ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ เป็นบุคคลที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมาก ด้วยวัยที่มากขึ้นทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นตาที่เริ่มพร่ามัว หูที่ได้ยินเสียงไม่ชัด รวมถึงความว่องไวและการทรงตัวที่น้อยลงด้วย เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุนั้นเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุหกล้มแล้วจะทำให้เกิดผลกระทบต่อตัวผู้สูงอายุเองและคนรอบข้างเป็นอย่าง มาก ทั้งค่ารักษาพยาบาลที่สูง ปัจจุบันนี้ค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่หกล้มนั้นมีมูลค่าสูงถึงหนึ่งแสนบาทต่อครั้ง เมื่อผู้สูงอายุหกล้มแล้วท่านต้องพักฟื้นเป็นเวลานานในบางรายก็อาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือเสียชีวิตได้ ในการพักฟื้นผู้สูงอายุจำเป็นต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องทำการจ้างคนดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะพักฟื้นหรือนอนเป็นผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก บางครั้งสูงถึงปีละล้านกว่าบาทเลยทีเดียว ต้องเป็นภาระของลูกหลาน สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ไม่มากนัก ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้สร้างความลำบากให้ลูกหลานที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ตั้งตัว ครอบครัวที่ไม่มีรายได้พอที่จะจ้างผู้ดูแล ลูกหลานก็ต้องยอมลาออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุที่บ้านด้วยตนเอง ทำให้รายได้ของครอบครัวลดลงเป็นผลให้คุณภาพชีวิตต้องลดลงตามรายได้ที่ขาดหายไป
คุณเชื่อมั้ยว่าผู้สูงอายุที่หกล้มนั้น 1 ใน 5 ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก บางร้ายต้องนั่งรถเข็นหรือนอนติดเตียงไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ สร้างความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ เช่น ความเจ็บปวดจากการรักษา การทำกายภาพบำบัดและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ขึ้นได้
ทั้งการเกิดแผลกดทับ เป็นต้น และความทุกข์ทางใจที่รู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นภาระของลูกหลาน เพราะเมื่อท่านเดินไม่ได้แล้วการไปไหนมาไหนก็ลำบาก แม้แต่การเข้าห้องน้ำยังต้องอาศัยคนอื่นคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ท่านย่อมไม่มีความสุขอย่างแน่นอน การหกล้มในผู้สูงอายุจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้มย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับตัวผู้สูงอายุและลูกหลานทุกคน แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ ดังนี้
การป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุ
1. เลือกรองเท้าที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุ
รองเท้าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเดินของผู้สูงอายุ ถ้าผู้สูงอายุใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับเท้าแล้ว อาจจะทำให้ท่านมีโอกาสหกล้มมากขึ้น ดังนั้นผู้สูงอายุควรเลือกรองเท้าให้เหมาะสม ตามนี้
1.1 ขนาดรองเท้าที่เหมาะสม ผู้สูงอายุควรใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้าไม่คับหรือหลวมจนเกินไป และควรมีเชือกผูกหรือแทบยึดที่สามารถปรับขนาดได้ ไว้สำหรับปรับขนาดรองเท้าให้กระชับพอดีเท้าและเพิ่มความรู้สึกมั่นคงให้กับผู้สวมใส่ด้วย
