อาหารชะลอสายตาเสื่อม

0
5120
อาหารชะลอสายตาเสื่อม
ดวงตา ถือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะต้องใช้ในการมองเห็นและใช้เพื่อแสดงออกให้เห็นถึงความรู้สึก
อาหารชะลอสายตาเสื่อม
ผลไม้ตระกูลส้ม มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องแก้วตาจากต้อกระจก และช่วยไหลเวียนเลือดในดวงตา

สายตาเสื่อม

ดวงตา ถือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะต้องใช้ในการมองเห็นและใช้เพื่อแสดงออกให้เห็นถึงความรู้สึกอีกด้วย ดังนั้นจึงต้องให้ความใส่ใจและดูแลดวงตาเป็นอย่างดีเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ดวงตาเสื่อมสภาพเร็วเกินไปหรือเกิดปัญหากับดวงตา เช่น ตาต้อ จอประสาทตาเสื่อม ตาบอด เป็นต้น ซึ่งก็สามารถทำได้ด้วยการทานอาหารชะลอสายตาเสื่อมที่มี  ส่วนช่วยในการบำรุงดวงตาเสมอและหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของตาเสื่อมนั่นเอง โดยได้แก่ พฤติกรรมการกินอาหาร สิ่งแวดล้อม โรคบางชนิด และแสงแดด เป็นต้น

และนอกจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว การสูบบุหรี่หรือการทานอาหารที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ต่ำเป็นประจำ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาเสื่อมและเกิดปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ที่สูบบุหรี่จึงควรลดปริมาณหรือเลิกสูบบุหรี่ไปเลย รวมถึงควรหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสองด้วย และที่สำคัญควรเน้นการทานอาหารที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์สูงเป็นหลัก เท่านี้ก็จะช่วยชะลอตาเสื่อมหรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับดวงตาได้ดีแล้ว

โรคสายตาที่พบได้บ่อย

1.ตาต้อกระจก
เป็นโรคที่เกิดจากการที่เส้นใยของเลนส์ตาเสื่อมหรือโปรตีนในเลนส์ตาสลายตัวออกไป ทำให้เกิดเป็นตาต้อกระจกขึ้นมา โดยโรคนี้ก็มีความอันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา ก็จะทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นหากพบความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน

2.โรคจอประสาทตาส่วนกลางเสื่อม
โรคนี้มักจะมีสาเหตุจากอายุที่มากขึ้น ทำให้จอประสาทตาเริ่มเสื่อมสภาพลงไปตามช่วงอายุ ซึ่งผลที่ตามมาก็คืออาการตาบอดที่พบได้มากในผู้สูงอายุนั่นเอง โดยปกติจอประสาทตาส่วนกลางนั้นจะมีหน้าที่ในการแยกแยะความละเอียดของสิ่งที่มองเห็น ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น แต่เนื่องจากจอประสาทตาส่วนนี้จะมีไขมันในปริมาณสูง ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการหนึ่งของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่ควรชะล่าใจเมื่อมีอาการผิดปกติเด็ดขาด

อาหารชะลอตาเสื่อม

สำหรับอาหารที่จะช่วยชะลอตาเสื่อมได้ดี ก็คือผักและผลไม้นั่นเอง นั่นก็เพราะว่าผักผลไม้อุดมไปด้วยสารสำคัญที่จะช่วยลดอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการทำลายเลนส์ตาได้เป็นอย่างดี โดยสารเหล่านี้ได้แก่

สารแอนติออกซิแดนท์ – เป็นสารที่จะช่วยกำจัดอนุมูลอิสระโดยตรงและลดการสลายตัวของกรดไขมันที่อยู่รอบเลนส์ตาอีกด้วย โดยสารชนิดนี้จะพบได้มากในวิตามินอีและวิตามินซีนั่นเอง ดังนั้นในคนที่มีวิตามินอีในเลือดสูงจึงมักจะไม่ค่อยมีปัญหาตาต้อกระจก และจะยิ่งลดความเสี่ยงได้มากขึ้นเมื่อได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามนอกจากสารแอนติออกซิแดนท์แล้ว หากทานสารอาหารอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยก็จะยิ่งลดความเสี่ยงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาได้มากขึ้นไปอีก 

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคตาต้อกระจกได้ให้คำแนะนำว่าควรกินวิตามินซีให้ได้วันละ 300 มิลลิกรัมขึ้นไป ซึ่งวิตามินซีจะช่วยขจัดโปรตีนที่ถูกทำลายจากเลนส์ตาออกไป ทำให้ไม่เป็นโรคตาต้อกระจกได้ง่าย ทั้งยังช่วยให้วิตามินอีและแคโรทีนอยด์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม วิตามินซีขนาด 300 มิลลิกรัมก็สามารถหาได้ง่ายจากการกินอาหารในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลว่าจะขาดวิตามินซีเลยนั่นเอง

