วัยทองในผู้ชาย
ชายวัยทอง ( Male Menopause ) คือ วัยทองในผู้ชายจะเริ่มต้นในช่วงอายุ 45 – 50 ปี โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเพศชายที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทางการแพทย์เรียกว่า ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ( Testosterone ) เป็นฮอร์โมนผู้ชายที่มีความสำคัญต่อระบบกระดูก มวลกล้ามเนื้อ ความจำ และระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายผู้ชาย เมื่อชายวัยทองและผู้สูงอายุมีอายุมากขึ้นหลายคนมีอาการของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ ซึ่งเกิดจากการผลิตฮอร์โมนน้อยลงส่งผลทำให้ขาดฮอร์โมนในผู้ชายวัยทองนั่นเอง ในร่างกายผู้ชายปกติและจะมีฮอร์โมนเพศชายอยู่ประมาณ 300 – 1,100 ( ng / dl ) นาโนกรัมต่อเดซิลิตร
การเปลี่ยนแปลงในฮอร์โมนเพศในผู้ชายวัยทองก่อนจะเข้าสู่วัยทองของผู้ชายระดับเทสโทสเทอโรนในเลือดเพศชายลดลงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ทุก ๆ ปีหลังจากอายุ 30 ปี เมื่อผู้ชายอายุ 70 ปีระดับฮอร์โมนเพศชายอาจลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นผลกระทบที่ตามมา คือ การตอบสนองต่อการหลั่งของลูกอัณฑะต่ออวัยวะสืบพันธุ์ของผู้ชายวัยทองจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ตารางวัดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในผู้ชายแต่ละช่วงอายุ ดังนี้
อายุ | ฮอร์โมนเพศชายทั้งหมด | ฮอร์โมนเพศชายอิสระ | ฮอร์โมนเพศชายทางชีวภาพ |
40 – 49 ปี | 252 – 916 | 5.3 – 26.3 | 101 – 499 |
50 – 59 ปี | 215 – 878 | 4.2 – 22.2 | 80 – 420 |
60 – 69 ปี | 196 – 859 | 3.7 – 18.9 | 69 – 356 |
70 – 79 ปี | 156 – 819 | 2.2 – 14.7 | 41 – 279 |
สัญญาณเตือนและอาการทั่วไปของวัยทองในเพศชาย
การเปลี่ยนแปลงในการทำงานทางเพศ
- ความต้องการทางเพศที่ลดลง
- การแข็งตัวของอวัยวะเพศช้าลง
- ภาวะมีบุตรยาก
- อัณฑะมีขนาดเล็กลง
- จำนวนอสุจิและสเปิร์มลดลง
การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการนอนหลับ
- อาการนอนไม่หลับ
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อยล้า
- อาการซึมเศร้า
การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น อ้วนง่าย
- การสูญเสียเส้นผม ผมบาง ศีระษะล้าน
- การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
- กระดูกเปาะบาง กระดูกพรุน
- อาการร้อนวูบวาบ
- เบื่ออาหาร
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ขี้โมโห
- หลงลืม ไม่มีสมาธิ
อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์อาจต้องตรวจเพื่อแยกสาเหตุของอาการเหล่านี้
วัยทองในผู้ชาย คือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในผู้ชายลดต่ำลง ทำให้เกิดการขาดฮอร์โมน
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของวัยทองในผู้ชายที่พบบ่อย
- การลดลงของฮอร์โมนผู้ชาย
- ระดับคอเลสเตอรอลสูง
- ความดันโลหิตสูง
- น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
- การออกกำลังกายทำได้น้อยลง
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน
- รับประทานอาหารประเภทน้ำตาลและไขมันมากเกินไป
- ภาวะความเครียด
แบบทดสอบประเมินตนเองมีความเสี่ยงวัยทองในผู้ชาย
อย่างไรก็ตามหากไม่แน่ใจว่าตนเองเข้าสู่ภาวะ ” วัยทองในผู้ชาย ” แล้วหรือไม่ ท่านลองทำแบบทดสอบ 10 ข้อนี้ประเมินตนเอง มีความเสี่ยง 7 ใน 10 ข้อนี้หรือไม่ ก่อนไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยัน
1. คำถาม คุณมีความรู้สึกว่าส่วนสูงลดลงหรือไม่
2. คำถาม คุณมีความต้องการทางเพศลดลงหรือไม่
3. คำถาม คุณมีความรู้สึกว่าอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรงหรือไม่
4. คำถาม คุณมีความรู้สึกว่าพละกำลังและความอดทนลดลงหรือไม่
5. คำถาม คุณมีความรู้สึกว่าประสิทธิภาพในการทำงานลดลงหรือไม่
6. คำถาม คุณมีความรู้สึกว่าความสามารถในการเล่นกีฬาลดลงหรือไม่
7. คำถาม คุณมีความรู้สึกว่าการแข็งตัวของอวัยวะเพศลดน้อยลงหรือไม่
