ระย่อมหลวง
ต้นระย่อมหลวง มีถิ่นกำเนิดในเขตการกระจายพันธุ์ที่ค่อนข้างแคบ โดยสามารถพบได้ในแถบประเทศเวียดนามและกัมพูชาประเทศไทยสามารถพบกระจายได้ห่าง ๆ กันทั่วทุกภาคของประเทศ ยกเว้นทางภาคใต้ โดยจะสามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงประมาณ 800 เมตร จะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ชื่อวิทยาศาสตร์ Rauvolfia cambodiana Pierre ex Pit. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ ระย่อม (จังหวัดตราด), นางแย้ม (จังหวัดนครราชสีมา), ขะย่อมตีนหมา ขะย่อมหลวง (ภาคเหนือ), ย่อมตีนหมา (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ระย่อมใหญ่ ขะย่อมหลวง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของต้นระย่อมหลวง
- ต้น
– เป็นพันธุ์ไม้ประเภทพุ่ม
– ต้นมีความสูง: ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 0.3-1 เมตร และอาจจะมีความสูงได้ถึง 2 เมตร
– ลักษณะของลำต้น: ลำต้นมีลักษณะค่อนข้างเล็ก โดยจะเห็นได้ชัดตรงความสูงของลำต้น
– ลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ภายในมีน้ำยางสีขาว
– ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด - ใบ
– ใบเป็นใบเดี่ยว โดยใบจะออกเรียงกันบริเวณรอบข้อ ข้อละ 3 ใบ
– รูปร่างของใบจะเป็นรูปขอบขนาน รูปวงรีแกมรูปใบหอก รูปวงรี หรือรูปหอกกลับ ปลายใบและโคนใบมีความเรียวแหลมหรืออาจมีรูปร่างเป็นหางยาว ส่วนปลายสุดของใบนั้นจะแหลมหรือบางใบก็จะมน
– แผ่นใบผิวจะบาง และใบมีเส้นใบอยู่ประมาณ 12-25 คู่ [1],[2],[3]
– ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 12-30 เซนติเมตร
– ก้านใบมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร - ดอก
– ออกดอกในลักษณะที่เป็นช่อกระจุก โดยจะออกดอกเดี่ยวตามซอกใบบริเวณที่ปลายกิ่ง
– ช่อดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 4-10 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยงไม่มีขน และก้านดอกย่อยมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2.8-6.5 มิลลิเมตร
– กลีบเลี้ยงมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกจะมีรูปร่างเป็นรูปเข็ม กลีบดอกมีสีเป็นสีขาว ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะรูปร่างของกลีบจะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ปลายมน มีขนาดความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ตรงโคนกลีบดอกมีรูปร่างเป็นหลอดมีสีม่วงหรือแดง มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ภายในมีขนรอบปากหลอดกลีบดอกและอีกจุดที่ใต้เกสรเพศผู้
– เมื่อดอกยังตูมอยู่กลีบดอกจะบิดไปเป็นเกลียว ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน ติดอยู่ด้านในกึ่งกลางหลอดหรือเหนือกว่าเล็กน้อย ก้านเกสรมีขนาดสั้นมาก โดยวัดความยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร
– อับเรณูมีความยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ตรงปลายเป็นติ่งแหลม จานรองดอกมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 5-8 มิลลิเมตร
– รังไข่มีอยู่ 2 ช่อง แยกออกจากกัน มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 2 มิลลิเมตร ท่อเกสรเพศเมียจะมีลักษณะเรียวเล็ก มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร รวมกับปลายเกสรเพศเมีย[1],[2],[3] - ผล
– ผล มีลักษณะเป็นผลแฝดแต่ไม่ติดกันเป็นผลสด ผลมีความฉ่ำน้ำมาก
– ลักษณะรูปร่างของผลเป็นรูปรีหรือรูปไข่ หัวและท้ายของผลแหลม
– ผลอ่อนมีสีเป็นสีเขียว แต่เมื่อผลแก่แล้วจะเปลี่ยนสีเป็นสีเลือดหมูหรือสีเทาดำ
– ผลมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 5-6 มิลลิเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 8-11 มิลลิเมตร - เมล็ด
– มีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรูปร่างเป็นรูปขอบขนาน โดยจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร[1],[2],[3]
สรรพคุณของต้นระย่อมหลวง
1. ตำรายาพื้นบ้านจะนำรากมาทำเป็นยาสำหรับใช้แก้ไข้ (ราก)[1],[2]
2. ราก มีสารอัลคาลอยด์อยู่หลากหลายชนิด จึงนำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับบำรุงประสาท [2]
3. ต้น มีฤทธิ์ที่ช่วยทำให้นอนหลับ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
4. ต้น ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ระ ย่อม หลวง”. หน้า 176.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ขะย่อมหลวง”. หน้า 100-101.
3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ระ ย่อม หลวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [28 ต.ค. 2014].
4. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ระย่อมหลวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaibiodiversity.org. [28 ต.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. http://www.epharmacognosy.com/