กลึงกล่อม อาหารยอดนิยมของสัตว์ป่า ช่วยแก้ไข้ ดับพิษ ต้านไวรัส HIV
กลึงกล่อม ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสุกเป็นสีแดงเข้ม ยอดอ่อนและผลอ่อนรับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก

กลึงกล่อม

กลึงกล่อม (Polyalthia suberosa) มีผลสุกเป็นสีแดงเข้มไปจนถึงสีม่วงดำทำให้ดูน่าทานเมื่อเห็นไกล ๆ และเป็นอาหารยอดนิยมของสัตว์ป่าทั่วไป ในส่วนของอาหารสำหรับมนุษย์นั้นจะนำยอดอ่อนและผลอ่อนมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก เป็นอาหารยอดนิยมของชาวล้านนา ส่วนของยาสมุนไพรจะนำใบและกิ่ง รากและเนื้อไม้มาใช้ กลึงกล่อมเป็นต้นที่เติบโตช้า ชอบน้ำปานกลางและแสงแดดน้อยแต่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกลึงกล่อม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyalthia suberosa (Roxb.) Thwaites
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักจ้ำ มะจ้ำ” ภาคใต้เรียกว่า “จิงกล่อม” ภาคใต้และจังหวัดปัตตานีเรียกว่า “น้ำนอง” จังหวัดเลยเรียกว่า “น้ำน้อย” จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกว่า “ไคร้น้ำ” จังหวัดนครสวรรค์เรียกว่า “กำจาย” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “กระทุ่มกลอง กระทุ่มคลอง กลึงกล่อม ชั่งกลอง ท้องคลอง” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “ช่องกลอง” จังหวัดอ่างทองเรียกว่า “มงจาม”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)

ลักษณะของกลึงกล่อม

กลึงกล่อม เป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซียและฟิลิปปินส์ มักจะพบขึ้นตามที่โล่งซึ่งเป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ตามป่าเปิด ป่าเบญจพรรณ พื้นที่โล่งบริเวณชายป่า ตามพื้นที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมเป็นครั้งคราวหรือตามฝั่งแม่น้ำลำคลอง
ต้น : แตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ตามกิ่งแก่มีขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลเข้ม ผิวเปลือกมักจะย่นเป็นสันนูนขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยง ตามกิ่งก้านมีช่องระบายอากาศเป็นตุ่มสีขาวหรือสีเทาอมชมพูขนาดเล็กกระจัดกระจายทั่วไป
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรียาว รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้น โคนใบสอบและเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบแต่ย่นเป็นคลื่นหรือม้วนงอขึ้นเล็กน้อย หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยงเป็นมันหรืออาจมีขนสั้น ท้องใบมีสีเขียวนวล เส้นแขนงใบมีข้างละ 7 – 8 เส้น ใบแห้งด้านบนเป็นสีเทา ส่วนด้านล่างเป็นสีน้ำตาลอ่อน
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวโดยจะออกตามกิ่ง ออกตรงข้ามหรือเยื้องกับใบใกล้ปลายยอดหรือออกเหนือง่ามใบเล็กน้อย ดอกมีกลิ่นหอม เป็นสีเหลืองห้อยลง มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ ด้านนอกมีขน กลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมน้ำตาล มี 6 กลีบ กลีบดอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกจะมี 3 กลีบ มีขนาดเล็กสั้นกว่ากลีบดอกชั้นในและกลีบดอกชั้นในมี 3 กลีบ ใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นนอก กลีบด้านนอกมีขนขึ้นประปราย มีเกสรเพศผู้ขนาดเล็กจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม ก้านชูดอกมีสีแดงเป็นลักษณะเรียวยาว มีใบประดับเล็ก ๆ ติดอยู่ใกล้โคนก้าน
ผล : ออกผลเป็นกลุ่มจำนวนมากประมาณ 25 – 35 ผลย่อยต่อกลุ่ม มีหลายผลอยู่บนแกนตุ้มกลาง ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปวงรีหรือกลม เป็นผลสดและมีเนื้อ ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มไปจนถึงสีม่วงดำ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดเดียวต่อ 1 ผลย่อยหรือบางผลอาจมีเมล็ด 2 เมล็ด เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปวงรีสีน้ำตาล

สรรพคุณของกลึงกล่อม

  • สรรพคุณจากรากและเนื้อไม้ เป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาขับพิษ ขับพิษภายใน แก้น้ำเหลือง
  • สรรพคุณจากใบและกิ่ง มีสาร suberosol ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคเอดส์ (HIV) ในหลอดทดลอง

ประโยชน์ของกลึงกล่อม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและผลอ่อนนำมาทานเป็นผักสดหรือนำไปต้มเพื่อทานร่วมกับน้ำพริก ชาวล้านนานิยมนำผักกลึงกล่อมมาเป็นส่วนผสมของอาหารประเภทส้าหรือผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือลาบ
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ความร่มเงาทั่วไปสำหรับบ้านขนาดเล็ก ช่วยบังแดด ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าปรับอากาศ
3. เป็นอาหารสัตว์ ผลสุกเป็นอาหารนกและสัตว์ป่า

กลึงกล่อม เป็นต้นที่นิยมนำมารับประทานทั้งมนุษย์และสัตว์ อีกทั้งยังเป็นไม้ปลูกประดับในบ้านที่ช่วยในเรื่องของการบังแดดได้ดี นิยมเป็นอาหารประเภทส้าของชาวล้านนา กลึงกล่อมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและเนื้อไม้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้ไข้ ช่วยดับพิษ แก้น้ำเหลืองและต้านเชื้อโรคเอดส์ (HIV) ได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กลึงกล่อม (Klueng Klom)”. หน้า 39.
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กลึงกล่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [23 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กลึงกล่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [23 มิ.ย. 2015].
พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “กลึงกล่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [23 มิ.ย. 2015].
เว็บไซต์ท่องไทยแลนด์ดอทคอม. “กลึงกล่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thongthailand.com. [23 มิ.ย. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “น้ำนอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [23 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/