ค้อนหมาขาว หรือพร้าวพันลำ ไม้พุ่มป่าดิบแล้ง แก้ไอ รักษาเบาหวาน

0
1739
ค้อนหมาขาว หรือ “พร้าวพันลำ” ไม้พุ่มในป่าดิบแล้ง ช่วยแก้ไอและรักษาเบาหวาน
ค้อนหมาขาว หรือพร้าวพันลำ ผลสุกเป็นสีเหลืองส้ม ต้นอ่อนเป็นสีเขียว กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน
ค้อนหมาขาว หรือ “พร้าวพันลำ” ไม้พุ่มในป่าดิบแล้ง ช่วยแก้ไอและรักษาเบาหวาน
ค้อนหมาขาว หรือพร้าวพันลำ ผลสุกเป็นสีเหลืองส้ม ต้นอ่อนเป็นสีเขียว กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน

ค้อนหมาขาว

ค้อนหมาขาว (Dracaena angustifolia Roxb) หรือเรียกกันว่า “พร้าวพันลำ” มักจะพบในป่าดิบแล้งในประเทศไทย มีผลเป็นสีเหลืองส้มโดดเด่นอยู่บนต้น ค้อนหมาขาวเป็นต้นในวงศ์หน่อไม้ฝรั่งที่ผู้คนไม่ค่อยรู้จักและไม่เคยได้ยินชื่อ เป็นยาสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาพื้นบ้าน ตำรายาพื้นบ้านล้านนาและชาวเขาเผ่าเย้า มักจะพบค้อนหมาขาวส่วนของยอดอ่อนและดอกอ่อนในรูปแบบผักหรือพบในแกงเผ็ดมากกว่ารูปแบบอื่น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของค้อนหมาขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dracaena angustifolia Roxb.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “พร้าวพันลำ” จังหวัดแพร่เรียกว่า “หมากพู่ป่า” จังหวัดลำปางเรียกว่า “ผักก้อนหมา” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ผักหวานดง คอนแคน” จังหวัดสุรินทร์เรียกว่า “ว่านสากเหล็ก” จังหวัดชลบุรีเรียกว่า “อีกริมป่า” ชาวลัวะเรียกว่า “ดอกแก รางดอย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE)

ลักษณะของค้อนหมาขาว

ค้อนหมาขาว เป็นพรรณไม้พุ่มที่พบตามป่าดิบแล้งทุกภาคในประเทศไทย
ลำต้น : มีลักษณะตั้งตรงเป็นต้นเดียวหรือแตกเป็นกอเล็กน้อย ลำต้นหนาเป็นรูปทรงกระบอก ต้นอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเทา
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นรูปดาบ มีผิวใบเรียบ ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบเป็นเส้นใย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมากและมีลักษณะห้อยลง ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : เป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปเกือบทรงกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม ออกผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม

สรรพคุณของค้อนหมาขาว

  • สรรพคุณจากราก
    – แก้ไอ ชาวเขาเผ่าเย้านำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่มแก้อาการ
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – รักษาเบาหวาน ตำรายาพื้นบ้านนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่มแก้อาการ
    – แก้ไข้รากสาดและไข้กาฬ ตำรายาพื้นบ้านล้านนานำทั้งต้นมาผสมกับใบพิมเสนต้นและใบบัวบก จากนั้นบดให้ละเอียดทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนกินหรือใช้ต้มกับน้ำแล้วดื่มแก้อาการ

ประโยชน์ของค้อนหมาขาว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและดอกอ่อนมีรสหวานจึงนำมาลวกและต้มทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือนำไปปรุงอาหารอย่างแกงเลียง แกงส้ม แกงแค แกงผักรวมใส่ปลาย่าง เป็นต้น
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของค้อนหมาขาว

จากการทดลองกับสัตว์พบว่า เมื่อนำทั้งต้นค้อนหมาขาวที่โผล่เหนือดินมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์นั้นสามารถยับยั้งการเกร็งตัวของลำไส้ในสัตว์ทดลองได้

ค้อนหมาขาว เป็นต้นที่มีชื่อแปลกประหลาดแต่จำได้ง่าย มักจะพบในเมนูแกงส้มหรือแกงเลียง เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาของชาวเขาและชาวบ้านทั่วไป มักจะนำทั้งต้นของค้อนหมาขาวมาปรุงเป็นยา มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาเบาหวาน แก้ไอ แก้ไข้รากสาดและไข้กาฬ นอกจากนั้นยังสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ค้อนหมาขาว”. หน้า 94.
พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ค้อนหมาขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [21 ม.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ค้อนหมาขาว, พร้าวพันลำ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 ม.ค. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ค้อนหมาขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [21 ม.ค. 2015].