ทองหลางป่า
ทองหลางป่า (Indian Coral tree) เป็นไม้ยืนต้นที่มักจะพบในป่าดิบ มีดอกสีแดงเข้มอย่างสวยงามจึงนิยมนำมาใช้ย้อมผ้าได้ ในตำรายาพื้นบ้านล้านนา ชาวอาข่าและชาวเขาเผ่าเย้านำทองหลางป่ามาใช้เป็นยาสมุนไพร นอกจากนำมาทำเป็นยาแล้วชาวกะเหรี่ยงยังนำเนื้อไม้ด้านในเปลือกต้นมาทำแป้งทาหน้าให้ผิวขาวและไม่มีสิวได้อีกด้วย ถือเป็นต้นที่นิยมสำหรับชาวบ้านและชาวเผ่าทั่วไป
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของทองหลางป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erythrina subumbrans (Hassk.) Merr.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Indian Coral tree” “December tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ทองหลาง” ภาคเหนือเรียกว่า “ทองมีดขูด” จังหวัดแพร่เรียกว่า “ตองหลาง” จังหวัดน่านเรียกว่า “ทองบก” คนเมืองเรียกว่า “เก๊าตอง” ไทใหญ่เรียกว่า “ไม้ตองหนาม ไม้ตองน้ำ” เผ่าอาข่าเรียกว่า “ยาเซาะห่ะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ลักษณะของทองหลางป่าทอง
หลางป่า เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบในระยะสั้นที่มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียไปจนถึงอินโดนีเซีย มักจะพบตามป่าดิบบริเวณที่ชุ่มชื้นและตามริมห้วยในป่าดิบแล้ง
เปลือกลำต้น : เป็นสีขาวหม่น มีหนามแหลมสั้น ๆ ขึ้นกระจายทั่วลำต้นและกิ่ง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางมีขนาดใหญ่กว่าใบข้าง ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปหัวใจ รูปไข่แกมสามเหลี่ยมหรือรูปไข่แกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม โคนใบตัดหรือมน ขอบใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะบริเวณปลายกิ่ง มีขนสั้นปกคลุม ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีแดงเข้ม ดอกมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว ดอกล่างจะบานก่อนดอกบน กลีบรองดอกเป็นหลอด มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบบนแผ่โค้งเป็นรูปเรือ ก้านเกสรเป็นสีแดง อับเรณูเป็นสีเหลือง ติดดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักโค้งแบน เมื่อแก่ฝักจะแตกอ้าออกตามทางยาวจากส่วนปลาย
เมล็ด : โคนบนไม่มีเมล็ด โคนปลายมีเมล็ดแบ่งเป็นห้อง ๆ ประมาณ 1 – 5 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปวงรี
สรรพคุณของทองหลางป่า
- สรรพคุณจากใบ
– แก้อาการปวดศีรษะ ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้ทองหลางป่าผสมกับหนามแน่แล้วนำมาตำผสมกับปูนแดงใช้สุมแก้อาการ
– รักษาฝี ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก
– แก้โรคบวมตามข้อ ด้วยการนำใบมาบดแล้วทา
– รักษากระดูกหักและแก้อาการปวดกระดูก ชาวเขาเผ่าเย้าใช้ใบทองหลางป่ามาตำแล้วพอก
– รักษาวัณโรค ชาวอาข่าใช้เป็นส่วนผสมในการรักษา - สรรพคุณจากเปลือก แก่น ใบ
– เป็นยาแก้อหิวาตกโรค ด้วยการนำเปลือก แก่นและใบมาให้หมูหรือไก่ทาน
ประโยชน์ของทองหลางป่า
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนใช้รับประทานสดหรือใส่ในแกง ยอดอ่อนนำมาลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริกหรือใส่ในแกง
2. ใช้ในอุตสาหกรรมผ้า ดอกซึ่งมีสีแดงนำมาใช้สำหรับย้อมผ้าได้
3. ใช้ในการก่อสร้าง เนื้อไม้เป็นสีขาวและค่อนข้างอ่อนสามารถนำมาทำของเล่นสำหรับเด็กหรือนำมาใช้ทำรั้วบ้านได้เพราะมีหนาม
4. ใช้ในด้านความงาม ชาวกะเหรี่ยงนำเนื้อไม้ด้านในเปลือกต้นมาทำแป้งทาหน้าให้ผิวขาวและไม่มีสิว
ทองหลางป่า เป็นไม้ต้นที่มักจะพบในป่าดิบและเป็นไม้ที่ชาวเผ่านำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ในด้านของสรรพคุณทางยานั้นมักจะนิยมนำใบมาใช้รักษาซึ่งเป็นส่วนที่มีสรรพคุณมากที่สุดของต้นทองหลาง ส่วนดอกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้าได้ นอกจากนั้นเปลือกยังสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างและเปลือกต้นยังเป็นแป้งทาหน้าเพื่อรักษาสิวของชาวกะเหรี่ยงอีกด้วย ทองหลางมีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษากระดูกหักและแก้อาการปวดกระดูก แก้โรคบวมตามข้อและแก้อาการปวดศีรษะได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ทองหลางป่า”. หน้า 105.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ทองหลางป่า ทองหลาง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [11 ธ.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ทองหลางป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [11 ธ.ค. 2014].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ทองหลางป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [11 ธ.ค. 2014].