8. คำถาม คุณมีความรู้สึกเศร้า เหงา เครียดและไม่พึงพอใจต่อชีวิตหรือไม่
9. คำถาม คุณมีความรู้สึกว่ามักง่วง และหลับง่ายหลังทานอาหารเย็นหรือไม่
10. คำถาม คุณมีความรู้สึกว่าความสนุกสนาน ความร่าเริงในชีวิตลดน้อยลงหรือไม่
การวินิจฉัยวัยทองในผู้ชาย
ในการวินิจฉัยผู้ชายวัยทองแพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่แสดงออกมาของฮอร์โมนเพศชายต่ำ ร่วมกับการประเมินจากแบบสอบถาม การตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการเจาะเลือดหาระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเพื่อยืนยันการเข้าสู่วัย
ทองในผู้ชายต่อไป
การรักษาและรับมือกับผู้ชายวัยทอง
ก่อนอื่นแพทย์จะประเมินจากหลักฐานการขาดฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเพศชายที่สามารถบ่งชี้ว่าเข้าสู่ “ วัยทองในผู้ชาย ” พบว่าถ้าระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำ แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น
1. บำบัดด้วยทดแทนฮอร์โมนเพศชาย อาจมีผลข้างเคียง เช่น ผิวมัน ขนาดอัณฑะหดตัว ปริมาณอสุจิลดลง
2. ให้ยาคลายเครียด หรือยานอนหลับ
3. บำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ให้ความตื่นเต้น และมีความสุข เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง เชียร์กีฬา
อาหารสำหรับผู้ชายวัยทอง
1. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของกระดูก ฟัน กล้ามเนื้อ และหัวใจ เช่น ไข่ นม งา คะน้า ข้าวโอ๊ด ปลาซาร์ดิน ปลาเล็ก ( ที่มีกระดูก ) บร็อคโคลี่ และพืชตระกูลถั่ว ร่างกายควรได้รับในปริมาณ 800 – 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
2. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กควรรับประทานอย่างน้อย 3 มื้อต่อวัน พบธาตุเหล็กในเนื้อแดงสด เครื่องในสัตว์หรือตับ ไก่ ปลา ไข่แดง หอยกาบ หอยนางรม หอยแมลงภู่ ผักใบเขียว อัลมอนด์ ซีเรียล ข้าวโอ๊ต ถั่วแดง ถั่วดำ แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ และจมูกข้าวสาลี
3. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ช่วยสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ป้องกันโรคหัวใจ พบมากในปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน ไข่ และนม
4. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขับถ่ายให้ทำงานได้ดีขึ้นในผู้ชายวัยทอง เช่น แอปเปิ้ล มะละกอ กล้วย ส้ม ควรได้รับใยอาหารในประมาณ 21 กรัมต่อวัน
5. รับประทานไขมันชนิดดี หรือไขมันไม่อิ่มตัวที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 , 6, 9 เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันดอกทานตะวัน
6. รับประทานช็อกโกแลต อุดมไปด้วยสารฟินิลเอทิลามีนที่มีผลต่อปฏิกิริยาทางอารมณ์ ความรู้สึก ทำให้กระฉับกระเฉง เพิ่มพลังงาน ช็อกโกแลตมีสารเอ็นโดรฟิน ช่วยกระตุ้นประสาทการรับกลิ่นทำให้รู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาอาการเมื่อยล้า ช่วยให้สมองหลั่งฮอร์โมนความสุข รู้สึกตื่นเต้น ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงการรักษาอาการผู้ชายเข้าสู่วัยทอง หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเสริมต่าง ๆ ในการรักษาวัยทอง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายโดยเฉพาะคนเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว แพทย์สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากตัวเลือกการรักษาที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
นพ. ศุวพงษ์ ตันทสุทธานนท์. ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายในชายสูงอายุ (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.srth.moph.go.th [19 มีนาาคม 2563]
The ‘male menopause’ (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.nhs.uk [19 มีนาาคม 2563]
Male Menopause (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.medicinenet.com
What is Testosterone? สืบค้นจาก : https://www.livescience.com