กัญชา ( Marijuana ) สมุนไพรทางเลือก

0
4746
กัญชา ( Marijuana ) สมุนไพรทางเลือก
กัญชา ( marijuana ) คือ พืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีสรรพคุณทำให้มึนเมา เปลือกลำต้นใช้ทำเชือกป่านและทอผ้า ฤทธิ์ของกัญชาที่ทำให้ผู้เสพอยู่ในอาการเคลิบเคลิ้ม
กัญชา ( Marijuana ) สมุนไพรทางเลือก
กัญชา ( marijuana ) คือ พืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ทำให้มึนเมา เปลือกลำต้นใช้ทำเชือกป่านและทอผ้า ฤทธิ์ของกัญชาที่ทำให้ผู้เสพอยู่ในอาการเคลิบเคลิ้ม

กัญชา

กัญชา ( Marijuana ) คือ พืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Cannabidaceae ใบมนแฉกลึกเข้าไปทางก้านหลายแฉก ดอกสีเขียว ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ใบและช่อดอกเพศเมียที่แห้งใช้สูบ มีสรรพคุณทำให้มึนเมา เปลือกลำต้นใช้ทำเชือกป่านและทอผ้า ฤทธิ์ของกัญชาที่ทำให้ผู้เสพอยู่ในอาการเคลิบเคลิ้ม รู้สึกสนุก อารมณ์ดี และยังเป็นยาเสพติดประเภทที่เสพแล้วไม่ติด ก็ยิ่งทำให้กล้าลองกันมากขึ้น เมื่อลองแล้วก็ติดใจ บางคนถึงขั้นเอาไปสอดไส้ในบุหรี่ เพื่อให้สูบได้ทุกที่ที่ต้องการอีกด้วย

ต้นกัญชามีลักษณะทั่วไป คือ ลำต้นสูงประมาณ 2-5 เมตร ใบเลี้ยงคู่เมื่อโตเต็มวัยลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก มีลักษณะคล้ายใบมันสำปะหลังที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบ และยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้ง แล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบ ๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบหรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยวหรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบ นอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้ว ยังอาจพบในรูปของ ” น้ำมันกัญชา ” ( Hashish Oil ) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลาย ๆ ครั้ง จึงได้เป็นน้ำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20-60% หรืออาจพบในลักษณะของ ” ยางกัญชา ” ( Hashish ) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบ และยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด

การปลูกกัญชา และการขออนุญาตปลูกกัญชาอย่างถูกต้อง

ส่วนที่ 1 : การปลูกกัญชา
1.เตรียมสถานที่ปลูก ดินต้องเป็นที่ที่ถูกต้องตามกฏหมายจะต้องมีเอกสารสิทธิที่ดิน และได้รับความยินยอมจากผู้ที่มีกรรมสิทธิในที่ดินนั้น เช่น หนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดิน หรือหนังสือสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดินก็ได้
2.เจ้าของที่ดินนั้นๆจะต้องมีหนังสือที่แสดงว่า ให้หน่วยงานรัฐและวิสาหกิจชุมชนนี้เข้ามาใช้ที่ดินปลูกกัญชาได้
3.ปลูกกัญชาในโรงเรือนสามารถขออนุญาตปลูกได้ทั้งในระบบปิดต้องควบคุมแสง อุณหภูมิ เช่น โรงเรือนกระจกและระบบเปิด เช่น โรงเรือนตาข่ายพรางแสง (สแลน) หรือปลูกกลางแจ้ง (outdoor)
ส่วนที่ 2 : การขออนุญาตปลูกกัญชาอย่างถูกต้อง
1.ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามกฏหมายก่อน
คือ ท่านต้องมีสถานะเป็นวิสาหกิจชุมชน และเข้าร่วมกับหน่วยงานของรัฐ
2.ท่านต้องทำโครงการเพื่อเสนอแบบแผนการผลิต โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์กัญชาอย่างชัดเจน
3.ท่านต้องมีสถานที่ปลูกกัญชาที่มีเอกสารสิทธิ หรือมีสิทธิการครอบครองที่ถูกต้องตามกฏหมาย

ข้อดี และข้อเสียการปลูกกัญชาแบบระบบปิดในโรงเรือนและระบบเปิด

ปลูกกัญชาแบบระบบปิด

ข้อดี
– สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและศัตรูพืชได้
– วางแผนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี
– ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและสม่ำเสมอ
ข้อเสีย
– ต้นทุนเริ่มแรกมีราคาสูง
– ต้นทุนการดำเนินการสูงกว่าปลูกแบบกลางแจ้ง
– ต้องสร้างแสงแดดเทียมและระบบมีความซับซ้อน

ปลูกกัญชาแบบระบบเปิด

ข้อดี
– ต้นทุนเริ่มแรกน้อยกว่าการปลูกในโรงเรือน
– ต้นทุนการดำเนินการต่ำกว่า
– ต้นกัญชาสามารถใช้แสงจากธรรมชาติได้เต็มที่
ข้อเสีย
– มีปัญหาเกี่ยวกับศัตรูพืช
– ไม่สามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตได้

สารฤทธิ์ของกัญชา

กัญชามีสารออกฤทธิ์สำคัญ 2 ชนิด ที่สามารถนำมาใช้บำบัดหรือรักษาโรค ได้แก่
1. สาร CBD ( Cannabidiol ) : มีคุณสมบัติลดอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบของแผล ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดอาการชักเกร็ง และลดอาการคลื่นไส้
2. สาร THC ( Tetrahydrocannabinol ) : มีคุณสมบัติต่อจิตประสาท ทำให้เกิดความผ่อนคลาย และเคลิบเคลิ้ม หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดอาการตึงเครียดได้

