กระพังโหม ใบและเถาเหม็นเขียว แต่มากสรรพคุณ

0
2204
กระพังโหม ใบและเถาเหม็นเขียว แต่มากสรรพคุณ
กระพังโหม ไม้เลื้อยที่มีดอกสีขาวม่วงแดง เถาสดมีกลิ่นเหม็น ผลลักษณะกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล
กระพังโหม ใบและเถาเหม็นเขียว แต่มากสรรพคุณ
กระพังโหม ไม้เลื้อยที่มีดอกสีขาวม่วงแดง เถาสดมีกลิ่นเหม็น ผลลักษณะกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล

กระพังโหม

กระพังโหม (Skunk vine) เป็นไม้เลื้อยที่มีดอกสีขาวม่วงแดงขนาดเล็กดูน่ารัก ส่วนของใบและเถาสดมีกลิ่นเหม็นแต่มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ นิยมนำส่วนของยอดอ่อนและใบอ่อนมาเป็นผักสดรับประทานร่วมกับน้ำพริก ส่วนชาวอีสานใช้รับประทานร่วมกับลาบก้อย ชาวใต้จะนำไปซอยให้ละเอียดเป็นผักที่ใช้ผสมปรุงเป็นข้าวยำ ส่วนอินเดียจะนำมาปรุงในซุปเพื่อช่วยบำรุงกำลังให้คนชราที่ฟื้นไข้ได้ กระพังโหมเป็นต้นมากประโยชน์ชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระพังโหม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Paederia foetida L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Skunk – vine”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระพังโหม ตดหมูตดหมา” ภาคเหนือเรียกว่า “ตดหมูตดหมา ผักไหม” ภาคอีสานเรียกว่า “กระเจียวเผือ เครือไส้ปลาไหล ตะมูกปาไหล” ภาคใต้เรียกว่า “ย่านพาโหม” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักไหม” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “ตะมูกปาไหล” จังหวัดสกลนครเรียกว่า “กระเจียวเผือ” จังหวัดมหาสารคามเรียกว่า “เครือไส้ปลาไหล” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “พังโหม”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เข็ม (RUBIACEAE)

ลักษณะของกระพังโหม

กระพังโหม เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยประเภทล้มลุก เลื้อยพาดพันไปตามพื้นดินหรือเลื้อยพันต้นไม้อื่น มักจะพบขึ้นทั่วไปในป่าธรรมชาติ ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง บริเวณในสวน หรือที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นมีขนาดเล็ก ลำต้นและใบมียางสี เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นเหม็น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบบาง เส้นใบโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบสั้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก โดยจะออกตามซอกใบหรือโคนก้านใบ มีช่อละประมาณ 2 – 3 ดอก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขนาดเล็ก ตรงปลายกลีบแยกกัน กลีบด้านนอกเป็นสีขาว ส่วนด้านในเป็นสีม่วงแดงหรือสีชมพูประด้วยสีม่วงจุดสีน้ำตาล ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่ตรงกลาง
ผล : ผลมีลักษณะกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล

