ผักแว่น ดอกเป็นแฉกโดดเด่น ช่วยบำรุงสายตาและเป็นยาทาภายนอก
ผักแว่น ลักษณะของใบเป็นสี่แฉกประกอบแบบพัดคล้ายกังหัน ลำต้นเป็นเหง้าเรียวยาว เลื้อยและแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ

ผักแว่น

ผักแว่น (Water clover) เป็นเฟิร์นที่ขึ้นตามริมน้ำหรือพื้นที่แฉะ มีลักษณะของดอกที่สวยงามเป็นสี่แฉก มีความโดดเด่นและพบเห็นได้ทั่วไป บางคนอาจจะเคยพบแต่ไม่รู้จักชื่อของดอกผักแว่น เป็นผักที่มีสรรพคุณทางยาและมีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถนำมารับประทานได้ ในประเทศไทยทางภาคอีสานนิยมนำผักแว่นมารับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ภาคใต้นิยมนำยอดอ่อนมาแกงร่วมกับหอมแดง กะปิและกระเทียม แต่ทางภาคกลางยังไม่มีการนำมาทานกันอย่างแพร่หลายนัก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักแว่น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Marsilea crenata C. Presl
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Water clover” “Water fern” “Pepperwort”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า “ผักแว่น” ชาวกะเหรี่ยงและภาคเหนือเรียกว่า “หนูเต๊าะ” ภาคใต้เรียกว่า “ผักลิ้นปี่” และมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ผักก๋ำแหวน”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักแว่น (MARSILEACEAE)

ลักษณะของผักแว่น

ผักแว่น เป็นไม้น้ำล้มลุกจำพวกเฟิร์นที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะพบตามหนองน้ำที่ชื้นแฉะหรือตามทุ่งนาในช่วงฤดูฝน
ลำต้น : มีลำต้นเป็นเหง้าเรียวยาวทอดเกาะเลื้อยและแตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ มีขนสีน้ำตาลอ่อนขึ้นปกคลุม ลำต้นอ่อนมีสีเขียว ลำต้นแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ราก : รากสามารถเกาะติดและเจริญอยู่ได้ทั้งบนพื้นดินหรือเจริญอยู่ในน้ำ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบพัด โดยมีใบย่อย 4 ใบคล้ายกังหัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปสามเหลี่ยม รูปกรวยปลายมนหรือเป็นรูปลิ่มคล้ายพัด โคนใบสอบ ขอบใบและแผ่นใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย ใบไม่มีขน แผ่นใบจะงอกออกจากตรงกลางตำแหน่งเดียวกัน 3 – 5 ใบ ทำให้ใบทั้งหมดรวมกันเป็นลักษณะกลม
ก้านใบ : ใบย่อยไม่มีก้านใบ ใบมีสปอร์โรคาร์ป (Sporocarp) ลักษณะวงรีคล้ายเมล็ดถั่วเขียวเป็นก้อนแข็งออกที่โคนก้านใบ ขณะอ่อนมีสีขาวแต่เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำและร่วงได้ง่าย ภายในมีสปอร์จำนวนมาก
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองขนาดเล็กออกตามซอกใบ กลีบดอกสีม่วง
ผล : มีลักษณะเป็นวงรียาว ขั้วผลและปลายผลแหลม เปลือกผลสาก ผลแบ่งออกเป็น 2 พู มีผลแห้งและแตกได้
เมล็ด : ภายในผลประกอบไปด้วยเมล็ดจำนวนมาก

สรรพคุณของผักแว่น

  • สรรพคุณจากต้น เสริมสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยดับพิษร้อนและถอนพิษไข้ บรรเทาอาการปวดศีรษะ บำรุงสายตา รักษาโรคตาอักเสบ รักษาต้อกระจก ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน แก้อาการท้องผูก แก้ดีพิการ รักษาโรคเกาต์
    – บรรเทาความร้อนในร่างกาย ระงับอาการร้อนใน แก้ร้อนใน แก้อาการกระหายน้ำ ช่วยสมานแผลในปากและลำคอ ด้วยการนำต้นมาต้มแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากใบ บำรุงสายตา รักษาโรคตาอักเสบ รักษาต้อกระจก ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน ฆ่าเชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรคกลาก รักษาแผลอักเสบหลังการผ่าตัด
    – ช่วยลดไข้ ช่วยสมานแผลในปากและลำคอ รักษาโรคปากเปื่อยและปากเหม็น แก้เจ็บคอและอาการเสียงแหบ แก้อาการท้องเสีย ขับปัสสาวะ ด้วยการนำใบสดมาต้มแล้วดื่ม
    – ใช้เป็นยาภายนอก เช่น รักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยในการสมานแผล เร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดหนองและช่วยลดการอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ มาล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณแผล
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – เป็นยาแก้ไข้และอาการผิดสำแดง ด้วยการใช้ทั้งต้นมาผสมกับใบธูปฤๅษีแล้วทุบให้แตก นำไปแช่น้ำที่มีหอยขมเป็น ๆ อยู่ประมาณ 2 – 3 นาที แล้วดื่ม
    – แก้เจ็บคอและอาการเสียงแหบ ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มแล้วดื่ม

