บัวสาย
บัวสาย (Lotus stem) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “บัวขม” เป็นพืชน้ำที่คนไทยคุ้นเคยกันมานาน มักจะอยู่ตามบึงหรือลำคลอง เป็นไม้น้ำที่ดอกบานแล้วสวยงามมาก บัวสายนั้นมีชื่อเรียกหลายชื่อตามแต่ละท้องที่หรือตามสีของดอกจนน่าสับสน เป็นพืชที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป บัวสายนั้นนอกจากจะเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามแล้วยังมีสรรพคุณเป็นยาและถูกจัดให้อยู่ใน “ตำรับยาพิกัดบัวพิเศษ” และ “ตำรับยาหอมเทพจิตร”
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของบัวสาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nymphaea pubescens Willd.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Lotus stem” “Water lily” “Red indian water lily”
ชื่อท้องถิ่น : ชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “บัวสายกิน” “บัวกินสาย” “สายบัว” “บัวขม” “บัวขี้แพะ” “บัวแดง” “บัวสายสีชมพู” “บัวจงกลนี” “จงกลนี” “สัตตบรรณ” “สัตตบุษย์” “ปริก” “ป้าน” “ป้านแดง” “รัตอุบล” “เศวตอุบล” มีชื่อเรียกตามสีของดอกโดยสีชมพูเรียกว่า “ลินจง” สีขาวเรียกว่า “กมุท กุมุท โกมุท เศวตอุบล” สีม่วงแดงเรียกว่า “สัตตบรรณ รัตนอุบล”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บัวสาย (NYMPHAEACEAE)
ชื่อพ้อง : Nymphaea lotus var. pubescens (Willd.) Hook. f. & Thomson
ลักษณะของบัวสาย
บัวสาย เป็นพืชน้ำที่มีถิ่นกำเนิดในเขตที่ราบลุ่มของทวีปเอเชีย เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของไทย
เหง้า : อยู่ใต้ดินและมีรากฝักอยู่ในโคลนเลน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน แผ่นใบมีลักษณะกลม ขอบใบหยักและแหลม ฐานหยักเว้าลึก หูใบเปิด ผิวใบอ่อนวางอยู่บนผิวน้ำ แผ่นใบด้านบนเรียบเป็นมัน มีสีเขียวเหลือบน้ำตาลอ่อนหรือสีแดงเลือดหมู ผิวใบด้านล่างของใบอ่อนเป็นสีม่วง เมื่อแก่จะเป็นสีเขียว ผิวใบด้านล่างของใบแก่เป็นสีน้ำตาลมีขนนุ่ม ๆ เส้นใบใหญ่นูน ส่วนก้านใบมีสีน้ำตาลอมเขียวอ่อนลักษณะค่อนข้างเปราะ ข้างในก้านใบเป็นรูอากาศ
ดอก : มีหลายสีแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด เช่น ชนิดดอกสีชมพู ดอกขาว ดอกแดง ดอกม่วงแดง ดอกเหลือง ดอกเขียว ดอกคราม ดอกน้ำเงิน มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ เป็นสีเขียวเหลือบน้ำตาลแดง ดอกมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมถึงค่อนข้างกลม มีกลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกันอยู่หลายชั้นเป็นรูปหอก ก้านดอกมีสีน้ำตาลอวบกลมช่วยให้ดอกลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ดอกบัวสายจะบานในช่วงเวลาใกล้ค่ำถึงตอนสายของวันรุ่งขึ้นและจะหุบในเวลากลางวัน
ผล : ผลสดเรียกว่า “โตนด” มีเนื้อและเมล็ดอยู่ภายในผล
เมล็ด : ลักษณะกลมจำนวนมาก มีขนาดเล็กสีดำอยู่ในเนื้อหุ้มเป็นวุ้นใส ๆ
สรรพคุณของบัวสาย
- สรรพคุณจากบัวสาย แก้ไข้ตัวร้อน แก้เสมหะ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ลมและโลหิต ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น
– ในประเทศฟิลิปปินส์ใช้รักษาโรคหนองใน ด้วยการนำมาถูที่หน้าจะช่วยทำให้ง่วงนอน - สรรพคุณจากหัว บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น บำรุงครรภ์ของสตรี
- สรรพคุณจากดอก บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ไข้ตัวร้อน แก้อาการร้อนใน บำรุงครรภ์ของสตรี แก้อาการหน้ามืดตาลาย แก้อาการใจสั่น ช่วยผ่อนคลายความเครียด
- สรรพคุณจากเมล็ด บำรุงกำลัง บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงครรภ์ของสตรี
- สรรพคุณจากสายบัว บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ต้านโรคมะเร็งในลำไส้
- สรรพคุณจากก้านบัว บรรเทาความร้อนในร่างกาย
ประโยชน์ของบัวสาย
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ก้านดอกและไหลใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก นำไปปรุงเป็นอาหารหรือทำเป็นขนมได้ ด้วยการนำก้านดอกหรือใบมาลอกผิวหรือเปลือกที่หุ้มอยู่ออกแล้วเด็ดดอกและใบทิ้ง
2. เป็นไม้ปลูกประดับ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับสระน้ำ
3. ใช้ในอุตสาหกรรม ก้านดอกนำมาสกัดย้อมสีเส้นไหมได้โดยจะให้สีเทา
4. ใช้ในด้านวิทยาศาสตร์ ใช้วัดความลึกของระดับน้ำบริเวณนั้นได้ เนื่องจากความยาวของก้านใบและก้านดอกจะเท่ากับความลึกของแหล่งน้ำ
คุณค่าทางโภชนาการของบัวสาย
คุณค่าทางโภชนาการของบัวสาย ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 6 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 1.1 กรัม |
โปรตีน | 0.2 กรัม |
ไขมัน | 0.1 กรัม |
เส้นใยอาหาร | 0.4 กรัม |
น้ำ | 97.6 กรัม |
วิตามินเอ | 45 หน่วยสากล |
วิตามินบี1 | 0.02 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.02 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.4 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 15 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 0 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 0.2 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 3 มิลลิกรัม |
บัวสาย เป็นบัวชนิดหนึ่งของไทยที่มีมาเนิ่นนานและเป็นไม้น้ำพื้นบ้านที่ชาวชนบทมักจะนิยมปลูกและนำมาทำเป็นกำไลเล่นสำหรับเด็ก เป็นดอกที่สวยงามเหมาะแก่การปลูกประดับสระน้ำหรือบึง เป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลายและสามารถนำส่วนของต้นมาเป็นยาสมุนไพรได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ แก้ไข้และช่วยให้คลายเครียดได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “บัวสาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable. [3 ธ.ค. 2013].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตรประจำวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2546. “บัวสายและบัวหลวง”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [3 ธ.ค. 2013].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 195 คอลัมน์: ประสบการณ์รอบทิศ. “บัวสาย สัญลักษณ์แห่งเยื่อใยและความลึก”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [3 ธ.ค. 2013].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “บัวสาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [3 ธ.ค. 2013].
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. “บัวจงกลนี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.uru.ac.th. [3 ธ.ค. 2013].
พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม. “บัวสาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [3 ธ.ค. 2013].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “บัวสาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [3 ธ.ค. 2013].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “บัวขม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [3 ธ.ค. 2013].