ตะโกนา พรรณไม้ประดับอายุยืนดูแลง่าย

0
1619
ตะโกนา
ตะโกนา พรรณไม้ประดับอายุยืนดูแลง่าย ผลอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลแดงหนา ขนร่วงง่าย โคนผลมักจะบุ๋ม ผลสุกมีสีแดง สีแดงปนส้ม เนื้อหุ้มสีขาวฉ่ำน้ำ
ตะโกนา
ผลอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลแดงหนา ขนร่วงง่าย โคนผลมักจะบุ๋ม ผลสุกมีสีแดง สีแดงปนส้ม เนื้อหุ้มสีขาวฉ่ำน้ำ

ตะโกนา

ตะโกนา เป็นพรรณไม้ป่าที่พบเห็นได้ตามธรรมชาติพบมากในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ ตะโกนา ตะโกดัด ตะโกสวน และตะโกดำ ลักษณะพิเศษของพืชชนิดนี้มีอายุยืนยาว ทนแล้ง เมื่อผลสุกจะมีเนื้อหุ้มเมล็ดรับประทานได้ ปัจจุบันพืชชนิดนี้นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ดัด ใช้เป็นไม้ประดับ ไม้มงคล เนื่องจากเนื้อไม้มีความยืดหยุ่น และเนื้อไม้มีความเหนียวนั่นเอง

ชื่อสามัญ :Ebony ชื่อวิทยาศาสตร์ :Diospyros rhodocalyx Kurz จัดอยู่ในวงศ์ : EBENACEAE ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น มะถ่านไฟผี นมงัว ตะโก มะโก พญาช้างดำ พระยาช้างดำ โก ตองโก หมัก เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปของตะโกนา

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูปทรงพุ่ม ต้นสูงประมาณ 8-15 เมตร เปลือกของลำต้นมีสีดำ จะแตกเป็นร่องลึก และเป็นสะเก็ดหนา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด (ไม่นิยมนักเพราะจะเติบโตได้ช้า) การตอนกิ่ง การขุดล้อมเอามาจากธรรมชาติ จะเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด จะต้องการแสงแดดแบบเต็มวัน ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง พบว่ามีเขตการกระจายพันธุ์ที่พม่าถึงภูมิภาคอินโดจีน ประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคที่ตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าละเมาะ ตามทุ่งนา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 40-300 เมตร[1],[2],[3],[4],[5],[8]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวจะออกเรียงสลับ ใบจะเป็นรูปรีค่อนข้างกลม รูปไข่กลับ รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกลาย ๆ รูปป้อม ที่ปลายใบจะมนมีติ่งสั้นหรือมีรอยหยักเว้าเข้านิดหน่อย ส่วนที่โคนใบจะเป็นรูปลิ่มหรือป้าน ขอบใบจะเรียบ ใบกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร แผ่นใบจะค่อนข้างหนาและเหนียว ที่หลังใบจะเรียบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน มีเส้นแขนงใบประมาณ 5-8 คู่ เส้นอ่อนจะคดไปมามองเห็นได้ที่ทางด้านหลังใบจะขึ้นเด่นชัดที่ด้านท้องใบ เส้นร่างแหถ้าสังเกตจะเห็นได้ทั้งสองด้าน เส้นกลางใบมีสีแดงเรื่อ ๆ ก้านใบสั้นมีความยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร[1],[2],[12]
  • ดอก ออกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศ จะอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะเป็นช่อเล็ก ๆ ออกที่ตามกิ่งหรือที่ตามง่ามใบ ช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 3 ดอก มีกลีบดอก 4 กลีบ และมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร จะมีขนนุ่ม กลีบดอกยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร เชื่อมกันเป็นรูปเหยือกน้ำ, รูปป้อง ๆ ที่ปลายจะแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ จะเกลี้ยงทั้งสองด้าน กลีบรองดอกมีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ที่โคนกลีบจะเชื่อมกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ที่ด้านนอกจะมีขนนุ่ม ด้านในจะมีขนยาว ๆ แน่น ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ประมาณ 14-16 ก้าน จะมีขนแข็งแซม ที่รังไข่เทียมจะมีขนแน่น ดอกเพศเมียออกที่ตามซอกใบ กลีบเลี้ยงกับกลีบดอกจะเหมือนดอกเพศผู้แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า ก้านดอกมีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร รังไข่จะป้อม จะมีขนเป็นเส้นไหมปกคลุม ด้านในแบ่งเป็น 4 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย หลอดท่อรังไข่จะมีหลอดเดียว มีขนแน่น ที่ปลายหลอดจะแยก 2 แฉก จะมีเกสรเพศผู้เทียมอยู่ประมาณ 8-10 ก้าน จะมีขนแข็งแซม ดอกออกช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[12]
  • ผล มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.4 เซนติเมตร (บ้างก็ว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร) ผิวผลจะเรียบ ผลอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ขนเหล่านี้จะร่วงง่าย ที่ปลายผลกับโคนผลมักจะบุ๋ม กลีบจุกของผลจะชี้ออกหรือแนบลู่ตามผิวผล ข้างในจะมีขนสีน้ำตาลแดง มีขนนุ่มที่ด้านนอกพื้นกลีบกับขอบกลีบมักจะเป็นคลื่น เส้นสายกลีบจะพอเห็นได้ ผลสุกมีสีแดง สีแดงปนส้ม ในผลจะมีเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปไข่รี, แบน เมล็ดมีสีน้ำตาล จะมีเนื้อหุ้มสีขาวฉ่ำน้ำ จะมีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีก้านผลที่สั้นมาก ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ติดผลช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[4],[12]