สรรพคุณของกัญชา

1. เป็นยาชูกำลัง ช่วยเจริญอาหาร หรือใช้กับผู้ป่วยที่เบื่ออาหาร
2. ใช้รักษาในหลายอาการ เช่น ลดอาการปวด ลดอาการลดเกร็งและชักกระตุกของกล้ามเนื้อ อาการของโรคทางกระเพาะปัสสาวะ โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์
3. ใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืด ช่วยขยายหลอดลมและลดการหดตัวของหลอดลม 
4. ฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้เนื้อร้ายในสมองเหี่ยวลดลงได้
5. สารสกัดจากกัญชาสามารถรักษาโรคที่เกิดจากการอักเสบของสมองและไขสันหลัง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบอื่น ๆ
6. เส้นใยของลำต้น สามารถนำมาใช้ในการทอผ้าหรือทอกระสอบได้
7. เส้นใยกัญชาสามารถนำมาทำกระดาษได้

กัญชา ในตำรับยาแพทย์แผนไทย

จากข้อมูลในตำราพระโอสถพระนารายณ์ และตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ พบข้อมูลตำรับยาไทยที่เข้ากัญชาอยู่หลายตำรับ ซึ่งรวบรวมมาจากพระคัมภีร์หลายฉบับ แสดงให้เห็นว่า มีการใช้กัญชาประกอบเป็นตัวยาเพื่อบำบัดรักษาอาการป่วยต่าง ๆ มานานหลายร้อยปีแล้ว ตัวอย่างสรรพคุณตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ เช่น
1. ตำรับศุขไสยาศน์ มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับสบาย แก้ปวด เจริญอาหาร ซึ่งนำมาใช้ทดแทนหรือเสริมกับยาแผนปัจจุบันในกลุ่มยานอนหลับ ยาคลายเครียด
2. ตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพ ช่วยเรื่องท้องมาน ท้องบวม คลายลมในท้อง ท้องอืดจากโรคมะเร็งตับ ใช้ทาบริเวณท้อง
3. ตำรับทำลายพระสุเมรุ มีฤทธิ์ช่วยแก้อาการแข็งเกร็งจากอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
4. ตำรับทัพยาธิคุณ ช่วยเรื่องโรคเบาหวาน ลดน้ำตาล

ขนาดและวิธีใช้ : ใช้ต้มรับประทาน โดยต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา ส่วนเมล็ดให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม
ข้อควรระวัง : ในกรณีที่รับประทานมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน มีอาการชัก ตาลาย หรือกลายเป็นเสพติด ในผู้ชายหากรับประทานมากเกินไปจะทำให้น้ำกามเคลื่อน ส่วนสตรีที่รับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการตกขาว

ผลข้างเคียงของกัญชาที่มีต่อร่างกายในกรณีที่เสพมากเกินขนาด

1. กัญชาจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการเคลิบเคลิ้ม หัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อน เซื่องซึม และง่วงนอน
2. การเสพกัญชา จะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล
3. กัญชามีฤทธิ์ทำลายสมรรถภาพทางกาย ทำลายระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกาย ทำลายระบบการสร้างภูมิคุ้มกัน 
4. ควันของกัญชาทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจ และทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้เมื่อใช้นานเกินไป
5. หญิงที่เสพกัญชาในระยะตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาอาจพิการและพบความผิดปกติทางร่างกาย

อย่างไรก็ตามการใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีก็หาไม่ จากการศึกษาพบว่ามีผลเสียดังต่อไปนี้

ข้อเสียของการใช้กัญชา

1.เพิ่มการเกิดโรคทางจิต 3.9 เท่า

2.พบการฆ่าตัวตายเพิ่มชึ้น 2.5 เท่า

3.ทำให้ติดกัญชา 10% ( ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ชึ้นเรื่อยๆ )  ส่วนมากมักอยู่ในวัยเรียน 17%

4.ทำให้สมองฝ่อ

5.มีปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ และความจำ

6.สัมพันธ์กับการเกิดภาวะถุงลมโป่งพอง

7.สัมพันธ์กับภาวะเส้นเลือดสมองตีบ

8.สัมพันธ์กับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

9.สัมพันธ์กับมะเร็งอัณฑะ

10.เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือด

11.พบอุบัติการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สัมพันธ์กับการใช้กัญชาสูงขึ้น 

โทษของกัญชาตามกฎหมายประเทศไทย

กัญชาถูกจัดให้เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งมีโทษตามกฎหมายหลัก 4 ประเภท คือ

1. ครอบครอง ( อย่างเดียว ) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากมีในครอบครองมากกว่า 10 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ถือว่าครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย
2. ครอบครองเพื่อจำหน่าย หากไม่ถึง 10 กิโลกรัม จำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี หรือปรับ 40,000 – 200,000 บาท แต่หากมากกว่า 10 กิโลกรัมขึ้นไป มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,500,000 บาท ทั้ง 2 กรณีอาจมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
3. ผลิต นำเข้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,500,000 บาท
4. เสพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทความเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง

เอกสารอ้างอิง

กัญชา (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://th.wikipedia.org [28 มีนาคม 2562].

สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกัญชา : https://medthai.com [28 มีนาคม 2562].