อาหารกับต่อมไทรอยด์
สาหร่ายเคลป์ จะมีไอโอดีนสูงมาก ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ขาดไอโอดีนหรือได้รับไอโอดีนต่ำ

ต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่มีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ เกือบทุกส่วนของร่างกายเป็นอย่างมาก โดยจะมีขนาดเล็กแค่ประมาณ 2 นิ้วเท่านั้น และอยู่บริเวณส่วนหน้าของคอนั่นเอง

หน้าของต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการเผาผลาญไขมันและคาร์โบไฮเดรต ควบคุมระบบการหายใจ การพัฒนาการสมอง การทำงานของหัวใจและระบบประสาท การมี รอบเดือนของผู้หญิง ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่สำคัญ ควบคุมอุณหภูมิ ระดับคอเลสเตอรอลและควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด เป็นต้น ดังนั้นหากต่อมไทรอยด์เกิดความผิดปกติก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายไม่น้อยเลยทีเดียว

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

โดยส่วนใหญ่แล้วโรคต่อมไทรอยด์จะเกิดภาวการณ์ทำงานที่ผิดปกติก็เมื่อมีการทำงานหนักเกินไปหรือทำงานน้อยเกินไป เป็นผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ โดยกรณีที่ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักมากเกินไปมักจะเกิดจากภาวะฮอร์โมนไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ผิดปกติ เราจึงไม่สามารถป้องกันได้ทำให้มีการผลิตฮอร์โมน T3 และ T4 ออกมามากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย ท้องเสียบ่อย น้ำหนักลดและมือสั่น ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานเป็นอย่างมาก
ส่วนกรณีที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปนั้น มักจะเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์อักเสบแบบเรื้อรัง ซึ่งภาวะนี้จะทำให้ต่อมไทรอยด์มีการผลิตฮอร์โมน T3 และ T4 ออกมาน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เป็นผลให้ระบบการเผาผลาญทำงานช้าลง มีอาหารบวม อ่อนเพลีย อ้วนง่าย ผิวแห้ง ผมแห้ง เป็นตะคริวบ่อยและอาจขาดสมาธิในการทำงานอีกด้วย โดยภาวะนี้ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่น้อยเช่นกัน และมักจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

สรุปการทำงานของต่อมไทรอยด์มากเกินไปและน้อยเกินไป
Hyperthyroidism  Hypothyroidism
น้ำหนักลด น้ำหนักเพิ่ม
ท้องเสีย ท้องผูก
อ่อนเพลีย อ่อนเพลีย
ผิวชื้น เหงื่อออกมาก ผมร่วง ผิวแห้ง
วิตกังวล ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย นอนไม่หลับ สมองตื้อ เฉื่อยชา นอนหลับมาก
กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว
มีลูกยาก ประจำเดือนขาด มีลูกยาก ประจำเดือนมาก
แท้งลูกง่าย แท้งลูกง่าย

น้ำหนักตัวและโรคต่อมไทรอยด์

การที่ต่อมไทรอยด์อยู่ในภาวกะการทำงานที่ผิดปกติจะสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวอย่างชัดเจน กล่าวคือ เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและลดได้ยาก ในขณะที่เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ก็จะทำให้น้ำหนักลดลงจนผิดปกติเช่นกัน โดยการแก้ไขนั้นจะต้องทำการปรับระดับฮอร์โมนให้คงที่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานพอสมควรเลยทีเดียว และในระหว่างนั้นก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินใหม่ด้วย โดยเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นหลัก พร้อมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อระดับฮอร์โมนไทรอยด์ปกติ ก็จะสามารถควบคุมน้ำหนักตามต้องการได้

และสำหรับวิธีการลดน้ำหนักที่จะให้ผลดีที่สุดนั้น ก็สามารถทำได้ด้วยการกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมันให้น้อยลง เพราะเป็นตัวการของความอ้วน และเน้นการทานผัก ผลไม้ ธัญพืชให้มากขึ้น ตามด้วยดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ก็จะช่วยลดน้ำหนักได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนเนื้อสัตว์นั้น แนะนำให้เลือกกินปลาและเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันเป็นหลัก รวมถึงการควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อไม่ให้มากเกินไป ซึ่งวิธีการเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดน้ำหนักได้ดีแล้วก็สามารถป้องกันโรคไร้เชื้อเรื้อรังที่มีร่วมกับโรคไทรอยด์ได้อีกด้วย

