ทองหลางใบมน ไม้ต้นของทางเหนือ สรรพคุณแก้ปวด แก้ลมพิษ ดับพิษ
ทองหลางใบมน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นตั้งตรงเปลือกหนาเป็นร่องลึก ดอกเป็นสีแดงเลือดนกดอกแค ผลเป็นฝักแคบ

ทองหลางใบมน

ทองหลางใบมน (Erythrina suberosa Roxb) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่พบได้ในทางภาคเหนือเท่านั้น มักจะปลูกไว้ตามบ้านและหัวไร่ปลายนา มีดอกเป็นสีแดงเลือดนกทำให้ต้นดูสวยงาม สามารถนำยอดอ่อนและใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสดได้ และที่สำคัญเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นและยังมีงานวิจัยที่ทดสอบฤทธิ์หรือความเป็นพิษของทองหลางใบมนอีกด้วย เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีประโยชน์มากกว่าที่เห็นได้จากภายนอก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของทองหลางใบมน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erythrina suberosa Roxb.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ทองกี ทองแค ทองบก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

ลักษณะของทองหลางใบมน

ทองหลางใบมน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่พบได้ทั่วไปทางภาคเหนือ มักจะพบตามป่าโปร่ง ป่าผลัดใบและมีปลูกไว้ตามบ้านและหัวไร่ปลายนา
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง เปลือกต้นหนาเป็นร่องลึก ตามกิ่งและก้านมีหนามแหลมคมขนาดเล็กขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป
ใบ : เป็นใบประกอบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดแต่มุมโค้งมน ขอบใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแน่นที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีแดงเลือดนกลักษณะคล้ายดอกแค
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแคบ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2 – 4 เมล็ด

สรรพคุณของทองหลางใบมน

  • สรรพคุณจากทองหลางใบมน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ยับยั้งเนื้องอก ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
  • สรรพคุณจากเปลือกต้นและราก ช่วยทำให้นอนหลับ เป็นยาแก้เสมหะ เป็นยาแก้ดีพิการ
  • สรรพคุณจากแก่น เปลือกต้นและใบ เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาแก้ลมทั้งปวง ช่วยแก้อาการสะอึก แก้ตาบวม เป็นยาแก้ปวดฟัน เป็นยาแก้นิ่วหรือขับนิ่ว เป็นยาแก้ลมพิษ ช่วยแก้อาการปวดข้อ
    – แก้ลมกองละเอียดหรือเวียนหัวตามัว ด้วยการนำเปลือกต้นมาผสมกับยาอื่นกินเป็นยา
    – พอกฝีแก้ปวดแสบปวดร้อน ด้วยการนำเปลือกต้นมาตำผสมกับข้าวเป็นยาพอก
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาแก้โรคตา เป็นยาแก้ริดสีดวง เป็นยาแก้ลมพิษ เป็นยาแก้พิษหรือดับพิษทั้งปวง
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ริดสีดวง เป็นยาทาแก้ปวดตามข้อ
    – แก้ไข้ ดับพิษไข้ ขับพยาธิไส้เดือน ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ด้วยการนำใบมาตำผสมกับยาอื่นสุมกระหม่อมเด็ก
    – แก้ตาแดงและตาแฉะ ด้วยการนำใบสดมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดตา
    – ดับพิษ ด้วยการนำใบมาคั่วให้เกรียมใช้เป็นยาเย็น
    – ดับพิษอักเสบ ด้วยการนำใบสดมาคั้นเอาน้ำใช้เป็นยา
    – แก้อาการปวด ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก
  • สรรพคุณจากแก่น เป็นยาแก้ฝีในท้อง
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาขับโลหิตระดูของสตรี
  • สรรพคุณจากฝัก เป็นยาบำรุงน้ำดี
  • สรรพคุณจากใบแก่
    – ช่วยปิดแผลเนื้อร้ายที่กัดกินลามบวมดังจะแตกและช่วยดูดหนองให้ยุบแห้ง ด้วยการนำใบแก่มารมควันชุบกับน้ำเหล้าใช้ปิดแผล
  • สรรพคุณจากแก่นและกระพี้ เป็นยาแก้พิษฝี

ประโยชน์ของทองหลางใบมน

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมาทานเป็นผักสดโดยใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก เป็นผักแกล้มกับยำ ลาบหมูหรือแกล้มกับตำมะม่วง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของทองหลางใบมน

สารที่พบในทองหลางใบมน พบสาร arachidic acid, behenic acid, campesterol, cyanidin – 3 – 5 – Ii – O – β – D – dlucoside, delphinidin – 3 – 5 – di – O – β – D – glucoside, erythrina suberosa lectin, flavonone, linoleic acid, myristic acid, oleic acid, palmitic acid, pelargonidin – 3 – 5 – di – O – β – D – glucoside, β – sitosterol, stearic acid, stigmasterol
การทดสอบความเป็นพิษของทองหลางใบมน เมื่อฉีดสารสกัดจากใบและเปลือกต้นทองหลางใบมนด้วยเอทานอล 50% เข้าที่ช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่า ขนาดที่ทนได้สูงสุดคือ 1 กรัมต่อกิโลกรัมและ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ ส่วนสาร alkaloid จากใบในขนาด 306.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้หนูถีบจักรตายถึง 50%
การทดลองของทองหลางใบมน ปี ค.ศ. 1973 ณ ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองโดยสารสกัดจากเปลือกต้นและใบทองหลางใบมนในสัตว์ทดลอง พบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้

ทองหลางใบมน เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีสรรพคุณได้อย่างเหลือเชื่อ นอกจากนั้นยังสามารถนำใบอ่อนมาใช้เป็นอาหารได้ด้วย ทว่าในประเทศไทยเรานั้นไม่ได้พบได้ง่ายเท่าไหร่เพราะจะขึ้นในทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ทองหลางใบมนมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น รากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงน้ำดี แก้อาการปวด ดับพิษอักเสบ เป็นยาแก้โรคตา แก้ลมพิษ ช่วยทำให้นอนหลับและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ทองหลางใบมน”. หน้า 91-92.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ทองหลางใบมน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [11 ธ.ค. 2014].
สงขลาพอร์ทัล. (เวสท์สงขลา). “ทองหลางใบมน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.songkhlaportal.com. [11 ธ.ค. 2014].
สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย, เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. “ทองหลาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com. [11 ธ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/