ลำพูป่า อาหารของชาวลัวะและกะเหรี่ยงแดง สมุนไพรของชาวเขาเผ่าอีก้อและกะเหรี่ยงเชียงใหม่
ลำพูป่า ไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกบานกลางคืน ดอกมีน้ำหวาน ยอดอ่อนและดอกอ่อนจิ้มกับน้ำพริกได้

ลำพูป่า

ลำพูป่า (Duabanga grandiflora) เป็นต้นที่ดอกมีน้ำหวานจึงสามารถนำมารับประทานได้ นอกจากนั้นยังสามารถนำยอดอ่อนและดอกอ่อนมารับประทานในรูปแบบผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้ เป็นอาหารของชาวลัวะและชาวกะเหรี่ยงแดง เป็นต้นที่มักจะพบตามป่าริมน้ำและนิยมปลูกเป็นไม้บุกเบิกซึ่งเหมาะสำหรับใช้ปลูกเพื่อการฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร ในด้านของยาสมุนไพรถือเป็นต้นยอดนิยมของชาวเขาเผ่าอีก้อและชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่ ภายนอกนั้นลำพูป่าอาจจะไม่ได้สวยโดดเด่นแต่เป็นต้นที่ชาวเขาและชาวกะเหรี่ยงนิยมกันอย่างมาก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของลำพูป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Duabanga grandiflora (DC.) Walp.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “เต๋น ตุ้มเต๋น ตุ้มบก ตุ้มลาง ตุ้มอ้า ลาง ลูกลาง ลูกลางอ้า” ภาคใต้เรียกว่า “ตะกาย โปรง ลำพูป่า” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “กาลา คอเหนียง” จังหวัดแพร่เรียกว่า “สะบันงาช้าง” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “กระดังงาป่า” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “ตะกูกา” จังหวัดปราจีนบุรีเรียกว่า “ลิ้นควาย” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “หงอกไก่” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ขาเขียด” จังหวัดระนองเรียกว่า “ลำพูขี้แมว” จังหวัดตรังเรียกว่า “ลำแพน” จังหวัดยะลาเรียกว่า “ลำแพนเขา” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ลำพูควน” ชาวมลายูยะลาเรียกว่า “บ่อแมะ” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “บะกูแม” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “กู โก๊ะ ซังกะ เส่ทีดึ๊” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ซิกุ๊” ชาวกะเหรี่ยงกำแพงเพชรเรียกว่า “โก” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “ซ่อกวาเหมาะ” ชาวชองจันทบุรีเรียกว่า “กาปลอง” ชาวขมุเรียกว่า “เตื้อเร่อะ” ไทลื้อเรียกว่า “ไม้เต๋น” ชาวลัวะเรียกว่า “ลำคุบ ไม้เต้น” ชาวม้งเรียกว่า “ซือลาง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตะแบก (LYTHRACEAE)
ชื่อพ้อง : Duabanga sonneratioides Buch.-Ham., Lagerstroemia grandiflora Roxb. ex DC., Leptospartion grandiflora Griff., Leptospartion grandiflorum (Roxb. ex DC.) Griff.