สรรพคุณของกระพังโหม

  • สรรพคุณจากกระพังโหม เป็นยารักษาโรคเริม รักษาโรคงูสวัด เป็นยาถอนพิษสุรายาสูบ ถอนพิษจากอาหาร ชาวอินเดียนำมาปรุงในซุปเพื่อช่วยบำรุงกำลังให้คนชราที่ฟื้นไข้กิน
  • สรรพคุณจากใบและเถา เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ แก้ตานซาง แก้ดีรั่ว ช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้ แก้ตัวร้อน เป็นยาแก้ท้องเสีย เป็นยาขับลม เป็นยาระบายอ่อน ๆ เป็นยาขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก รักษาบาดแผล
    – แก้ไข้ ด้วยการนำเถาหรือใบมาต้ม แล้วนำน้ำมาเช็ดตัวหรือนำผ้าสะอาดชุบน้ำต้มมาวางไว้บนศีรษะ
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย
    – แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด ด้วยการนำใบใช้ตำพอกอุดรูฟัน
    – ช่วยแก้ปัสสาวะขัด โดยหมอยาพื้นบ้านในประเทศฟิลิปปินส์นำใบมาต้มและนำมาตำให้แหลก จากนั้นโปะลงบนท้อง
    – ช่วยขับนิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – เป็นยาถอนพิษงูกัด แก้ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ด้วยการนำใบรวมรากแบบสดบดให้ละเอียดใช้เป็นยาทาหรือตำพอกบาดแผลที่ถูกงูกัด ก่อนนำผู้ถูกงูกัดไปพบแพทย์
    – รักษาโรคไขข้อ โดยหมอยาพื้นบ้านในประเทศฟิลิปปินส์นำใบมาต้มกับน้ำอาบเป็นยา
  • สรรพคุณจากผล ช่วยแก้ปวดฟัน ทาฟันเป็นสีดำ
  • สรรพคุณจากทั้งต้น รักษาอาการอักเสบบริเวณปากและคอ เป็นยาขับน้ำนม เป็นยาแก้ท้องเสีย เป็นยาแก้บิด รักษาบาดแผล
    – แก้ไข้รากสาด แก้พิษไข้ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยถอนพิษต่าง ๆ ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มแล้วดื่มเป็นยา
    – เป็นยาถอนพิษงูกัด แก้ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ด้วยการนำทั้งต้นรวมรากแบบสดบดให้ละเอียดใช้เป็นยาทาหรือตำพอกบาดแผลที่ถูกงูกัด ก่อนนำผู้ถูกงูกัดไปพบแพทย์
  • สรรพคุณจากราก แก้โรคดีซ่าน
    – แก้พิษ แก้ตาฟาง แก้ตาแฉะ แก้ตามัว ด้วยการนำรากสดมาฝนกับน้ำใช้หยอดตา
    – เป็นยาขับลม ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือกและราก
    – ช่วยทำให้อาเจียน ด้วยการนำรากหรือเปลือกมาต้มกับน้ำดื่ม

ประโยชน์ของกระพังโหม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกนำมารับประทานเป็นผักได้ ทางภาคเหนือ นิยมนำยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นผักสดทานร่วมกับน้ำพริก ชาวอีสานใช้ทานร่วมกับลาบก้อย ชาวใต้จะนำไปซอยให้ละเอียดเป็นผักที่ใช้ผสมปรุงเป็นข้าวยำ ดอกสามารถทานเป็นผักสดได้แต่ไม่นิยม น้ำคั้นจากเถาและใบมาผสมปรุงเป็นขนมขี้หนูทำให้ขนมมีสีเขียว
2. ปลูกในบ้าน ชาวบ้านนิยมปลูกไว้ใกล้บริเวณบ้านเพื่อเก็บมารับประทานได้สะดวก
3. ใช้ในการเกษตร เป็นยาลดไข้ของหมู ด้วยการเอาเถามาทุบให้พอแหลกหรือให้มีน้ำออกมา แล้วเอาเถานั้นมาลูบไปตามตัวหมูที่เป็นไข้ เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์เลี้ยง
4. เป็นส่วนประกอบของยา ประเทศอินเดียมีการพัฒนาการผลิตน้ำมันจากสมุนไพรชนิดนี้มาใช้เป็นยาทาแก้ปวดข้อและปวดหลัง

กระพังโหม นิยมนำมาใช้เป็นยา เป็นส่วนประกอบในอาหาร นิยมปลูกไว้ในบ้านเพื่อใช้ประโยชน์ สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้ได้ทั้งนั้น เป็นยาของหมอยาพื้นบ้านในประเทศฟิลิปปินส์และชาวอินเดีย รวมถึงชาวบ้านในประเทศไทยด้วย กระพังโหมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ ทั้งต้นและเถา มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ เป็นยาอายุวัฒนะ ขับลม แก้ปัสสาวะขัด แก้ตาฟาง แก้ตาแฉะ แก้ตามัวและแก้ปวดฟันได้ เป็นต้นที่ดีต่อการรักษาโรคทางตาและทางระบบขับถ่ายปัสสาวะ อีกทั้งยังเป็นยาบำรุงชั้นดีที่คนอินเดียนำมาให้คนชราทานอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
คลินิกการแพทย์แผ่นไทยพฤกษเวช. “กระพังโหม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.prueksaveda.com. [27 มิ.ย. 2015].
นิทรรศการงานวิจัย 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาคน พัฒนาชาติ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน. “มหัศจรรย์สมุนไพรไทย Amazing Thai Medicinal Plants”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rdi.ku.ac.th/Ku-research60/. [27 มิ.ย. 2015].
ไทยรัฐออนไลน์. “กระพังโหม เหม็นอร่อยมีสรรพคุณ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [27 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/