สรรพคุณของตะโก

1. รากกับต้นสามารถช่วยบำรุงน้ำนมของสตรีได้[13]
2. สามารถแก้บวม และฝีบวมได้ (ผล)[1],[2],[13]
3. สามารถใช้ผลเป็นยาเย็นถอนพิษได้[13]
4. สามารถใช้ผลเป็นยารักษาโรคผิวหนังได้[13]
5. สามารถแก้ตกเลือดได้ (ผล)[4],[6],[13]
6. สามารถนำเปลือกของผลมาเผาจนเป็นถ่าน แล้วใช้แช่กับน้ำกินเป็นยาขับระดูขาวของสตรีได้ เปลือกต้นหรือแก่นก็สามารถขับตกขาวได้[1],[2],[4],[13] บ้างก็ว่าผลสามารถเป็นยาขับระดูขาวได้[13]
7. สามารถนำเปลือกผลมาเผาจนเป็นถ่าน แล้วใช้แช่กับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะได้ (เปลือกผล)[1],[2],[4],[13], เปลือกต้น[13], แก่น[13])
8. สามารถช่วยขับน้ำย่อย และช่วยการย่อยอาหาร (แก่น, เปลือกต้น)[4],[6],[13]
9. ผลจะมีรสฝาดหวาน สามารถช่วยแก้อาการมวนท้องได้ (ผล)[4],[6],[13]6
10. สามารถนำเปลือกต้นหรือแก่นมาต้มกับเกลือ ใช้อมรักษาโรครำมะนาดหรือโรคปริทันต์ได้[1],[2],[4],[6],[13]
11. สามารถแก้พิษผิดสำแดงได้ (ต้น)[13]
12. ต้นสามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ได้[13]
13. สามารถช่วยแก้โรคผอมแห้งหลังการคลอดบุตรที่เกิดจากอยู่ไฟไม่ได้ (ราก)[13]
14. แก่นและเปลือกสามารถใช้เข้ายารักษามะเร็งได้[13]
15. สามารถนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นชาช่วยบำรุงกำลังได้ (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2],[9],[13] สามารถช่วยบำรุงร่างกายได้ (เปลือก)[13]
16. เปลือกต้นหรือแก่นสามารถใช้เป็นยาอายุวัฒนะได้ จะทำให้มีอายุยืนยาว[1],[2],[4],[6],[13] ตำรายาไทยใช้เปลือกต้นตะโก เถาบอระเพ็ด ผสมเปลือกทิ้งถ่อน เมล็ดข่อ ผลพริกไทยแห้ง หัวแห้วหมู อย่างละเท่า ๆ กันมาต้มกับน้ำดื่มหรือดองกับเหล้าใช้ดื่มเป็นยาอายุวัฒนะได้ (เปลือกต้น)[2]
17. สามารถใช้รากมาตะโกมาต้มกับ ใช้น้ำดื่มแก้โรคเหน็บชา อาการปวดเมื่อย อ่อนเพลียได้ (ราก)[10] ตำรับยาพื้นบ้านของอีสานจะใช้รากตะโกผสมรากมะเฟืองเปรี้ยว รากเครือปลาสงแดง รากตีนนก มาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยได้[11]
18. สามารถใช้ผลเป็นยาแก้แผล สมานแผล แก้แผลเน่าเปื่อย ฝีเน่าเปื่อย และช่วยปิดธาตุได้[1],[2],[4],[6],[13]
19. ต้นสามารถช่วยแก้ผื่นคันได้[13] ผลสามารถช่วยแก้ตุ่มคันเป็นเม็ดผื่นคันที่ตามตัวได้[13]
20. สามารถนำรากมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้ไตพิการ น้ำเหลืองเสียได้[10]
21. ผลสามารถช่วยแก้อาการปวดมดลูกได้[13]
22. สามารถนำแก่นหรือเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยารักษาโรคกามตายด้าน บำรุงความกำหนัด เพิ่มพลังทางเพศ กระตุ้นร่างกายให้สดชื่นแข็งแรงได้[1],[2],[5],[6],[9],[10],[13]
23. สามารถใช้เป็นยาแก้พยาธิ และขับพยาธิได้ (ใช้ผลต้มกับน้ำดื่ม)[1],[4],[6],[13]
24. นำผลมาตากแดดมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการท้องร่วง และท้องเสียได้[1],[2],[4],[13] เปลือกผลสามารถใช้แก้อาการท้องร่วงได้[13] สามารถแก้บิดบวมเป่งได้ (ผล)[13]
25. สามารถนำเปลือกต้นหรือแก่นมาต้มกับเกลือ ใช้อมแก้อาการปวดฟันได้ (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2],[4],[6],[13]
26. นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นชาช่วยแก้อาการร้อนใน[9] บ้างก็ว่าใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม[10]
27. ราก ต้น แก่นสามารถใช้เป็นยาแก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ ที่เกิดจากการกินของแสลงที่เป็นพิษได้[13]
28. สามารถแก้อาการคลื่นไส้ได้ (ผล)[1],[2] สามารถช่วยแก้อาเจียนเป็นโลหิตได้ (ผล)[13]
29. นำผลมาตากแดดมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้กษัย[4],[6],[13] บ้างก็ว่าใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม[10]
30. สามารถช่วยทำให้เจริญอาหารได้ (เปลือก)[13]
31. นำแก่นมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกายได้ (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2],[4],[6],[9],[13]