แคโรทีนอยด์ ( Carotenoid ) – เป็นสารชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อดวงตาเป็นอย่างมาก โดยจะช่วยในการป้องกันไม่ให้เลนส์ตาถูกทำลายจากอนุมูลอิสระเช่นเดียวกันสารแอนติออกซิแดนท์ พร้อมกับช่วยบำรุงดวงตาให้แข็งแรงและมีสุขภาพตาที่ดีไปพร้อมกันอีกด้วย

เบต้าแคโรทีน – สารชนิดนี้เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอที่มีความสำคัญต่อการมองเห็น โดยจะช่วยให้การมองเห็นในที่มืดมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมช่วยบำรุงสายตาให้แข็งแรงและป้องกันโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับดวงตาได้อีกมากมายหลายโรคเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นห้ามพลาดการทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนเด็ดขาด

ลูทีนและซีแซนทิน – สารชนิดนี้มีความสำคัญต่อจุดรับภาพและจอประสาทตาโดยตรง ซึ่งหลักๆ แล้วก็จะช่วยในการป้องกันดวงตาจากการถูกทำร้ายจากแสงแดดและช่วยกรองแสงสีน้ำเงินไม่ให้ทำลายดวงตาอีกด้วย โดยสารชนิดนี้ก็สามารถพบได้จากไข่แดงและผักผลไม้ที่มีสีเหลืองและสีเขียวเข้มนั่นเอง อย่างไรก็ตามสารซีแซนทินนั้นร่างกายสามารถเปลี่ยนจากลูทีนในตาไปเป็นซีแซนทินได้ จึงไม่จำเป็นต้องรับจากอาหารมากเกินไป ส่วนลูทีนจะต้องรับจากอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

โดยทั้งนี้นักวิจัยก็ได้ทำการค้นคว้าและพบว่าผู้ที่กินผักใบเขียวมากและกินเป็นประจำมักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคตาต้อกระจกหรือจอประสาทตาเสื่อมมากนัก ต่างจากผู้ที่ไม่ได้กินผักใบเขียวเลยหรือกินน้อยมากมักจะเป็นโรคดังกล่าวได้ง่าย นั่นก็เพราะว่าในผักใบเขียวมีลูทีนและซีแซนทินสูงนั่นเอง นอกจากนี้ยังพบอีกว่าการกินโปรตีนอย่างเพียงพอที่ 6 มิลลิกรัมต่อวันจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้มากถึงร้อยละ 50 รวมถึงการกินผักผลไม้หลากสี ก็จะช่วยชะลอตาเสื่อมและบำรุงดวงตาได้ดีเช่นกัน 

โดยเฉพาะเมื่อกินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของอาหารหรือวิตามินเสริมจะสามารถลดโอกาสการเป็นต้อกระจกในผู้สูงอายุวัน 65-74 ปี ได้มากถึง 36 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ส่วนการเสริมวิตามินจำพวกวิตามินซี วิตามินอีและแคโรทีนอยด์นั้น พบว่าการได้รับวิตามินเหล่านี้จากอาหารตามธรรมชาติจะมีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการกินวิตามินเสริมเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีการแนะนำให้กินอาหารที่มีวิตามินเหล่านี้เป็นหลัก โดยเฉพาะในผักผลไม้สด เพราะอุดมไปด้วยวิตามินอี วิตามินซีและแคโรทีนอยด์นั่นเอง

แนะนำเมนูอาหารชะลอสายตาเสื่อม

ปริมาณลูทีนและซีแซนทีนในผักผลไม้
แลกผัก/ผลไม้ ลูทีนและซีแซนทีน (มิลลิกรัม)
คะน้าสุก ½ ถ้วยตวง 10.3
ผักโขมดิบ 1 ถ้วยตวง 6.7
ผักโขมสุก ½ ถ้วยตวง 6.3
ข้าวโพดเหลืองสุก 1 ฝัก 2.3
บร็อกโคลี่สุก ½ ถ้วยตวง 1.7
บร็อคโคลี่ดิบ ½ ถ้วยตวง 1.1
เมล็ดถั่วลันเตา (กระป๋อง) ½ ถ้วยตวง 1.1
แขนงผักสุก ½ ถ้วยตวง 1.0
ข้าวโพดกระป๋อง ½ ถ้วยตวง 0.7
ส้ม 1 ผลกลาง 0.2
มะละกอ 0.2
ส้ม (แทนเจนรีน) 0.2

