เกล็ดหอย
เกล็ดหอย (Drymaria cordata) หรือ หญ้าเกล็ดหอย เป็นวัชพืชที่พบตามไร่ชา ไร่กาแฟ สวนผลไม้หรือพื้นที่ชุ่มชื้น ถือเป็นพืชที่ค่อนข้างหายาก มีดอกเล็กน่ารักและมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรแก้อาการได้อีกด้วย ทั้งนี้เป็นวัชพืชที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักและยังมีข้อมูลความรู้ในประเทศไทยค่อนข้างน้อย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเกล็ดหอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drymaria cordata (L.) Willd. ex Schult.
ชื่อท้องถิ่น : คนไทยเรียกว่า “เกล็ดหอย” ชาวลัวะเรียกว่า “ผักตั้ง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ CARYOPHYLLACEAE
ลักษณะของเกล็ดหอย
เกล็ดหอย เป็นวัชพืชล้มลุกที่มีการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนชื้นทั่วไป ในประเทศไทยมักจะพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคใต้แต่พบตามธรรมชาติค่อนข้างยาก มักจะขึ้นสภาพชุ่มชื้นในไร่ชา กาแฟและสวนผลไม้
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะเรียวยาวทอดเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน มีการแตกแขนงมาก บริเวณที่สัมผัสดินหรือข้อต่อจะมีการออกราก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นรูปไข่ รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไต โคนใบเรียวแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยม ก้านใบสั้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเป็นสีขาว มีขนาดเล็ก มักจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม
ผล : เป็นผลแห้งที่แตกออกได้เป็น 3 ฝา ผนังผลบาง มีขนเหนียวปกคลุม เมื่อผลแก่จะหลุดร่วงไปพร้อมกับก้านดอก
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดเป็นรูปกลมแบนผิวขรุขระประมาณ 1 – 8 เมล็ด
สรรพคุณของเกล็ดหอย
- สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาแก้บวม แก้แผลฟกช้ำ
– เป็นยาพื้นบ้านล้านนาซึ่งช่วยแก้ไข้ ด้วยการนำทั้งต้นมาตำพอกข้อมือและข้อเท้าสลับข้างกัน
– แก้ม้ามโต ด้วยการนำทั้งต้นมาตากให้แห้งขยี้ผสมกับม้ามหมูแล้วห่อด้วยใบตองปิ้งเพื่อรับประทาน
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเกล็ดหอย
เมื่อทำการสกัดทั้งต้นเกล็ดหอยด้วยเมทานอล พบว่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อหนองและเชื้อกลากในหลอดทดลองได้
ประโยชน์ของเกล็ดหอย
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวลัวะจะใช้ยอดอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
เกล็ดหอย วัชพืชเล็ก ๆ ที่มีสรรพคุณทางยาและมีดอกสีขาวสวยงาม ถือเป็นผักยอดนิยมในการรับประทานของชาวลัวะ มักจะพบตามธรรมชาติแถบพื้นที่ชุ่มชื้น เป็นพืชที่น่าสนใจในการศึกษาอย่างละเอียดเนื่องจากยังไม่ค่อยมีข้อมูลมากนักในประเทศไทย มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้ไข้ แก้ม้ามโต แก้แผลฟกช้ำและแก้บวมได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เกล็ดหอย”. หน้า 95.
ข้อมูลพรรณไม้ – วัชพืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หญ้าเกล็ดหอย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [13 มิ.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หญ้าเกล็ดหอย”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [13 มิ.ย. 2015].