คะน้า บรรเทาอาการไมเกรน ลดอารมณ์หงุดหงิดของสตรี ยับยั้งมะเร็งทั้งหลาย
คะน้า เป็นผักใบเขียว ประกอบของอาหารในหลายเมนู สามารถปลูกได้ตลอดปี มีประโยชน์ต่อร่างกาย

คะน้า

คะน้า (Chinese Kale) เป็น ผักสีเขียวอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันทั่วไป มักจะเป็นส่วนประกอบของอาหารในหลายเมนู เป็นผักที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพง สามารถปลูกได้ตลอดปี อีกทั้งยังมีรสชาติกรอบอร่อย รับประทานได้ง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายด้าน แต่บางคนยังไม่รู้ว่าผักคะน้ามีสรรพคุณต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของคะน้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica oleracea L. Cv. Alboglabra Group
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 3 ชื่อ คือ “Kai – Lan” “Chinese broccoli” “Chinese kale”
ชื่อท้องถิ่น : จีนกวางตุ้งเรียกว่า “ไก๋หลาน” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “กำหนำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)
ชื่อพ้อง : Brassica alboglabra L.H.Bailey

ลักษณะของคะน้า

คะน้า เป็นผักที่มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชีย มีพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทยอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ
พันธุ์ใบกลม : มีลักษณะใบกว้างใหญ่ ปล้องสั้น ปลายใบมนและผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ได้แก่ พันธุ์ฝางเบอร์ 1
พันธุ์ใบแหลม : เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะใบแคบกว่าพันธุ์ใบกลม ปลายใบแหลม ข้อห่าง ผิวใบเรียบ ได้แก่ พันธุ์ P.L.20
พันธุ์ยอดหรือก้าน : มีลักษณะใบเหมือนกับคะน้าใบแหลม แต่จำนวนใบต่อต้นมีน้อยกว่า ปล้องยาวกว่า ได้แก่ พันธุ์แม่โจ้ 2

สรรพคุณของคะน้า

  • สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระและชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ เสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ วิตามินซีช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อให้ชุ่มชื้นมากขึ้น
  • สรรพคุณด้านความงาม ช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดความอ้วนหรือลดอาการกินของจุบจิบ
    สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงและรักษาสายตา ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจกได้ถึง 29% ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมและยังช่วยป้องกันการเสื่อมของศูนย์จอตา ช่วยเสริมสร้างฟันให้แข็งแรง
  • สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย บำรุงโลหิต เสริมสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต เสริมสร้างออกซิเจนในเลือด ป้องกันการเกิดโลหิตจาง
  • สรรพคุณด้านกระดูก ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
  • สรรพคุณด้านลดไขมัน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลเพราะเป็นผักที่มีน้ำตาลน้อยมาก
  • สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ บรรเทาอาการไมเกรน ป้องกันการเกิดตะคริวหากรับประทานเป็นประจำ
  • สรรพคุณด้านสมอง ช่วยชะลอความจำเสื่อม เสริมสร้างสมองและลดความเสี่ยงต่อการพิการของเด็กทารกในครรภ์
  • สรรพคุณด้านป้องกันโรคมะเร็ง ยับยั้งการเจริญของเนื้องอก ยับยั้งสารก่อมะเร็ง ส่งเสริมการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยขับพิษของสารก่อมะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม
  • สรรพคุณด้านป้องกันโรค รักษาโรคหอบหืด รักษาโรคภูมิแพ้
  • สรรพคุณด้านระบบขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก
  • สรรพคุณด้านฮอร์โมน ปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย รักษาสมดุลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือช่วยลดอาการหงุดหงิดและอารมณ์แปรปรวนในสตรีช่วงมีประจำเดือน

ประโยชน์ของคะน้า

เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดคะน้าหมูกรอบ ผัดผักคะน้า ต้มจับฉ่าย ข้าวผัดคะน้า คะน้าปลาเค็ม เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของผักคะน้า

คุณค่าทางโภชนาการของผักคะน้าต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 24 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
โปรตีน 2.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม
แคลเซียม 245 มิลลิกรัม
เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
วิตามินซี 147 มิลลิกรัม
กากใยอาหาร 3.2 กรัม
เบต้าแคโรทีน 2,512 ไมโครกรัม
วิตามินเอ 419 ไมโครกรัม 
ไทอะมิน 0.05 มิลลิกรัม
ไรโบฟลาวิน 0.08 มิลลิกรัม
ไนอะซิน 1.0 มิลลิกรัม

ข้อควรระวัง

1. ก่อนนำมารับประทานควรล้างผักให้สะอาด ควรใช้น้ำยาล้างผักหรือน้ำส้มสายชูฆ่าสารพิษออกให้หมด เนื่องจากผักคะน้าเป็นผักที่พบสารพิษตกค้างหรือยาฆ่าแมลงมากที่สุด รวมถึงธาตุแคดเมียมที่อาจจะปนเปื้อนมากับน้ำและดิน เป็นพิษต่อตับและไต
2. ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากหรือบ่อยเกินไป เพราะผักคะน้ามีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ร่างกายขาดแร่ธาตุไอโอดีนจนเป็นสาเหตุของโรคคอพอก ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ และไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์

ผักคะน้า เป็นผักที่มีน้ำมากและมีรสกรอบอร่อย แต่เป็นผักที่มีสารพิษตกค้างมากเช่นกัน มักจะพบอยู่ในเมนูอาหารมากมาย เป็นผักยอดนิยมสำหรับคนไทยและคนเอเชีย สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงและรักษาสายตา ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม บรรเทาอาการไมเกรน ชะลอความจำเสื่อม ยับยั้งสารก่อมะเร็ง และช่วยลดอารมณ์แปรปรวนในสตรีช่วงมีประจำเดือนได้ ถือเป็นผักที่มีประโยชน์มากมายจริง ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

แหล่งอ้างอิง
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ดร.หรงฮัว จูเกอ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา