เพี้ยกระทิง ใบป้องกันยุง ต้นแก้ริดสีดวง รากรักษามดลูกอักเสบ

0
1575
เพี้ยกระทิง ใบป้องกันยุง ต้นแก้ริดสีดวง รากรักษามดลูกอักเสบ
เพี้ยกระทิง เป็นยาสมุนไพรและนำมาใช้กันยุง ดอกมีสีขาวขนาดเล็ก เปลือกลำต้นสีเทา มีกลิ่นหอม รสขม
เพี้ยกระทิง ใบป้องกันยุง ต้นแก้ริดสีดวง รากรักษามดลูกอักเสบ
เพี้ยกระทิง เป็นยาสมุนไพรและนำมาใช้กันยุง ดอกมีสีขาวขนาดเล็ก เปลือกลำต้นสีเทา มีกลิ่นหอม รสขม

เพี้ยกระทิง

เพี้ยกระทิง (Melicope pteleifolia) เป็นต้นยอดนิยมของชาวเผ่าทั่วไปในการใช้เป็นยาสมุนไพรและนำมาใช้กันยุงได้ อีกทั้งยังเป็นใบที่ชนเผ่านิยมทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก เพี้ยกระทิงมีดอกย่อยสีขาวเล็ก ๆ จำนวนมากอยู่บนต้น คนไทยไม่ค่อยได้ยินหรือรู้จักเพี้ยกระทิงกันมากนัก ในด้านยาสมุนไพรนั้นสามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาได้ เป็นต้นหนึ่งที่นิยมสำหรับชาวบ้านและชาวเผ่าทั่วไป

 

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเพี้ยกระทิง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melicope pteleifolia (Champ. ex Benth.) T.G. Hartley
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “เพี้ยกระทิง ผักส้มเสี้ยนผี” ไทใหญ่เรียกว่า “ขมสามดอย แสงกลางวัน” คนเมืองเรียกว่า “มะโหกโตน” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ตะคะโดะ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “สะเลียมดง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ส้ม (RUTACEAE)
ชื่อพ้อง : Euodia gracilis Kurz, Euodia lepta (Spreng.) Merr.

ลักษณะของเพี้ยกระทิง

เพี้ยกระทิง เป็นไม้พุ่มชนิดหนึ่ง
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรี เนื้อใบมีต่อมน้ำมันเป็นจุด ๆ กระจายอยู่ทั่วไป
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวขนาดเล็ก มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศ
ผล : ผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลม เป็นพู 2 พู
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดเดียว เมล็ดมีรูปทรงกลมสีดำ

สรรพคุณของเพี้ยกระทิง

  • สรรพคุณจากราก รักษาโรคริดสีดวง
    – แก้ไข้หนาว ตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำรากเพี้ยกระทิงมาผสมกับรากพลับพลาแล้วนำมาต้มกับน้ำให้ข้น ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 – 4 ครั้ง
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – รักษาอาการมดลูกอักเสบ ด้วยการนำทั้งต้นมาผสมกับสมุนไพรอีก 2 ชนิด แล้วนำมาต้มกับน้ำล้างช่องคลอด
    – แก้อาการปวดเอว อาการเคล็ดหรือปวดตามตัว ด้วยการนำกากที่กลั่นเหล้าแล้วหรือต้นสดมาปูนอน
  • สรรพคุณจากหัว
    – ช่วยให้มดลูกของผู้หญิงเข้าอู่ ด้วยการนำหัวมาต้มเพื่อรับประทาน
  • สรรพคุณจากใบ แก้ตุ่มคัน

ประโยชน์ของเพี้ยกระทิง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวไทใหญ่นำใบและยอดอ่อนรับประทานร่วมกับลาบหรือจะใช้ใบและดอกมาลวกทานกับน้ำพริก ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่นำยอดอ่อนและดอกมารับประทานสดหรือนำไปผึ่งแดดให้แห้งแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกและใส่ข้าวเบือน ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำใบเพี้ยกระทิงมาย่างกับไฟอ่อน ๆ แล้วขยี้เป็นแผ่นเล็ก ๆ หรือจะใส่ทั้งใบลงในแกงเพื่อเพิ่มรสขม
2. ป้องกันยุง ใบนำมาขยี้ทาตัวเพื่อป้องกันยุงกัดเวลาเข้าป่าได้

เพี้ยกระทิง เป็นยาสมุนไพรและผักที่สำคัญของชนเผ่าทั้งหลายอย่างไทใหญ่ ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่และชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน ถือเป็นผักที่หาได้ในป่าและยังช่วยกันยุงป่าได้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้หนาว รักษาโรคริดสีดวง รักษาอาการมดลูกอักเสบ เป็นต้นที่สำคัญในการรักษาเกี่ยวกับมดลูกในผู้หญิงของชนเผ่าทั้งหลาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เพี้ยกระทิง”. หน้า 108.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เพี้ยกระทิง, สะเลียมดง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [08 พ.ย. 2014].