โรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก ( Heat Stroke )
โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก ( Heat Stroke ) เกิดจากความร้อนที่ร่างกายสร้างขึ้นและได้รับจากสภาพแวดล้อมภายนอก ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก

โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก ( Heat Stroke ) คืออะไร โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก เป็นโรคที่เกิดจากความร้อนที่ร่างกายสร้างขึ้นเองและได้รับความร้อนจากสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย จึงส่งผลให้ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน จนทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ และกระทบระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายจนเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก นี้ถ้าหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องมีโอกาสรอดชีวิตได้ถึง 90 % แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เกินกว่า 2 ชั่วโมง ก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้เนื่องจากอวัยวะภายในได้รับความเสียหาย ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการของโรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรกไว้ให้ดี   

อาการของโรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก

โรคฮีทสโตรก ผู้ป่วยจะมีอาการหน้ามืด เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หอบหายใจเร็ว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วมากจนอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รูขุมขนจะปิดจนไม่สามารถระบายเหงื่อได้
ตัวร้อนจัด ผิวแดงจัด วัดอุณหภูมิได้มากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป พูดจาไม่รู้เรื่อง มีอาการงุนงง สับสน หงุดหงิด อาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติไป

สัญญาณของโรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก

สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก คือ ผู้ป่วยจะไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ปวดศีรษะรุนแรง มึนงง หัวใจเต้นเร็ว เมื่อเกิดอาการดังกล่าวควรหยุดพักทันที หากดูแลรักษาไม่ทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

6 กลุ่มเสี่ยงโรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก ได้แก่

  • ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ เช่น กรรมกร เกษตรกร นักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และ ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด คนที่กินยาขับปัสสาวะ
  • ผู้มีภาวะโรคอ้วน
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกเสียชีวิตได้ 

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคฮีทสโตรกเบื้องต้น

  • นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มในบริเวณที่อากาศเย็นหรืออากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  • คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนได้เร็วขึ้น
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิปกติ แล้วเช็ดตัว เช็ดหน้า หน้าผาก ตามซอกรักแร้ คอ ขาหนีบ โดยเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน
  • ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หรือพัดแรง ๆ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
  • หากยังไม่ฟื้นให้รีบ โทร. 1669 เพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที

คำแนะนำการดูแลสุขภาพเพิ่มเติม

ควรสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน อยู่ในพื้นที่อากาศถ่ายเท ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนาน ๆ สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและไม่ทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุหรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก

สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อน อย่างในสุนัขจะมีอาการหอบ หายใจลำบาก หายใจเร็ว หรือดูจากสีเยื่อเมือก ที่ปกติจะเป็นสีชมพู แต่หากเกิดภาวะนี้เยื่อเมือกจะเป็นสีแดงขึ้น แล้วจะเห็นได้ชัดว่าน้ำลายจะเหนียว จากการขาดน้ำ ถ้าเป็นหนัก ๆ สุนัขอาจจะถึงขั้นช็อก หรือขั้นร้ายแรงสุด อาจตายได้ ส่วนวิธีป้องกันนอกจากการเปิดแอร์ให้สุนัขแล้ว อาจพาสุนัขแช่น้ำ แต่หากเป็นแมวจะไม่ยอมแช่น้ำ ให้ใช้วิธีนำผ้าชุบน้ำเอาไปกางที่กรงที่แมวอยู่ แล้วเปิดพัดลมทะลุผ้า จะทำให้สัตว์เลี้ยงเย็นขึ้น เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข https://www.moph.go.th/index.php/news/