1.2 วัสดุของรองเท้า รองเท้าสำหรับผู้สูงอายุควรทำจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้นและมีความหยืดหยุ่นสูง เช่น หนัง ผ้า เป็นต้น
1.3 ส้นรองเท้า ผู้สูงอายุควรสวมรองเท้าไม่มีส้นหรือส้นเตี้ยจะทำให้เดินได้อย่างมั่นคง ไม่ควรสวมรองเท้าสั้นสูงเพราะเวลาเดินจะทรงตัวได้ยากและอาจทำให้เท้าพลิกเป็นเหตุให้หกล้มได้
2. อุปกรณ์ช่วยเวลาเดินสำหรับผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุบางท่านการทรงตัวไม่ค่อยดีนักเวลาเดินจึงมีโอกาสหกล้มได้ง่าย ดังนั้นเวลาเดินควรมีอุปกรณ์ช่วยเดินเป็นที่หลักยึดเพื่อป้องกันไม่ให้หกล้ม อุปกรณ์ช่วยเดินที่ช่วยป้องกันการหกล้ม คือ โครงเหล็กช่วยเดิน ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า ควรเลือกใช้ตามความถนัดของผู้สูงอายุ และความสูงของอุปกรณ์ช่วยเดินควรมีขนาดสูงพอเหมาะอย่าสูงหรือต่ำเกินไปเพราะแทนที่จะช่วยป้องกันการหกล้มอาจจะทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสหกล้มมากขึ้นได้
3. การออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุ
การออกกำลังเป็นการสร้างเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในร่างกายและช่วยเพิ่มความสามารถในการทรงตัวได้เป็นอย่างดี แต่ว่าการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุนั้นต้องเลือกให้เหมาะสมกับอายุด้วย สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะออกกำลังกาย ว่าการออกกำลังกายรูปแบบใดที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ออกกำลัง ท่าออกกำลังกายสำหรับป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ มีดังนี้
1. ท่าบริหารลำตัว
- ท่าเตรียม ยืนตัวตรง มองไปข้างหน้า มือเท้าเอว
- มือเท้าสะเอว บิดเอวไปทางขวาจนสุด โดยการบิดเอวเพียงอย่างเดียวไม่ต้องบิดสะโพกไปด้วย
- บิดเอวกลับมาอยู่ในท่าเตรียม
- บิดเอวไปทางซ้ายจนสุด โดยการบิดเอวนั้นให้บิดเอวเพียงอย่างเดียวไม่ต้องบิดสะโพกไปด้วย
- ทำการบิดเอวไปทางขวา 10 ครั้งและบิดเอวไปทางซ้าย 10 ครั้ง
2. ท่าบริหารข้อเท้า
- ท่าเตรียม นั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง นั่งตัวตรง มือวางข้างลำตัว
- ยกขาขวาขึ้น ยืดขาให้ตรงเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องฝืนยืดขาจนตรง
- ทำการกระดกปลายเท้าขึ้นเข้าหาลำตัวจนสุดและกระดกปลายเท้าลงออกจากลำตัวจนสุด กระดกปลายเท้าขึ้น -ลงอย่างละ 10 ครั้ง
- สลับทำขาข้างซ้ายเหมือนกับข้างขวา
3. ท่ายืนด้วยปลายเท้าแบบไม่ใช้ราวจับ
- ท่าเตรียม ยืนตัวตรง แยกเท้าให้กว้างเท่ากับช่วงไหล่ แขนแนบลำตัว
- ยกสั้นเท้าขึ้นจากพื้นช้าๆ จนยืนบนปลายเท้า หยุดนิ่ง 1-2 วินาที
- ลดส้นเท้าลงช้าๆ ทำซ้ำ 20 ครั้ง
4. ท่ายืนด้วยส้นเท้าแบบไม่ใช้ราวจับ
- ท่าเตรียม ยืนตัวตรง แยกขาให้มีความกว้างเท่ากับช่วงไหล่ แขนแนบลำตัว
- ยกปลายเท้าขึ้นช้าๆ สูงพอประมาณที่เราทรงตัวยืนได้ ระวังอย่ายกปลายเท้าสูงมากเกินไปเพราะอาจทำให้ผู้สูงอายุล้มได้
- ลดปลายเท้าลงช้าๆ ทำซ้ำ 20 ครั้ง
5. ท่าย่อเข้าแบบไม่ใช้ราว
- ท่าเตรียม ยืนตัวตรง แยกขากว้างเท่ากับช่วงไหล่ มือท้าวเอว
- ทำการย่อเข่าไปข้างหน้าช้าๆ ย่อจนกระทั่งส้นเท้าเริ่มยกขึ้นจากพื้นให้หยุดย่อ
- ทำการยกตัวขึ้นช้าๆ จนตัวตรงกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 20 ครั้ง
