั้งเดียวไม่หมด ถ้าเราเก็บรักษาไม่ดีน้ำมันมะพร้าวที่ดีอาจจะกลายเป็นน้ำมันมะพร้าวคุณภาพต่ำไปเลยก็ได้ ดังนั้นควรเก็บน้ำมันมะพร้าวในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ไม่ควรวางไว้ที่ที่โดนแสงแดดเพราะจะทำให้น้ำมันมะพร้าวเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น การเก็บอาจจะนำไปแช่เย็นหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อเก็บไว้ในตู้เย็นน้ำมันมะพร้าวจะแข็งตัวเวลาที่ใช้ต้องรอให้น้ำมันมะพร้าวคลายตัวเป็นของเหลวโดยการวางไว้ที่อุณหภูมิปกติสักครู่หนึ่งก่อน
การกินน้ำมันมะพร้าวนั้นกินได้ง่ายมาก เพราะเป็นน้ำมันที่สามารถกินได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องนำไปปรุงเป็นอาหารก่อน หรือว่าจะนำไปปรุงอาหารเพื่อใช้ในการรับประทานก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริโภค การรับประทานน้ำมันมะพร้าวก็เหมือนการรับประทานน้ำมันชนิดอื่นๆ ที่ต้องบริโภคในอัตราส่วนที่เหมาะสม ถ้ามากไปก็จะเข้าไปสะสมเป็นไขมันส่วนเกินในร่างกาย ถ้าน้อยไปร่างกายก็ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
วิธีการกินน้ำมันมะพร้าวเพื่อลดน้ำหนัก
ควรกินน้ำมันมะพร้าวตามด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำอุ่น 1 แก้ว ควรกินก่อนมื้ออาหารประมาณ 30-60 นาที เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติช่วยลดความอยากอาหารได้ดี กระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน และเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย กระตุ้นการขับถ่าย ซึ่งหลังทานน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1-2 ชั่วโมงจะรู้สึกอยากถ่าย
ขนาดรับประทานน้ำมันมะพร้าวที่เหมาะสมต่อน้ำหนักตัว
น้ำหนักตัว ( กิโลกรัม ) | ขนาดรับประทาน |
30 – 40 กิโลกรัม | สามารถรับประทานน้ำมันมะพร้าวได้ไม่เกินครึ่งช้อนโต๊ะต่อวัน |
41 – 60 กิโลกรัม | สามารถรับประทานน้ำมันมะพร้าวได้ไม่เกิน 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน |
น้ำหนักตัว 61- 80 กิโลกรัมหรือผู้สูงอายุที่มีเกิน 60 ปีขึ้นไป | สามารถรับประทานน้ำมันมะพร้าวได้ไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน |
น้ำหนักตัว 80 กิโลกรัมขึ้นไป | สามารถรับประทานน้ำมันมะพร้าวได้ไม่เกิน 3 ช้อนโต๊ะต่อวัน |
น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันเพื่อสุขภาพที่สามารถรับประทานได้ทุกวัน นับว่าเป็นน้ำมันทางเลือกที่เหมาะกับคนไทยเราเพราะสามารถทำรับประทานได้ด้วยตัวเองที่บ้านหรือจะหาซื้อก็มีราคาถูก จัดเป็นน้ำมันที่ต่อร่างกายและดีต่อใจจริงๆ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
สุนันท์ วิทิตสิริ. รู้จักกับ น้ำมันและไขมันปรุงอาหาร. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2559. 80 หน้า. 1.รู้จักกับน้ำมันและไขมัน. 2.ปรุงอาหาร. I.ชื่อเรื่อง. 665 ISBN 978-616-538-290-8.
“Coconut oil”. Transport Information Service, German Insurance Association, Berlin. 2015.
Grimwood, BE; Ashman F; Dendy DAV; Jarman CG; Little ECS; Timmins WH (1975). Coconut Palm Products – Their processing in developing countries. Rome: FAO. pp. 49–56. ISBN 978-92-5-100853-9.