ไบโอฟลาโวนอยด์ ( Bioflavonoid ) – เป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่จะช่วยกำจัดอนุมูลอิสระและเสริมคอลลาเจนให้มีความแข็งแรงมากขึ้น จึงสามารถปกป้องโครงสร้างบริเวณกระจกตาและเส้นเลือดฝอยในตาได้เป็นอย่างดี ซึ่งสารตัวนี้ก็มักจะพบได้มากในบลูเบอรี่ องุ่นแดง ส้ม แครนเบอร์รี่และบิลเบอร์รี่นั่นเอง นอกจากนี้ในบิลเบอร์รี่ก็ยังพบสารแอนโทไซยานิน โดยเป็นสารที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานของสายตาได้ดี พร้อมทั้งป้องกันเลนส์ตาและช่วยให้สามารถมองเห็นในที่มืดได้อย่างชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นจึงควรกินบิลเบอร์รี่หรืออาหารที่มีสารแอนโทไซยานินบ่อยๆ โดยกินให้ได้วันละ ½ -1 ถ้วยตวงจะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ไรโบฟลาวิน ( Rioflavin ) – เป็นวิตามินที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระโดยตรง ทำให้ดวงตาไม่ถูกทำร้ายจากอนุมูลอิสระได้ง่าย โดยพบว่าในผู้สูงอายุที่กินวิตามินตัวนี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องจะลดความเสี่ยงในการเป็นตาต้อกระจกได้มากถึง 44 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตาม การกินไรโบฟลาวินมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อดวงตาได้เหมือนกัน คือจะทำให้ดวงตาถูกทำลายจากแสงแดดได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นควรกินไรโบฟลาวินอย่างเหมาะสมและเพียงพอจะดีกว่า

แร่ธาตุสังกะสี – มีส่วนช่วยในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับดวงตา ด้วยการช่วยนำวิตามินเอจากตับไปสู่เรตินาอย่างเพียงพอ ดังนั้นในส่วนของเรตินาจึงมักจะพบว่ามีสังกะสีในปริมาณสูงที่สุด เพราะฉะนั้นควรกินแร่ธาตุสังกะสีให้เพียงพออยู่เสมอ โดยอาหารที่พบว่ามีสังกะสีสูง ก็ได้แก่ เนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง และอาหารทะเลนั่นเอง นอกจากนี้ยังพบอีกว่าหากมีการกินวิตามินอีร่วมกับสังกะสี จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสังกะสีและลดปัญหาตาบอดหรือจอประสาทตาเสื่อมที่มักจะพบในวัยสูงอายุได้ดี 

หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง

อาหารที่มีรสชาติเค็มจัดหรือมีโซเดียมสูง จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นตาต้อกระจกได้ง่ายและยังเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด ซึ่งจากการวิจัยของชาวออสเตรเลียก็ได้พบว่าผู้ที่กินโซเดียมสูงจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคตาต้อกระจกมากกว่าผู้ที่กินโซเดียมต่ำมากถึง 2 เท่า นั่นก็เพราะการได้รับโซเดียมมากเกินไปจะทำให้โซเดียมในดวงตาสูงมากขึ้นเป็นผลให้เกิดตาต้อกระจกในที่สุด

ส่วนกรณีที่ดวงตาถูกทำลายหรือจอประสาทตาเสื่อมจากผลกระทบของสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถป้องกันได้ด้วยการป้องกันให้ตรงจุด เช่น ใส่แว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เลิกสูบบุหรี่หรืออยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่ เป็นต้น และที่สำคัญเลยก็คือการกินผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานินและสารแอนติออกซิแดนต์ เพราะสารเหล่านี้จะช่วยดูแลและปกป้องดวงตาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง ทั้งนี้การกินผักผลไม้ ควรกินให้ได้วันละ 9 ส่วน และกินอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน ทุกมื้อ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วนและเพียงพอ

พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ มีความเสี่ยงต่อโรคสายตาเสื่อม โดยต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือต้องออกไปเจอแสงแดยาวนานต่อเนื่อง 8 ชม. / วันแล้วนั้น ก็ควรที่จะต้องรู้จักวิธีดูแลถนอมสายตา เช่น กินอาหารชะลอสายตาเสื่อม
ก่อนที่จะเป็นโรคนี้จนลุลามทำให้ตาบอดได้ในอนาคต เช่น

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. ISBN 978-616-18-7741-9