คันทรง ช่วยแก้ไข้ บรรเทาอาการปวด ช่วยให้นอนหลับและแก้อาการบวมน้ำ

0
1837
คันทรง ช่วยแก้ไข้ บรรเทาอาการปวด ช่วยให้นอนหลับและแก้อาการบวมน้ำ
คันทรง หรือผักก้านตรงนิยมรับประทานเป็นยา ดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ผลเรียงห้อยลงเป็นแถว ๆ ตามกิ่ง
คันทรง ช่วยแก้ไข้ บรรเทาอาการปวด ช่วยให้นอนหลับและแก้อาการบวมน้ำ
คันทรง หรือผักก้านตรงนิยมรับประทานเป็นยา ดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ผลเรียงห้อยลงเป็นแถว ๆ ตามกิ่ง

คันทรง

คันทรง (Colubrina asiatica) หรือเรียกกันว่า “ผักก้านตรง” เป็นผักที่ไม่ค่อยได้ยินบ่อยแต่มีสรรพคุณมากมายและเป็นต้นที่นิยมนำมารับประทานเป็นยาอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ทั้งนี้ถือเป็นต้นที่มีโทษเช่นกัน นอกจากจะเป็นยาแล้วยังสามารถนำมารับประทานหรือเป็นส่วนประกอบของอาหารในเมนูต่าง ๆ ได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของคันทรง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colubrina asiatica (L.) Brongn.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “คันซง คันซุง คันชุง คันทรง” ภาคเหนือเรียกว่า “ก้านถึง ก้านเถิ่ง ก้านเถิง ผักก้านเถิง” ภาคใต้เรียกว่า “กะทรง ทรง” ชาวกะเหรี่ยงและแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เพลโพเด๊าะ” จังหวัดสุรินทร์เรียกว่า “ก้านตรง” ลั้วะเรียกว่า “ผักหวานต้น” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ก้านเถง ผักก้านตรง ผักก้านถึง ผักคันทรง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พุทรา (RHAMNACEAE)

ลักษณะของคันทรง

คันทรง เป็นไม้พุ่มขนาดกลางกึ่งไม้เลื้อยที่คาดว่ามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย มักจะพบได้มากทางภาคเหนือตามป่าราบ ป่าดงดิบ ป่าละเมาะ หรือที่รกร้างข้างทางทั่วไป
ลำต้น : ตั้งตรงและแตกกิ่งก้านมากตั้งแต่โคนต้น กิ่งก้านมีขนาดเล็กและกลม มีสีเขียวเข้มเป็นมัน
เปลือกต้น : เป็นสีเทา มีรอยแตกเป็นร่องตื้น ๆ ถี่ ๆ และตามลำต้นจะมีตาที่ทิ้งใบเป็นตุ่มห่าง ๆ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปวงรี รูปไข่ รูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือแหลม ขอบใบหยักมนแกมจักเป็นฟันเลื่อยละเอียด แผ่นใบบาง หลังใบเรียบเป็นมันและมีสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ ท้องใบเรียบมีขนที่เส้นใบ ผิวใบทั้งสองด้านมันเงา
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกเล็ก ๆ ตามซอกใบและตามกิ่ง ก้านเรียงเป็นแถวช่อเล็ก ๆ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีสีเหลืองอ่อนปนเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ลักษณะของดอกเป็นรูปจาน ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม
ผล : เป็นผลเดี่ยวรูปทรงกลมหรือกลมแป้น ที่ขั้วผลมีวงกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ เรียงห้อยลงเป็นแถว ๆ ตามกิ่ง ปลายผลเว้าเข้า แบ่งออกเป็นพู 3 พู ผลอ่อนเป็นสีเขียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อผลแก่ ผิวเรียบเป็นมัน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวน 3 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบนและเป็นสีดำหรือเป็นสีน้ำตาลเทา

สรรพคุณของคันทรง

  • สรรพคุณจากใบ ทำให้เจริญอาหาร มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน แก้อาการบวมน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย
    – บรรเทาอาการระคายเคืองที่ผิว อาการแพ้ ผื่นคัน โรคผิวหนังอักเสบ ฝี และช่วยรักษาโรคผิวหนังได้บางชนิด ด้วยการนำใบมาต้มแล้วทา
  • สรรพคุณน้ำมันจากเมล็ด แก้อาการปวดศีรษะ เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการชา ช่วยบรรเทาอาการปวด แก้อาการปวดตามร่างกาย รักษาโรคข้อรูมาติก
  • สรรพคุณจากราก แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการบวมน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย
    – เป็นยาเย็น ช่วยแก้พิษร้อนถอนพิษไข้ โดยนิยมใช้รากคันทรงร่วมกับรากย่านางและรากผักหวานบ้าน เพื่อใช้เป็นยาหลักในตำรับยาแก้ไข้ แก้ไข้พิษ ไข้ออกตุ่มต่าง ๆ
    – แก้ตานขโมยในเด็ก เป็นยาแก้บวม ด้วยการนำรากมาฝนกับน้ำมะพร้าวแล้วรับประทาน
  • สรรพคุณจากผล มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน
  • สรรพคุณจากต้น
    – บรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร ด้วยการนำต้นมาต้มรับประทาน
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น แก้อาการบวมน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย
  • สรรพคุณจากเปลือกต้นและใบ
    – แก้อาการบวมทั้งตัวเนื่องจากไตและหัวใจพิการ แก้เม็ดผื่นคันตามตัว แก้อาการเหน็บชา ด้วยการนำเปลือกต้นและใบใช้ต้มอาบ

ประโยชน์ของคันทรง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนและยอดอ่อนนำมานึ่งหรือต้มใช้รับประทานเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริก เป็นผักรองห่อหมก นำมาผัดกับน้ำมันและยังนำมาใส่ในแกงแคร่วมกับผักอื่น ๆ
2. ใช้ในอุตสาหกรรม เป็นยาเบื่อปลา ชาวฮาวายจะใช้ใบแทนสบู่

ข้อควรระวังของคันทรง

1. ใบและผลมีสารซาโปนินซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน บริโภคมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้
2. ผลทำให้แท้งบุตร สำหรับสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานทั้งผลและใบ

คันทรง เป็นผักที่มีทั้งประโยชน์และโทษหากรับประทานมากจนเกินควร ถือเป็นยาสมุนไพรที่ช่วยแก้อาการได้หลากหลาย มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้อาการปวด ช่วยให้นอนหลับและแก้อาการบวมน้ำ เป็นต้นที่ไม่มีลักษณะโดดเด่นเมื่อเห็นแต่มีสรรพคุณมากมายที่ไม่ควรมองข้าม

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “คันทรง (Khan Song)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 78.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “คัดเค้า”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 179.
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “คันทรง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [17 ก.พ. 2014].
หนังสือผักพื้นบ้านภาคเหนือ. “ผักคันทรง”. (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2542)
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “คันทรง, ก้านเถง, ผักก้านถึง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [17 ก.พ. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “คันทรง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [17 ก.พ. 2014].
วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี. “ผักก้านตรง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: rspg.svc.ac.th. [17 ก.พ. 2014].