6. ท่าบริหารสะโพกด้านข้างด้วยตุ้มถ่วงน้ำหนัก
- ท่าเตรียม ใส่ตุ้มน้ำหนักที่ข้อเท้าขวา ยืนตรงหันข้างให้กับเก้าอี้หรือราวจับ ใช้มือซ้ายจับที่เก้าอี้หรือราวจับให้มั่น
- ยกขาขวาไปด้านข้างขึ้น-ลงช้าๆ จนครบ 10 ครั้ง
- สลับมาทำขาข้างซ้าย โดยใส่ตุ้มน้ำหนักที่ข้อเท้าซ้าย ยืนตรงหันข้างให้กับเก้าอี้หรือราวจับ ใช้มือขวาจับที่เก้าอี้หรือราวจับให้มั่น
- ยกขาซ้ายไปด้านข้างขึ้น-ลงช้าๆ 10 ครั้ง
7. ยืนขาเดียวแบบไม่ใช้ราวจับ
- ท่าเตรียม ยืนตัวตรง หน้ามองตรง มือท้าวเอว
- งอเข่าพร้อมกับยกเท้าขวาขึ้นและยืนด้วยขาซ้ายเพียงข้างเดียวนาน 10 วินาที แล้วค่อยๆ ลดขาขวาลง ยืนอยู่ในท่าเตรียม
- สลับงอเข่าพร้อมกับยกเท้าซ้ายขึ้นและยืนด้วยขาขวาเพียงข้างเดียวนาน 10 วินาที แล้วค่อยๆ ลดขาซ้ายลง ยืนอยู่ในท่าเตรียม
- ทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง
8. เดินด้วยส้นเท้าแบบไม่ใช้ราวจับ
- ท่าเตรียม ยืนตัวตรง ตามองไปข้างหน้า แขนแนบลำตัว
- ยกปลายเท้าขึ้นทั้งสองข้างและยืนด้วยส้นเท้า
- เดินด้วยส้นเท้าไปข้างหน้า 10 ก้าว หยุดลดปลายเท้าลงอยู่ในท่าเตรียม
- ทำซ้ำ 10 -20 ครั้ง
9. เดินด้วยปลายเท้าแบบไม่ใช้ราวจับ
- ท่าเตรียม ยืนตัวตรง มองไปข้างหน้า แขนแนบลำตัว
- ยกส้นเท้าขึ้นทั้งสองข้างและยืนด้วยปลายเท้า
- เดินด้วยปลายเท้าไปข้างหน้า 10 ก้าว หยุดลดส้นเท้าลงอยู่ในท่าเตรียม
- ทำซ้ำ 10 -20 ครั้ง
10. เดินเลขแปด
- ท่าเตรียม ยืนตัวตรง มองไปข้างหน้า
- ทำการเดินเป็นเลขแปดด้วยท่าเดินปกติ พอครบ 1 รอบให้หยุดพักสักครู่แล้วค่อยเดินต่อรอบต่อไป
- ทำซ้ำ 10 รอบ
11. ท่าเดินสไลด์ด้านข้าง
- ยืนตัวตรง มองไปข้างหน้า มือท้าวเอว ก้าวขวาไปด้านข้าง 10 ก้าว หยุดยืน
- ก้าวเท้าซ้ายไปด้านข้าง 10 ก้าว จะกลับมายืนยังจุดเริ่มต้น
- ทำซ้ำ 10 รอบ
12. ท่าลุกจากเก้าอี้โดยไม่ใช้มือพยุง
- นั่งตัวตรง วางเข่าให้อยู่ล้ำกับปลายเท้าไปเล็กน้อย เก้าอี้ไม่ควรสูงหรือต่ำจนเกินไป มีความแข็งแรงและควรมีพนักพิงด้วย มือวางบนตัก
- โน้มตัวไปข้างหน้าและยกตัวขึ้นยืนตรง โดยไม่ใช้มือดันเก้าอี้หรือช่วยพยุงตัวเวลาลุกขึ้นยืน
- ปล่อยตัวนั่งลงบนเก้าอี้ช้าๆ
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง
นี่เป็นท่าออกกำลังกายที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้มเป็นอันตรายได้ การออกกำลังกายนี้นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้มแล้วยังทำให้ท่านมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นด้วย
ผู้สูงอายุในครอบครัวล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลอันเป็นที่รัก เราควรใส่ใจดูแลท่านให้มาก การดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้สมบูรณ์เป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่ท่านจะได้อยู่กับเราด้วยไปนานๆ ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของครอบครัว การดูแลสุขภาพจิตก็มั่นพูดคุยกับท่านให้มากอย่าปล่อยให้ท่านเหงา ส่วนการดูแลสุขภาพกายด้วยการให้ท่านรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ท่านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและอย่าลืมดูแลไม่ให้ท่านหกล้มด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
นิดดา หงษ์วิวัฒน์. แสงแดด โอสถมหัศจรรย์ แสงแห่งชีวิตที่เป็นยารักษาโรค. กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์แสงแดด จำกัด, 2558., 223 หน้า. ISBN 978-616-284-592-5.