สารอาหารสำคัญสำหรับการทำงานของต่อมไทรอยด์

การทำงานของต่อมไทรอยด์จะเป็นปกติและมีประสิทธิภาพได้ก็จะเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอด้วย โดยสารอาหารที่สำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ก็มีดังนี้

1.ไอโอดีน

ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบหนึ่งของฮอร์โมนไทรอยด์ จึงเป็นสารอาหารที่คนเป็นไทรอยด์จะขาดไม่ได้เลยทีเดียว เพราะหากขาดก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของไทรอยด์ให้ผิดปกติได้ โดยในอดีตนั้นทางภาคเหลือและภาคอีสานมักจะเจอกับปัญหาการขาดไอโอดีนบ่อยๆ แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ไม่ค่อยพบมากนัก เพราะได้มีการแก้ปัญหาด้วยการใช้เกลือเสริมไอโอดีนและการนำอาหารทะเลเข้าไปจำหน่ายจึงทำให้ได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากได้รับไอโอดีนมากเกินไปก็จะทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการทำงานที่ผิดปกติได้ จึงควรเสริมไอโอดีนอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมานั่นเอง

2.วิตามินดี

การขาดวิตามินดีส่งผลให้ป่วยด้วยโรคฮาชิโมโตได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ซึ่งนอกจากวิตามินดีจะได้รับจากแสงแดดในยามเช้าแล้วก็สามารถรับได้จากอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ นม ปลาทะเล เห็ดและไข่นั่นเอง ส่วนในคนไข้ต่อมไทรอยด์ชนิดเกรฟส์ก็มีผลมาจากการขาดวิตามินดีเช่นกัน แถมยังทำให้เสี่ยงต่อการสูญ เสียเนื้อกระดูกอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากได้รับวิตามินดีอย่างเหมาะสมในระหว่างการรักษาและหลังการรักษา ก็จะสามารถเพิ่มเนื้อกระดูกขึ้นมาได้

3.ซีลีเนียม

เป็นแร่ธาตุที่มักจะพบได้มากในต่อมไทรอยด์และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยจะช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง อีกทั้งแร่ธาตุซีลีเนียมก็ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานและการสืบพันธุ์ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้จากการวิจัยก็พบว่าในผู้ที่ป่วยด้วยโรคฮาชิโมโต หากได้รับการเสริมซีลีเนียมก็จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามการได้รับซีลีเนียมมากเกินไปก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคมะเร็งและรู้สึกไม่สบายท้องได้ เพราะฉะนั้นควรทานซีลีเนียมอย่างพอเหมาะดีกว่า โดยสามารถทานซีลีเนียมได้จาก ถั่วบราซิล ปู ปลาทูน่าและล็อบสเตอร์ เป็นต้น

4.วิตามินบี 12

การขาดวิตามินบี 12 มีผลให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติในแบบออโต้อิมมูนได้ วิตามินบี 12 จึงเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยทีเดียว โดยสามารถทานวิตามินบี 12 เสริมได้จาก ปลาซาร์ดีน ผลิตภัณฑ์นม เครื่องในสัตว์ หอยมอลลัสก์ ปลาแซลมอน ยีสต์และเนื้อสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีปัญหาภาวะไทรอยด์ต่ำ ควรระมัดระวังในการกินอาหารพวกเครื่องในสัตว์ด้วย เพราะเครื่องในสัตว์มีกรดบางชนิดที่อาจรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้นั่นเอง

5.สารกอยโตรเจน ( Goitrogen ) 

เป็นสารที่จะกระตุ้นให้เกิดผลเสียยิ่งขึ้นหากร่างกายอยู่ในภาวะขาดไอโอดีน โดยจะเข้าไปรบกวนการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ทำให้เกิดความผิดปกติกับฮอร์โมนขึ้น ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีสารตัวนี้อยู่ จึงต้องนำไปปรุงผ่านความร้อนก่อน เพื่อให้สารกอยโตรเจนลดต่ำลง โดยสารชนิดนี้ก็สามารถพบได้มากในผักตระกูลครูซิเฟอรัสนั่นเอง