ลักษณะของลำพูป่า

ลำพูป่า เป็นไม้ยืนต้นโตเร็วผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่พบในประเทศอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ในประเทศไทยมักจะพบขึ้นตามป่าริมน้ำ ริมลำธารหรือลำห้วยทั่วไปทางภาคเหนือและภาคใต้ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้นและป่าดิบเขาต่ำ
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปทรงกลมหรือทรงกระบอก กิ่งใหญ่จะตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งห้อยลู่ลง
เปลือก : เปลือกเป็นสีเทาสะเก็ดหรือตกเป็นแผ่นไม่เป็นระเบียบ เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดงคล้ำ กระพี้เป็นสีน้ำตาลปนเหลือง ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม สีเหลืองและเกลี้ยง บิดไปมาระหว่างคู่ใบ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานถึงรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปติ่งหู ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบมีนวลหรือเป็นคราบขาว เส้นแขนงใบมีประมาณ 14 – 20 คู่ มีเส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได สามารถมองเห็นได้ชัดทางด้านท้องใบ ก้านใบเป็นสีเขียวเข้มลักษณะอวบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นโดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมากประมาณ 15 – 30 ดอก ลักษณะห้อยลง ดอกจะบานในช่วงเวลากลางคืนถึงช่วงเช้าแล้วจะหุบในช่วงกลางวัน เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีสีขาวขนาดใหญ่ กลีบเลี้ยงดอกเป็นรูปถ้วย ปลายแยกออกเป็นแฉก 6 – 7 แฉก กลีบดอกมี 6 – 7 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก อับเรณูสีเหลืองอมน้ำตาล ยอดเกสรเพศเมียเป็นสีเขียว ก่อนออกดอกจะทิ้งใบหมดแล้วจะผลิใบใหม่ทันทีพร้อมกับเริ่มผลิดอก มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ผล : เป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมทรงกลม รูปไข่กว้างหรือรูปกลมแป้นลักษณะแป้นรูปตลับ ผลเป็นสีเขียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ จะแตกอ้าออกตรงกลางพูเป็นเสี่ยง ๆ ที่ฐานมีชั้นกลีบเลี้ยงรูปดาวรองรับ กลีบเลี้ยงติดคงทน ออกผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมและผลจะแก่เต็มที่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมากประมาณ 6 – 7 เมล็ด ลักษณะเป็นรูปเส้นยาวมีหาง

สรรพคุณของลำพูป่า

  • สรรพคุณจากเมล็ด
    – แก้ปวดท้อง แก้โรคกระเพาะอาหาร รักษาอาหารไม่ย่อย แก้อาหารเป็นพิษ ชาวเขาเผ่าอีก้อนำเมล็ดมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น
    – แก้อาการปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุ ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่ให้คนเฒ่าคนแก่ที่มีคาถาอาคมติดตัวเก็บเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากกิ่งและต้น
    – แก้อาการช้ำใน ด้วยการนำกิ่งและต้นมาสับเป็นชิ้นเล็กแล้วต้มกับน้ำเพื่อดื่ม
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้เมื่อยเคล็ดตามข้อกระดูก
    – แก้อุจจาระติดโลหิตสด ๆ โลหิตช้ำ ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วกินเป็นยา

ประโยชน์ของลำพูป่า

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกมีน้ำหวานจึงนำมาทานได้ ยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาทานเป็นผักสดหรือลวกเป็นผักจิ้ม ชาวลัวะนำกลีบเลี้ยงหรือผลมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก ชาวกะเหรี่ยงแดงนำผลอ่อนมาเผาไฟทานจิ้มกับน้ำพริก
2. ใช้ในการเกษตร นิยมใช้ปลูกเป็นไม้บุกเบิกซึ่งเหมาะสำหรับปลูกเพื่อการฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร
3. ใช้ในอุตสาหกรรม นิยมนำมาก่อสร้างบ้านเรือน ทำฝา พื้นบ้าน ทำเรือ ไม้พายเรือ ทำลังใส่ของ หีบศพ ทำไส้ไม้อัด กล่องไม้ขีด ก้านร่ม ทำแบบหล่อคอนกรีต ใช้เป็นส่วนประกอบของร่มกระดาษ

ลำพูป่า เป็นต้นที่มีชื่อเรียกมากมายตามแต่ละจังหวัดหลากหลายชื่อมาก สามารถนำส่วนต่าง ๆ มารับประทานได้ นิยมสำหรับชาวเขาและชาวกะเหรี่ยงในการรับประทานเป็นผักและเป็นยาสมุนไพร ลำพูป่ามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนจากเมล็ด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ปวดท้อง รักษาโรคกระเพาะอาหาร แก้อาหารเป็นพิษและแก้อาการช้ำใน ถือเป็นต้นที่ดีต่อระบบย่อยอาหารเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ลำพูป่า”. หน้า 97.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ลำพูป่า, ตุ้มเต๋น”. [ออนไลน์]. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [26 ต.ค. 2014].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ลำพูป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [26 ต.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตุ้มเต๋น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [26 ต.ค. 2014].