กำลังควายถึก ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงเลือดและบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
กำลังควายถึก ไม้เถากลมหรือเป็นเหลี่ยมมนเกลี้ยง ออกผลเป็นช่อ รูปทรงกลม เนื้อผลนุ่ม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีแดง

กำลังควายถึก

กำลังควายถึก (Smilax perfoliata Lour) เป็นต้นที่มีชื่อเรียกค่อนข้างแปลกแต่จำได้ง่าย เชื่อว่าคนส่วนมากไม่รู้จักและไม่ค่อยได้พบเจอบ่อยนัก มักจะขึ้นตามป่าดิบและมีผลเล็ก ๆ เป็นสีแดงสดเมื่อสุก ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถนำมารับประทานได้ นอกจากนั้นยังนำยอดและใบอ่อนมาใช้รับประทานเป็นผักเหนาะและใส่ในแกงเลียงได้ กำลังความถึกยังมีประโยชน์ในด้านสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้อย่างเหลือเชื่ออีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกำลังความถึก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Smilax perfoliata Lour.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เขืองแดง เขืองสยาม” ภาคอีสานเรียกว่า “เขือง” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “เครือเดา เดาน้ำ สะเดา” จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกว่า “ก้ามกุ้ง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “เขืองปล้องสั้น” กะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “พอกะอ่ะ” ไทใหญ่เรียกว่า “หนามป๋าวหลวง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE)

ลักษณะของกำลังควายถึก

กำลังควายถึก เป็นพรรณไม้เถาเกาะเกี่ยวพาดพันที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เนปาล จีน ไต้หวัน พม่าและภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยมักจะพบตามป่าดิบ
ลำต้น : ลำต้นเป็นเถากลมหรือเป็นเหลี่ยมมนเกลี้ยง มีหนามโค้งประปราย
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้าง รูปวงรี รูปไข่แกมรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือค่อนข้างแหลม มีบ้างที่โคนใบเว้าตื้น ๆ แผ่นใบหนาแข็ง เส้นแขนงใบออกจากโคนใบประมาณ 5 – 7 เส้น เส้นใบย่อยสานเป็นร่างแห ก้านใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่โคนกาบเป็นรูปหัวใจเว้าลึกโอบรอบลำต้น มีปลายแหลมและมีมือพัน 1 คู่
ดอก : ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน โดยจะออกตามโคนหรือตอนปลายกิ่ง ออกดอกเป็นช่อกระจะรวมที่มีช่อย่อย ๆ แบบช่อซี่ร่ม ส่วนมากจะมีช่อซี่ร่มประมาณ 1 – 3 ช่อ ที่โคนของแก่นช่อดอกจะมีใบประดับย่อยเป็นรูปไข่ปลายแหลม มีดอกย่อยประมาณ 20 – 70 ดอก ก้านช่อดอกแข็ง กลีบรวมมี 6 กลีบ แยกจากกัน เรียงเป็น 2 วง เมื่อดอกบานกลีบจะโค้งลง กลีบรวมวงนอกเป็นรูปขอบขนาน ปลายมน กลีบรวมวงในจะแคบกว่า และมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ส่วนดอกเพศเมียจะมีกลีบรวมเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก เมื่อดอกบานกลีบจะกางตรง กลีบรวมวงนอก มีรังไข่เป็นรูปวงรีอยู่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี 3 แฉก มีเกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายเข็ม 3 อัน
ผล : ออกผลเป็นช่อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เนื้อผลนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ๆ เมื่อสุกจะเป็นสีแดง
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1 – 2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีแดงเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่กลับจนเกือบกลม

สรรพคุณของกำลังควายถึก

  • สรรพคุณจากเถาและหัว บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด ขับโลหิต
  • สรรพคุณจากเปลือก บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต ทำให้ธาตุสมบูรณ์ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • สรรพคุณจากรากเหง้า แก้ต่อมน้ำเหลืองภายใน ขับต่อมน้ำเหลืองในร่างกาย แก้ฝีภายใน
  • สรรพคุณของน้ำจากยอด
    แก้หูด ด้วยการนำน้ำจากยอดที่หักมาหยดลงบริเวณที่เป็นหูด โดยทำประมาณ 7 วัน

ประโยชน์ของกำลังควายถึก

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกใช้รับประทานได้ ช่อดอกใช้ลวกทานร่วมกับน้ำพริกแต่ไม่นำต้นมารับประทานเพราะจะทำให้เกิดอาการคันได้ ยอดและใบอ่อนใช้ทานเป็นผักเหนาะและใส่ในแกงเลียง ผลใช้เป็นผักเหนาะหรือใส่ในแกงส้มจะให้รสฝาดมันและเปรี้ยวเล็กน้อย

กำลังควายถึก เป็นชื่อที่คาดว่ามีที่มาจากสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกายและบรรเทาอาการปวดเมื่อยล้า สามารถนำผลและใบอ่อนมาใช้เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณได้หลายส่วนโดยเฉพาะส่วนของเปลือก เถาและหัวที่อุดมไปด้วยยารักษา มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด บำรุงโลหิต แก้อาการปวดเมื่อยและดีต่อต่อมน้ำเหลืองภายในร่างกาย ถือเป็นต้นที่เหมาะกับนักกีฬาหรือบุคคลที่เคลื่อนไหวร่างกายหนักและบ่อยครั้ง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “เขือง”. หน้า 82.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กําลังควายถึก”. อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [26 ม.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กำลังควายถึก, เครือเดา”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [26 ม.ค. 2015].
สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย, เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. “กําลังควายถึก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com. [26 ม.ค. 2015].
พันธุ์ไม้ในท้องถิ่น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช. “กำลังควายถึก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : taqservices.net. [26 ม.ค. 2015].