ประโยชน์ของตะโก

1. ต้นตะโกนิยมปลูกเพื่อใช้ทำไม้ดัดมาก ปลูกเพื่อตกแต่งสวนหรือสนามหญ้า เนื่องจากทนทานกับสภาพแวดล้อมได้ และง่ายกับการเพาะเลี้ยงและบำรุงรักษา[5],[8]
2. ใช้ผลอ่อนหรือผลดิบใช้สำหรับย้อมสีผ้า แห อวน มาตั้งแต่โบราณ สีที่ได้คือสีน้ำตาล แต่คุณภาพไม่ดีมาก เพราะสีของเส้นไหมจะตกและไม่ทนทานแสง คุณภาพจะไม่ดีเท่ามะพลับ[3],[5],[7] ยางของลูกตะโกที่นำมาละลายน้ำใช้ย้อมแหและอวน จะมีราคาถูกกว่ายางมะพลับ จึงมีพ่อค้าหัวใสนำยางตะโกมาปลอมขายเป็นยางมะพลับ ทำให้เกิดคำพังเพยว่า ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก[10]
3. ผลสุกของตะโกจะมีรสหวานฝาดสามารถทานได้[3] บ้างก็ว่านำผลมาทานโดยทำเหมือนส้มตำ คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ของผลตะโก มี พลังงาน 99 แคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 24.5 กรัม, น้ำ 73.6 กรัม, เส้นใย 1.5 กรัม, โปรตีน 0.3 กรัม, วิตามินบี 2 1.37 มิลลิกรัม, วิตามินซี 79 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 19 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม, ธาตุฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม[12]
4. ต้นตะโกเป็นไม้ที่มีอายุยืน ทนทานกับความแห้งแล้ง เชื่อว่าเป็นไม้มงคล ถ้าปลูกไว้บริเวณบ้านที่ทางทิศใต้ จะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความอดทนเหมือนกับต้นตะโก[8]
5. เนื้อไม้มีสีขาวหรือออกสีน้ำตาลอ่อน มีความแข็งแรง เหนียว เนื้อค่อนข้างละเอียด สามารถใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ เครื่องมือทางการเกษตรได้ เช่น ทำเสา รอด ตง คาน เป็นต้น[3],[5]
6. ต้นตะโกออกผลดกทุกปี ทำให้เป็นอาหารให้กับสัตว์ได้เป็นจำนวนมาก[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะโก

1. ตะโกจะมีฤทธิ์กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ จะออกฤทธิ์เหมือนกับฮิสตามีน ยับยั้งเอนไซม์ Reverse Transcriptase[13]
2. ตะโกมีสารสำคัญ คือ Betulin, Betulinic acid, B-sitosterol, Lupenone, Lupeol, Stigmast-4-en-3-one, Stigmast4-en-3-one 1 –O-ethyl-B-D-glucopyrahoside, Stigmast-4-en-3-one 1-O-ethyl-B-D-glucoside, Stigmasterol, Taraxerol, Taraxerol acetate, และ Taraxerone.[13]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตะโกนา (Tako Na)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 118.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ตะโกนา”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 96.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะโกนา”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [8 มี.ค. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ตะโก”. (ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [8 มี.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ตะโกนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [8 มี.ค. 2014]
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ตะโกนา”. (ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [8 มี.ค. 2014].
พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม. “ตะโกนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th/webtreecolor/. [8 มี.ค. 2014].
๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ตะโกนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [8 มี.ค. 2014].
หนังสือรักษาโรคด้วยสมุนไพร. “ตะโกนา”. (ยุวดี จอมพิทักษ์).
ไทยโพสต์. “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก ไม้ร่วมวงศ์เด่นแก้กามตายด้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [8 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เครือปลาสงแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [8 มี.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ตะโกนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [8 มี.ค. 2014].
สมุนไพรในร้านยาโบราณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “โกนา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th. [8 มี.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/herb/rhodocalyx.html
2.https://www.samunpri.com/
3.https://thaiherbs.thdata.co/page