ประโยชน์ของผักแว่น

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อน ยอดอ่อนและก้านใบใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก นำมาเป็นเครื่องเคียงและเป็นส่วนประกอบในเมนูจำพวกแกงต่าง ๆ ในภาคใต้นิยมนำยอดอ่อนมาแกงร่วมกับหอมแดง กะปิและกระเทียม สามารถนำมาต้มให้นิ่มเป็นอาหารสำหรับเด็กและผู้สูงอายุได้ เมืองสุราบายาของประเทศอินโดนีเซียนำมาเสิร์ฟร่วมกับมันเทศและเพเซล (Pacel) หรือซอสเผ็ดที่ผลิตจากถั่วลิสง
2. เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ มีการพัฒนาเป็นยาชนิดครีมที่นำมาใช้ทาเพื่อรักษาแผลอักเสบหลังการผ่าตัด

คุณค่าทางโภชนาการของผักแว่น ต่อ 100 กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของผักแว่น ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 18 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 0.7 กรัม
โปรตีน 1.0 กรัม
ไขมัน 1.2 กรัม
เส้นใยอาหาร 3.3 กรัม
น้ำ 94 กรัม
วิตามินเอ 12,166 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.10 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.27 มิลลิกรัม
วิตามินบี3 3.4 มิลลิกรัม
วิตามินซี 3 มิลลิกรัม
แคลเซียม 48 มิลลิกรัม 
เหล็ก 25.2 มิลลิกรัม

สารออกฤทธิ์ในผักแว่น

ผักแว่น มีสารอาหารพวกฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สารเอทิลอะซิเตท (Ethyl Acetate) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบมากในผักแว่น และประกอบไปด้วยสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่มีประโยชน์มากมายโดยเฉพาะการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก

คำแนะนำในการรับประทานผักแว่น

ตำนานหรือพิธีกรรมทางศาสนาของชาวเหนือมีความเชื่อว่า “หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานผักแว่น เนื่องจากผักแว่นมีลักษณะของลำต้นเป็นเถาเครือ โดยเชื่อว่าเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้ไปพันคอของเด็กทารกในท้องได้ ทำให้คลอดยากหรือมีอาการปวดท้องก่อนคลอดนาน” ทั้งนี้ก็เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น แต่อาจจะมีสาเหตุมาจากสารไฟโตเอสโตรเจนในผักแว่นอาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อในการหลั่งฮอร์โมนที่เป็นปกติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ภาวะมีบุตรยาก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในอวัยวะที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก ดังนั้นไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายได้

ผักแว่น เป็นผักที่อาจจะจำสับสนกับผักชนิดอื่นเพราะบางทีชื่อที่ว่า “ผักแว่น” สามารถใช้เรียก “ผักส้มกบ” ได้เช่นกัน ผักแว่นเป็นผักที่มีแฉกโดดเด่นขึ้นอยู่ริมน้ำ ส่วนมากมักจะนำมาประกอบอาหาร มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงสายตา ดับพิษร้อนในร่างกาย เป็นยาทาภายนอก รักษาแผลในปากและลำคอ เป็นผักที่มีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการหลากหลายและมีดอกที่สวยงาม

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25. [29 พ.ย. 2013].
สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [29 พ.ย. 2013].
การสำรวจเฟิร์นตามเส้นทางธรรมชาติน้ำตกแม่เย็น โรงเรียนปายวิทยาคาร. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: fern.pwtk.ac.th. [29 พ.ย. 2013].
เดลินิวส์. “ผักแว่น…ผักพื้นบ้านแต่มีคุณค่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [29 พ.ย. 2013].
ฐานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 202.29.15.9 (arit.kpru.ac.th). [29 พ.ย. 2013].
กรีนคลินิก. “ผักแว่น”. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านไทยสมุนไพรต้านโรค (ชิดชนก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.greenclinic.in.th. [29 พ.ย. 2013].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ผักแว่น. [29 พ.ย. 2013].
สำนักงานเกษตรอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. “ผักลิ้นปี๋ ผักหนูเต๊าะWater Clover”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pasang.lamphun.doae.go.th. [29 พ.ย. 2013].
โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่. “ผักแว่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: learn.wattano.ac.th. [29 พ.ย. 2013].