โรคหัด คืออะไร
โรคหัด ( Measles ) หรือไข้ออกผื่น คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทางระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขึ้นตามผิวหนังพร้อมเป็นไข้ร่วมด้วย โดยโรคหัดเกิดจากไวรัสกลุ่มพารามิคโซไวรัส ( Paramyxovirus ) มีลักษณะเด่นคือมีจุดเทาขาวในปาก และผื่นแดงหรือน้ำตาลแดงไล่จากหัว ใบหน้า คอ และตัว แต่ในบางครั้งอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงกว่า ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งรวมไปถึงปอดบวมและไข้สมองอักเสบ
อาการของโรคหัด
- อาการคล้ายหวัด เช่น คัดจมูก จาม และไอ
- ปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล อาจมีความอ่อนไหวต่อแสงเพิ่มขึ้น
- มีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ไม่อยากอาหาร
- เหน็ดเหนื่อย ระคายเคือง และหมดเรี่ยวแรง
- ต่อมบวม
- เกิดจุดสีเทาขาวภายในกระพุ้งแก้ม
- หลังจากมีอาการเหล่านี้ไม่กี่วันจะออกผื่นสีน้ำตาลแดงขึ้น ซึ่งอาจจะเริ่มจากบนศีรษะหรือบนคอก่อนจะลามลงไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการป่วยยาวนานประมาณ 7 ถึง 10 วัน
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัด
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้นเด็กเล็ก คนชรา สตรีมีครรภ์ ผู้ที่ร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง ภูมิต้านทานโรคต่ำ รวมถึงผู้ที่ต้องทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาโรคอื่นๆ สามารถติดโรคหัดได้ทั้งนั้น ดังนั้นใครก็ตามที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคหัด ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดได้ทั้งนั้น แต่พบบ่อยที่สุดในเด็กเล็กช่วงอายุแรกเกิดถึง 4 ปี
สาเหตุของโรคหัด
โรคหัดจัดเป็นโรคติดต่อที่มีโอกาสติดเชื้อได้สูง การติดโรคนั้นเกิดจากการรับเชื้อไวรัสผ่านทางอากาศ จากการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำลาย และน้ำมูกของผู้ป่วย ซึ่งช่วง 4 วันทั้งก่อนและหลังเกิดผื่นนั้นถือเป็นระยะเวลาของการแพร่เชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจและแพร่ไปทั่วร่างกาย ทำให้ป่วยเป็นโรคหัด โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมีโอกาสป่วยเป็นโรคหัดหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่เป็นโรค
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัดมักเกิดกับทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กที่ขาดสารอาหารและภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ไปจนถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่สุขภาพไม่ดี โดยภาวะแทรกซ้อนมีดังนี้
- ท้องเสียและอาเจียน ซึ่งจะนำไปสู่อาการขาดน้ำ
- หูชั้นกลางติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหู
- ติดเชื้อที่ตา ก่อให้เกิดอาการตาแดงเยิ้มแฉะ
- กล่องเสียงอักเสบ ( Laryngitis )
- ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอักเสบ ( Croup ) เกิดจากการติดเชื้อในระบบ
- ทางเดินหายใจและปอด
การรักษาโรคหัด
- ยังไม่มีวิธีรักษาโรคหัด แต่ภาวะนี้ก็สามารถหายได้เองภายใน 7 ถึง 10 วัน โดยแพทย์มักจะแนะนำให้คุณพักรักษาตัวที่บ้านไปจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น
- ทานยาพาราเซตตามอลหรืออิบูโพรเฟนเพื่อลดไข้และอาการปวดกล้ามเนื้อ ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินกับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ปิดม่านเพื่อลดภาวะอ่อนไหวต่อแสงอาทิตย์
- ใช้ผ้าขนนุ่มชื้น ๆ ทำความสะอาดรอบตา
- ลาเรียนหรือลางานเป็นเวลาอย่างน้อยสี่วันหลังจากที่เริ่มมีผื่นขึ้น
- ในกรณีที่ป่วยรุนแรง โดยเฉพาะที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยต้องพาผู้ป่วยไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที
การป้องกันโรคหัด
1. โรคหัดป้องกันได้หากเด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด ( Measles Vaccine ) ครบตามกำหนด โดยวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันคือวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine ( MMR ) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ทั้งโรคหัด ( Measles ) คางทูม ( Mumps ) และหัดเยอรมัน ( Rubella ) โดยทารกสามารถรับวัคซีนได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ 9-12 เดือน และรับวัคซีนครั้งต่อไปเมื่ออายุ 4-6 ปี
2. เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดย 15 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ 6-12 วันหลังจากได้รับวัคซีน และเด็กอีก 5 เปอร์เซ็นต์มีอาการผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัดและหายไปเอง
3.กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรรับวัคซีนป้องกันโรคหัด ได้แก่ สตรีมีครรภ์ เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรค ลูคีเมีย และมะเร็งชนิดอื่น ๆ แล้วยังไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ และเด็กที่มีประวัติแพ้เจลาตินหรือกลุ่มยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน ( Neomycin ) อย่างรุนแรง ถึงอย่างนั้น หากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวได้รับเชื้อไวรัสโรคหัดเข้าไปก็สามารถฉีดแอนติบอดี้หรือสารโปรตีนที่มีชื่อว่าอิมมูนโกลบูลิน ( Immunoglobulin ) เพื่อป้องกันการป่วยได้ ซึ่งต้องฉีดสารดังกล่าวภายใน 6 วันหลังจากที่รับเชื้อ
กลุ่มผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีน
1. สตรีมีครรภ์
2. ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอมาก
3. เด็กที่มีประวัติแพ้เจลาติน หรือกลุ่มยาปฏิชีวนะนีโอมัยซินอย่างรุนแรง
4. เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรค ลูคีเมีย และมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
โรคหัด (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.pobpad.com [8 มิถุนายน 2562].
โรคหัด MEASLES (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.bnhhospital.com [8 มิถุนายน 2562].
Measles (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.mayoclinic.org [8 มิถุนายน 2562].