ต้นว่านผักบุ้ง สรรพคุณเป็นยารักษาโรคบิด

0
1450
ต้นว่านผักบุ้ง สรรพคุณเป็นยารักษาโรคบิด เป็นไม้เถาล้มลุกทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ผลลักษณะแห้งแบบแคปซูล เมล็ดสามเหลี่ยมสีดำขนนุ่มละเอียดสีเทา
ต้นว่านผักบุ้ง
เป็นไม้เถาล้มลุกทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบสีม่วงอ่อนหรือเข้ม สีฟ้าอ่อน หรือสีฟ้าสด

ว่านผักบุ้ง

ต้นว่านผักบุ้งนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ โดยพรรณไม้ชนิดนี้มีการแพร่กระจายเป็นวัชพืชหรือปลูกเป็นไม้ประดับทั่วโลก ประเทศไทยจะพบเจอกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เติบโตในระดับความสูงประมาณ 700 เมตร มักขึ้นตามริมสองข้างทาง ตามทุ่งหญ้ากว้าง หรือตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่า [1],[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea nil (L.) Roth จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ ว่านผักบุ้ง (กรุงเทพฯ), ว่านตำเคย ว่านตาเคย (ปราจีนบุรี)[1]

ลักษณะของต้นว่านผักบุ้ง

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทเถาล้มลุก
    – เถามีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2-5 เมตร
    – ลำต้นมีลักษณะที่เลื้อยพันหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน
    – ลำต้นมีขนแข็ง ๆ ขึ้นปกคลุมทั่วลำต้น
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด
  • ใบ
    – มีใบในลักษณะที่เป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงสลับกัน
    – ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปไข่ไม่มีแฉกหรืออาจจะมีแฉก โดยจะมี 3 แฉกตื้น ๆ ตรงปลายใบเรียวแหลม ส่วนโคนใบเป็นรูปหัวใจ บริเวณขอบใบเรียบหรืออาจมีรอยจักเป็น 3 แฉก
    – แผ่นใบทั้งสองด้านจะมีขนหยาบราบขึ้นปกคลุมอยู่
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 3-12 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 4-14 เซนติเมตร
    – ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 3-16 เซนติเมตร[1],[2]
  • ดอก
    – ออกดอกในลักษณะที่เป็นช่อ โดยจะออกบริเวณตามซอกใบ
    – กลีบดอกมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปลำโพง มีความยาวได้ประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร หลอดกลีบดอกมีสีเป็นสีขาว ส่วนกลีบดอกมีสีเป็นสีม่วงอ่อนหรือเข้ม สีฟ้าอ่อน หรือสีฟ้าสด ส่วนด้านนอกของดอกจะมีสีเป็นสีอ่อนกว่า แล้วจึงจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู สีแดง หรือสีม่วงอมแดง และดอกที่มีสีขาวล้วนเป็นสีที่พบเจอได้ยาก
    – ก้านดอกย่อยจะมีขนขึ้นปกคลุม มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีกลีบอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลมยาว มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และกลีบมีขนยาวขึ้นปกคลุมที่ด้านนอกดอก
    – ก้านช่อมีความยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร ใบประดับมีลักษณะรูปร่างใบเป็นรูปแถบหรือเป็นรูปเส้นด้าย มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร
    – ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน มีความยาวที่ไม่เท่ากัน โดยเกสรเหล่านี้จะอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านเกสรเพศผู้มีลักษณะโค้งและมีขนขึ้นปกคลุม ตรงอับเรณูไม่บิดงอ
    – ผิวรังไข่เรียบเกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นรูปเส้นด้าย โดยจะอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ตรงบริเวณยอดเกสรมี 3 พู[1],[2]
  • ผล
    – ผลที่มีลักษณะแห้งแบบแคปซูล
    – ผลมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปไข่หรือรูปกลม ผลมีติ่งแหลม โดยผลจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร
  • เมล็ด
    – เมล็ดที่มีลักษณะเป็นรูปไข่สามเหลี่ยมสีดำ และผิวของเมล็ดจะมีขนนุ่มละเอียดสีเทาขึ้นปกคลุม โดยเมล็ดจะมีขนาดความยาวอยู่ที่ประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2]

ข้อควรรู้

ดอกจะบานได้ในช่วงเวลากลางวันเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ในช่วงที่มีอากาศเย็นดอกจะบานได้นานกว่า คาดว่าดอกจะบานในตอนกลางคืนเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าตอนกลางวัน[2]

สรรพคุณ และประโยชน์ของต้นว่านผักบุ้ง

1. ทั้งต้นนำมาใช้ทำเป็นยาขับปัสสาวะ และยาขับพยาธิได้ (ทั้งต้น)[1]
2. ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง มีผลข้างเคียงทำให้สตรีที่ตั้งครรภ์แท้งบุตรได้ (ทั้งต้น)[1]
3. ทั้งต้นมีฤทธิ์ทำให้รอบเดือนของสตรีมาตามปกติ (ทั้งต้น)[1]
4. ทั้งต้นนำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคบิด (ทั้งต้น)[1]
5. ใบ นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับทาบริเวณที่เป็นผื่นคัน และทาตามบาดแผล จะช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้ (ใบ)[1]
6. เมล็ด นำมาใช้ทำเป็นยาบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากน้ำดี และอาการเฉื่อยชาของร่างกายได้ (เมล็ด)[1]
7. นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับไว้ตามบ้าน[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านผักบุ้ง”. หน้า 723-724. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ว่านผักบุ้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [23 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://identify.plantnet.org/
2. https://bazrco.ir/