6.ถั่วเหลือง

ในถั่วเหลืองมีสารชนิดหนึ่งที่จะไปยับยั้งการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นผลให้เกิดการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติได้ แต่อย่างไรก็ตามจากการวิจัยได้กล่าวว่าการทานถั่วเหลืองไม่ได้ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในผู้ที่ขาดไอโอดีนลดลงแต่อย่างไร ซึ่งขัดต่อข้อมูลข้างต้น ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่าควรทานถั่วเหลืองในปริมาณที่เหมาะสมจะดีที่สุด

7.ข้าวฟ่าง ( Millet )

เป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดในผู้ที่มีปัญหาไทรอยด์ทำงานต่ำ เพราะจะยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ รวมถึงในคนที่ปกติก็ไม่ควรทานข้าวฟ่างมากเกินไป เพราะผลที่ตามมาก็คือปัญหาการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกตินั่นเอง

8.สาหร่ายเคลป์ ( Kelp )

สาหร่ายชนิดนี้จะมีไอโอดีนสูงมาก ซึ่งก็เหมาะกับผู้ที่ขาดไอโอดีนหรือได้รับไอโอดีนต่ำ แต่ในขณะเดียวกันในผู้ที่มี ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ก็ควรเลี่ยงการทานสาหร่ายเคลป์อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้

9.กลูเตน

เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้มากในธัญพืช เช่น ไรย์ ข้าวสาลี บาร์เลย์ เป็นต้น โดยโปรตีนชนิดนี้ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปหรือทำงานมากเกินไปได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีกลูเตนเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตามหากเลือกทานกลูเตนในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปก็ไม่ทำให้เป็นอันตรายอย่างแน่นอน

อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจออกฤทธิ์แย้งกับยา

สำหรับผู้ที่มีปัญหาไทรอยด์ผิดปกติ จนต้องทานยาควบคู่ไปด้วยนั้นต้องระมัดระวังในการทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากเป็นพิเศษ เพราะอาหารเสริมบางชนิดอาจแย้งกับยาไทรอยด์ที่ทานได้ โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้

  • โครเมียมพิโคลิเนต เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อาจรบกวนการดูดซึมของยาไทรอยด์ได้ แต่หากจำเป็นต้องทานจริงๆ ก็ควรทานให้ห่างจากการทานยาไทรอยด์ประมาณ 3-4 ชั่วโมง จะดีที่สุด
  • ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จะไปรบกวนการดูดซึมของยาไทรอยด์ได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรทานให้ห่างจากยาไทรอยด์ประมาณ 1 ชั่วโมง
  • ฟลาโวนอยด์ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มักจะพบได้มากในผักและผลไม้ รวมถึงชา ซึ่งหากทานในรูปของอาหารทั่วไปมักจะไม่ค่อยมีผลแย้งกันมากนัก แต่หากทานในรูปของอาหารเสริมในปริมาณสูงก็จะรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้

การออกกำลังกายช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้หรือไม่

การออกกำลังกายเป็นอีกวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการต่างๆที่เกิดจากปัญหาต่อมไทรอยด์ผิดปกติได้ดี โดยจะช่วยป้องกันน้ำหนักเพิ่ม ลดความเครียดและลดความอ่อนเพลียในคนที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยได้ และช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ ลดความวิตกกังวลในคนที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าการออกกำลังกายบ่อยๆ เป็นประจำ อาจทำให้ผู้ป่วยบางคนสามารถหยุดทานยาไทรอยด์ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าอาการจะกำเริบขึ้นมาอีกเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อการออกกำลังกาย เพราะด้วยร่างกายที่อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า จึงทำให้ไม่ค่อยสะดวกกับการออกกำลังกายมากนักนั่นเอง ดังนั้นจึงขอแนะนำให้เริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ ก่อน เช่นการเดินนับก้าว การเล่นโยคะ เป็นต้น เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น จึงค่อยเปลี่ยนการออกกำลังกายให้หนักหน่วงมากขึ้นไปอีก

ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า การที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกตินั้น อาจเป็นได้ทั้งกรณีที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปหรือทำงานมากเกินไปก็ได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มหรือลดลงจนผิดปกติ อารมณ์แปรปรวน อ่อนล้าและอ่อนเพลียได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติจึงควรทานยาควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเล็กน้อย เท่านี้ก็จะช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้นได้ไม่ยากแล้ว แต่อย่างไรก็ต้องระมัดระวังการขัดแย้งของยากับสารอาหารหลายชนิดด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. ISBN 978-616-18-7741-9